อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ความเหนื่อยล้า และร่างกายที่อ่อนแอลง ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายต้องทำงานอย่างหนัก แม่ก็อาจจะมีน้ำมูก ระคายคอ มีเสมหะ หรือเป็นหวัดได้ ถ้าหาก แม่ให้นมลูกเป็นหวัด สามารถทานยาเพื่อบรรเทาอาการได้หรือไม่ จะตกค้างในน้ำนม หรือส่งผลต่อลูกหรือเปล่า จะทำให้ลูกติดหวัดหรือไม่ บทความนี้มีคำตอบ
แม่ให้นมลูกเป็นหวัด ทานยาได้ไหม
คุณหมอจากเพจ เลี้ยงลูกโตไปด้วยกันกับหมออร ได้อธิบายไว้ว่า ยาส่วนใหญ่ที่แม่กินเข้าไป จะขับออกทางน้ำนมน้อยมาก ไม่ถึง 1 % ของปริมาณยาที่แม่ได้รับ มีเพียงไม่กี่ชนิดที่อันตราย และเป็นข้อห้าม เช่น ยาต้านมะเร็ง คลอแรมเฟนนิคอล ซึ่งล้วนเป็นยาที่แทบไม่มีโอกาสได้ใช้ทั้งสิ้น แน่นอนว่ายาพื้น ๆ ยาสามัญประจำบ้านที่คนส่วนใหญ่ใช้กัน เช่น ยาลดไข้ ยาแก้หวัด ยาแก้ไอ แม่ให้นมลูก ก็สามารถกินได้ โดยไม่มีผลต่อเด็ก
ถ้าแม่ให้นมป่วย ควรดูแลตัวเองอย่างไร
- มีน้ำมูก แนะนำให้ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น ดื่มน้ำ และพักผ่อนเยอะ ๆ ถ้าหากมีน้ำมูกมาก ยาลดน้ำมูก หรือยาแก้แพ้ ที่แม่ให้นมสามารถกินได้ ได้แก่ คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) เซทิริซีน (Cetirizine) และ ลอราทาดีน (Loratadine) สำหรับยาลดน้ำมูก CPM คุณหมอไม่แนะนำให้ใช้ในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด เพราะมีผลต่อการสร้างน้ำนม ทำให้น้ำนมไหลน้อย หากจำเป็นต้องกิน แนะนำให้ทานในปริมาณที่มีมิลลิกรัมต่ำ ประมาณ 2 – 4 มิลลิกรัมต่อวัน และใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ ในกรณีที่ต้องทานต่อเนื่อง ให้ทานเซทิริซีน (Cetirizine) หรือ ลอราทาดีน (Loratadine) แทนจะดีกว่า แม้ว่ายาทั้งสองชนิดนี้จะไม่ได้มีผลในการลดน้ำมูกโดยตรง แต่ก็ช่วยแก้อาการแพ้ รวมถึงบรรเทาอาการหวัดแม่ท้องได้ ผลข้างเคียงคือ ทำให้เกิดความง่วง ซึม ถ้าหากคุณแม่ป่วย ก็ควรแยกกันนอนกับลูก
- มีอาการไอ และเจ็บคอ แนะนำให้จิบน้ำผึ้งผสมมะนาว ใส่เกลือเล็กน้อย เพื่อให้ชุ่มคอ หรือใช้ยาพ่น บรรเทาอาการเจ็บคอ เช่น คามิโลซาน (Kamillosan) ยาแก้ไอ หรือยาละลายเสมหะ ที่แม่ให้นมสามารถกินได้ ได้แก่ บรอมเฮกซีน (Bromhexine) คาร์โบซีสเทอีน (Carbocysteine)
- มีอาการคันคอ ให้คุณแม่กลั้วคอด้วยน้ำเกลือเรื่อย ๆ ตลอดวัน
นอกจากนี้ คุณแม่ก็สามารถทานยาแก้ปวด แก้อักเสบอย่าง ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) อะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) พาราเซตามอล (Paracetamol) รวมถึงยาอม และยาแก้ไอได้ แต่ควรระวังยาแก้ไอที่มีสารเมนทอลมากเกินไป เพราะจะทำให้ร่างกายผลิตน้ำนมออกมาได้น้อย ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ยาโครโมลินโซเดียม (Cromolyn Sodium) ยาหยอดตา และยาไกวเฟนิซิน (Guaifenesin) ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน
ยาที่แม่ไม่ควรใช้ เพราะส่งผลต่อลูกทารก และน้ำนม
- ยานาพรอกเซน (Naproxen) มีผลต่อทางเดินอาหารของทารก ระบบหัวใจ และหลอดเลือด คุณแม่ควรทานยานี้ ก็ต่อเมื่อยาแก้ปวดชนิดอื่น ๆ ใช้ไม่ได้ผลเท่านั้น
- ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) สามารถเข้าไปอยู่ในกระแสเลือด และเข้าไปอยู่ในน้ำนมแม่ได้ ส่งผลต่อลูก ทารกอาจมีอาการง่วงได้ ยาลอราทาดีน (Loratadine) และยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines) กลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วงนอน ถือเป็นทางเลือกที่ดีกว่า หากต้องทานยารักษาอาการแพ้
- ยาโคเดอีน (Codeine) สามารถใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ ได้ แต่อาจส่งผลให้ลูกท้องผูก หรือมีอาการโคลิกได้ หากไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ควรหลีกเลี่ยงจะดีกว่า
ยาที่แม่ไม่ควรใช้ระหว่างให้นมบุตร
แอสไพริน (Aspirin) เป็นยาที่คุณแม่ไม่ควรใช้ เพราะตัวยาสามารถเข้าไปอยู่ในน้ำนมได้ ส่งผลให้เกิดกลุ่มอาการราย (Reye’s syndrome) ในเด็ก ทำให้สมอง และตับเกิดความเสียหาย และอาจทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับเลือดตามมาอีกด้วย
หากแม่เป็นหวัด ควรให้นมลูกหรือไม่
ถ้าคุณแม่เพียงแค่เป็นหวัด น้ำมูกไหล หรือมีอาการท้องเสีย ก็สามารถให้นมลูกต่อได้ เพราะเชื้อโรคไม่ส่งผ่านไปสู่ลูกทางน้ำนม อีกทั้งการได้รับน้ำนมแม่อย่างต่อเนื่อง ก็เท่ากับลูกได้รับภูมิคุ้มกันไปด้วย ทำให้บางครั้งลูกน้อยทารกเป็นคนเดียวในบ้าน ที่ไม่ติดหวัดจากแม่ก็เป็นได้ ขณะให้นม แม่อาจจะใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกติดหวัดขณะเอาลูกเข้าเต้า
รับมือกับอาการหวัดครั้งแรกของลูก
แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะดูแลลูกอย่างดีที่สุดแล้ว ลูกได้ดื่มนมแม่ และมีภูมิคุ้มกันอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ดี ลูกก็อาจต้องมีอาการหวัดครั้งแรก ซึ่งอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลไม่น้อย เพราะยังไม่รู้ว่า จะรับมือกับความเจ็บป่วยครั้งแรกนี้อย่างไร และไม่แน่ใจว่าลูกเป็นหวัดธรรมดา หรือว่าร้ายแรงกว่านั้น ยิ่งในช่วงเวลาที่มีโรคระบาดอย่างโควิด 19 ก็ยิ่งเป็นกังวล
1 ใน 3 ของเด็กทารกที่เป็นไข้หวัด ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ หากแต่ไม่ใช่ทุก ๆ อาการ ที่จะรุนแรง จนต้องเป็นกังวล เพราะระบบภูมิคุ้มกันของทารกก็กำลังก่อร้างสร้างตัวเองให้แข็งแรง พร้อมรับมือกับเชื้อโรคอื่น ๆ ในอนาคต ในช่วงเวลาที่ลูกป่วย มีข้อแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อดูแลในยามที่ลูกต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยเป็นครั้งแรกในชีวิต
-
ใกล้ชิดกับลูกมากขึ้น
แน่นอนว่า คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลลูกอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดความเหนื่อยล้ามาก พ่อแม่อาจพาลูกออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์บ้าง จะทำให้ลูกรู้สึกสบายมากขึ้น และพ่อแม่ก็ได้ผ่อนคลายจากการดูแลลูกในยามนี้ด้วย
-
โอบกอด และสังเกตอาการยามลูกหลับ
แม้แต่ในยามหลับ ความกังวลใจก็ยังไม่หายไป ลูกหายใจผิดปกติหรือไม่ มีอาการกระสับกระส่าย หรือตัวร้อนขึ้นหรือเปล่า คุณแม่ลูกสอง Da Silva ชาวแคนาดา ซึ่งมีประสบการณ์การรับมือกับอาการป่วยของลูกเป็นครั้งแรกนั้น กล่าวว่า เธอนอนอยู่ข้าง ๆ และโอบกอดพวกเขาไว้ในอ้อมอก เพื่อให้มั่นใจว่าลูกสามารถนอนหลับได้อย่างเป็นปกติ และหายใจได้สะดวก
-
ดื่มน้ำบ่อย ๆ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
ไม่ว่าจะในยามปกติ หรือเวลาที่ไม่สบาย การดื่มน้ำ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ก็จำเป็นสำหรับลูกน้อย หากแต่ยิ่งรู้สึกไม่สบายตัว ลูกอาจจะไม่ยอมดื่ม ไม่ยอมทาน คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามอย่าให้ลูกขาดน้ำ ดื่มน้ำบ่อย ๆ และทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมถึงตัวคุณพ่อคุณแม่เองด้วย คุณแม่ชาวแคนาดาคนเดิมกล่าวว่า เธอชงน้ำขิงดื่มสำหรับตัวเอง ทานอาหารมากกว่าเดิม และต้มซุปไว้สำหรับป้อนลูกน้อยด้วย แม่สามารถดูเมนูต้านหวัด สำหรับลูกน้อยก็ได้
เมื่อลูกต้องพบกับความเจ็บป่วยเป็นครั้งแรก พ่อแม่อาจจะเหนื่อยล้าจากการดูแลลูกมากกว่าเดิม หนึ่งในสิ่งสำคัญของการรับมือกับอาการป่วยของลูกนั้น คือการดูแลตัวเอง พร้อม ๆ กับสังเกตอาการลูกไปด้วย อุณหภูมิร่างกายของลูกสูง หรือต่ำไปจากปกติหรือไม่ ลูกจามถี่เกินไป มีน้ำมูกมาก หรือตัวสั่น งอแงกว่าปกติ คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ใกล้ชิดกับลูกมากที่สุด ย่อมสัมผัสถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ หากเป็นเช่นนี้ ก็ควรพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการโดยเร็ว
ที่มา : facebook , orami, todaysparent.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ให้นมลูกอยู่แต่น้ำนมไหลน้อยลง ผิดปกติไหม แม่ให้นมต้องทำยังไง
เสื้อในให้นมควรเริ่มใส่เมื่อไหร่ ต้องเลือกแบบไหนที่ใส่แล้วดี นมไม่หยาน
ลูกกัดหัวนมแม่เป็นแผลต้องทำยังไง วิธีไหนที่ช่วยให้นมลูกได้อย่างราบรื่น