ลมหายใจ ผ่อนคลาย สลายอารมณ์ “โกรธ”
ฝึกไว้ไม่เสียหาย ดีกับทั้งพ่อ แม่ ลูก
ยิ่งลูกโต ยิ่งมีเรื่องอะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง บางครั้งก็ทำให้เราโกรธเอาง่าย ๆ การฝึกจิตให้นิ่ง กำหนด ลมหายใจ ผ่อนคลาย จะทำให้เราไม่โกรธลูกได้
และจะดีแค่ไหน ถ้าลูกของเราจะสามารถรับมือกับอารมณ์โกรธที่เกิดขึ้น โดยไม่แสดงความรุนแรงโต้ตอบกลับ เหมือนในเวลาที่ตีปิงปองไปมา ซึ่งมีแนวโน้มที่จะแรงขึ้น..แรงขึ้น จนเมื่อระเบิดสุดๆแล้วก็กลายเป็น “ท่ากระโดดตบ” สุดรุนแรงในที่สุด
วันนี้เราจะมาลองทบทวนลมหายใจของเรากัน ทั้งคุณแม่ คุณพ่อ และ ลูก เริ่มกันเลยค่ะ
การทบทวนลมหายใจ รู้เท่าทันอารมณ์นั้น คือ การที่เราไม่เก็บเอาความโกรธ ที่ได้รับกลับไปสร้างอึดอัดคับแน่นอยู่ในอก..จนกลายไปเป็นตะกอนความทุกข์ไว้ในหัวใจ แล้วอาจส่งผลกับการเกิดเป็นโรคทางกายตามมาอีกมากมายในที่สุด
ร่างกายได้ให้เครื่องมือกับมนุษย์เรามา เพียงแต่ว่าเราจะรู้เท่า..รู้ทัน..รู้ทั่ว..รู้ถึง ตนเองได้มากน้อยเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก..หรือผู้ใหญ่ (ในร่างเด็ก) ต่างก็ต้อง “ฝึกฝืน” ก่อนที่จะ “ฝึกฝน” ทั้งสิ้น
การกลับมาทำความเข้าใจว่า ความโกรธมีผลอย่างไรต่อเรา? การไม่โกรธจะทำอย่างไร? การกลับมาหายใจให้เป็นทำให้เราเป็นสุขได้จริงหรือ ? เราลองมาทบทวนจากคำกล่าวของพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ ที่กล่าวถึงการหายใจขณะที่มีอารมณ์โกรธดูสักนิดนะคะ
“เมื่อเราเกิดอารมณ์รุนแรง เพราะเมื่อใครสักคนเข้ามาพูดไม่ดีกับเธอ และ เธอโกรธมาก อย่าเพิ่งพูด อย่าเพิ่งแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ในขณะที่โกรธ แต่ขอให้กลับสู่ลมหายใจ เวลาโกรธนั้นเหมือนบ้านกำลังโดนไฟไหม้ เมื่อไฟไหม้บ้านเราอย่าเพิ่งวิ่งหามือวางเพลิงแต่จะต้องดับไฟที่บ้านเสียก่อน อย่าเพิ่งพูดอะไรออกไป อย่าเพิ่งตอบโต้ ขอให้ใช้เวลานั้นรับรู้ว่าโกรธ เมื่อเราโกรธ การหายใจลึก ๆ ลงไปที่ท้องน้อยช่วยได้มาก เมื่อเรามีอารมณ์รุนแรง พลังงานจะวิ่งขึ้นไปที่หัวสมอง แต่การหายใจลึก ๆ ลงไปที่ท้องคือการดึงพลังงานกลับมาที่กลางลำตัวของเรา หากเราสังเกตต้นไม้ใหญ่ เราจะเห็นว่ายอดไม้คือส่วนที่เปราะบาง หักง่าย ไหวโอนเอน แต่โคนไม้นั้นมั่นคงกว่า และลึกลงไปใต้โคนไม้ก็คือรากที่หยั่งลึกลงไปใต้ผืนดิน เช่นเดียวกัน เราจะพบว่าหากเราตั้งมั่นอยู่กับลมหายใจลึก ๆ ลงสู่ท้องน้อยนี้เพียง 5-10 นาที ความโกรธก็จะค่อย ๆ คลายตัว สงบลง เมื่อความโกรธสงบลง เราจะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น เราอาจจะเริ่มเห็นว่า ทำไมเขา/เธอคนนั้นจึงทำเช่นนั้นกับเรา ทำไมจึงพูดอย่างนั้น ปฏิบัติอย่างนั้น และอาจจะเห็นด้วยว่าทำไมเราจึงโกรธเหลือเกิน เมื่อความโกรธสงบแล้ว เราก็จะสามารถคิดหาคำพูดดี ๆ เพื่อพูดจากับคนนั้น เพื่อแก้ปัญหา หรือทำความเข้าใจต่อกันได้”
การใช้ “ลมหายใจ” มาเป็นเครื่องมือในการดึง “พลังงานลบ” ที่กำลังแล่นขึ้นไปที่ศีรษะให้กลับมาตั้งหลักในจุดที่แข็งแรงที่สุดของร่างกาย เป็นเหตุผลและกลไกทางธรรมชาติ ที่เราไม่เคยได้สังเกตตนเองมากพอเลย เพราะหลายครั้งที่โกรธเราจะบอกตัวเองว่า “หายใจลึก ๆ ” แต่ลึกแบบไหน แบบที่ไม่ได้คิดตาม แบบที่ไม่ได้จัดการกับหัวใจตนเอง ความโกรธนั้นจึงมักจะกลายไปเป็น “ตะกอนขุ่น” ที่นอนก้นรอวันให้ใครมาเขย่า กระแทก กระทบ จนเกิดกระเทือนขึ้นมาจนน้ำที่เคยใส ขุ่นมัว และรอแรงดันอีกนิดเดียวก็จะระเบิดขึ้น หรือถ้าตะกอนถูกสะสมมากพอจนกลายไปเป็นยางเหนียวที่หนาขึ้น หนาขึ้น จนสามารถเข้ามาแทนที่น้ำใส หัวใจของเราก็จะกลายไปเป็นของเสียที่รอวันรักษาในที่สุด
จะดีแค่ไหนที่เรากลับมาเข้าใจ “ลมหายใจ” ของ ตัวเอง เมื่อดึง ลมหายใจ กลับมาสู่ ภาวะสงบแล้ว การกลับมา ทบทวน ถึง เรื่องที่อยู่ตรงหน้า แบบตรงไปตรงมา กับ “ความจริง” คือ เรื่องที่ ต้องฝึกฝนเป็นลำดับต่อไป เพราะเมื่อไหร่ที่เรา “เจ็บปวด” นั่นคือเรา “ไม่ชอบ ไม่พอใจ” และที่จะให้มีความเป็นกลางกับความจริงแท้นั้น ต้องบอกเลยว่า “ยากยิ่ง” เรามักหาเหตุต่าง ๆ นานามาอธิบายความทุกข์ของเราให้ดูน่าเศร้าอยู่เสมอ และเมื่อเรา “ถูก” อีกฝ่ายก็คือ “ผิด” การกลับมารู้เท่า..รู้ทัน..รู้ทั่ว..รู้ถึง ว่าจริง ๆ แล้วคนข้างหน้าเราทำสิ่งนั้น ๆ ไปเพื่ออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร เขามีความทุกข์มากเพียงไหน ให้ได้อย่างว่องไว และรวดเร็วได้เท่าไหร่ การสะสมตะกอนที่นอนก้น หรือของเสียเหล่านั้นก็จะน้อยลง..น้อยลง จนแทบไม่เหลือเก็บอะไรไว้ให้ทุกข์อีกเลย และเราจะพบว่าเมื่อเรา “เมตตาเขาได้มากเท่าไหร่” เราก็ได้กลับมา “เมตตาตัวเองได้มากเท่านั้น”
แล้วเราจะฝึกลูกได้อย่างไร ? ในเมื่อใจเราก็ยังขุ่นมัว และเต็มไปด้วยก้อนทุกข์
การกลับมารู้จักอารมณ์ตนเอง เป็นบทเรียนแรกที่ช่วยให้เราและลูกเข้าใจความทุกข์ เราต้องยอมรับด้วยความจริงของโลกว่า ไม่มีใครในโลกที่เกิดมาแล้วไม่ทุกข์ไม่สุข เมื่อทุกข์-สุขคือสิ่งสากล เป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นเกิดมาเป็นคนเป็นมนุษย์ก็มีความรู้สึกได้ ว่ากำลังโกรธเรื่องอะไร… ว่ากำลังอยากได้อะไร… ว่ากำลังหลงไหลกับบางสิ่งบางอย่างได้.. แต่การกลับมาเข้าใจอารมณ์นั้นเป็นเรื่องที่ต้อง “ฝึกรู้สึก” หมายความว่า เมื่อรู้สึกว่าจะ “โกรธ” แล้วรู้ทันตัวเองว่า โกรธใคร เรื่องอะไร มีที่มาอย่างไร ทำไมต้องโกรธ…เมื่อรู้สึกไปเรื่องๆ การวางโกรธ ก็เป็นเรื่องต่อมาที่เด็กๆจะวางเป็น เพราะสุดท้ายจะพบว่า “โกรธไปทำไม? ไม่มีประโยชน์”
เมื่อฝึกบ่อย ๆ เข้าก็เหมือนนักกีฬาที่มีทักษะดี อารมณ์มาตอนไหน ก็รู้ทันไหวตอนนั้น ฝึกมากก็เข้าใจมาก..ฝึกน้อยก็เข้าใจน้อย ไม่ฝึกเลยก็ไม่รู้ว่า “ฝึกแล้ว…มีดีตรงไหน?” วันนี้ลองมาฝึกรู้ทันกันดีไหมค่ะ ^_^ รู้ทันคนอื่นมามากแล้ว…ลองมาฝึกรู้ทันตัวเองดูสักที ดูซิมีดียังไง จะได้ดับไฟให้ถูกที่ถูกทาง…ก่อนจะลามไปทั่วบ้าน เพราะมัวแต่หาคนวางเพลิงจนลืมดับไฟ *_*!
โดย ครูป๋วย
แหล่งที่มาของบทความ
https://www.peacefulparent.com
บทความอื่น ๆ ที่คุณอาจสนใจ
เด็กผู้หญิงและผู้ชายมีวิธีแก้ปัญหาต่างกัน
https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/06092014-1236