หากคุณผู้หญิงพบว่าตนเองมี ผื่นที่เต้านม ต้องสังเกตให้ดี เพราะหากไม่ใช่ผื่นคันที่ขึ้นมาแล้วหายไป ผื่นที่คุณผู้หญิงเจออาจเป็นหนึ่งในสัญญาณของโรคร้ายอันดับต้น ๆ ของผู้หญิง นั่นคือ “มะเร็งเต้านม” หากคุณผู้หญิงมีความกังวล ลองศึกษาอาการ และความเสี่ยงจากบทความนี้ดู
ทำความรู้จักมะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) เป็นความผิดปกติของเนื้อเยื่อบริเวณเต้านม ส่งผลให้เกิดเชื้อมะเร็งขึ้น ทำให้มีก้อนเนื้อขยายใหญ่ขึ้น หรือมีผื่นบวมแดงขึ้น สามารถสังเกตอาการได้หลายแบบ เชื้อมะเร็งสามารถแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่นได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง หลายคนอาจเข้าใจว่าโรคร้ายนี้พบเจอได้แค่ในผู้หญิงเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ชายก็สามารถเป็นได้เช่นกัน แต่มีความเสี่ยงน้อยกว่าผู้หญิงเท่านั้นเอง
ส่วนมากแล้วเซลล์มะเร็งเต้านมจะพบได้มากในบริเวณของต่อมผลิตน้ำนม (Lobules) และท่อน้ำนม (Ducts) มากกว่าจุดอื่น ๆ สำหรับสาเหตุของมะเร็งเต้านมนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มีพฤติกรรม หรือสภาวะร่างกายบางอย่างที่อาจเพิ่มความเสี่ยงได้ เช่น การไม่เคยมีบุตรเลย, มีอายุที่มากขึ้น, ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือความเสี่ยงของแต่ละเชื้อชาติ เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : มะเร็งมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ สิทธิประกันสังคม และสิทธิบัตรทอง คุ้มครองอะไรได้บ้าง
ผื่นที่เต้านม แบบไหนที่เป็นสัญญาณมะเร็งเต้านม
ผื่นที่ขึ้นบริเวณเต้านม อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ความเสี่ยงมะเร็งเต้านม จะทำให้ผื่นมีความแตกต่างกับผื่นคันอื่น ๆ ให้สังเกตว่าผื่นจะมีลักษณะแดง มีอาการคันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จะรู้สึกร้อน มีอาการบวมและหนา คล้ายคลึงกับเปลือกส้ม สามารถเกิดขึ้นในบริเวณของเต้านม และหัวนม
หากคุณผู้หญิงเคยไปรักษากับแพทย์ผิวหนังแล้ว จะพบว่าหลังจากรักษาลักษณะของแผลจะไม่หายขาด อาจเกิดจากเซลล์มะเร็งลามขึ้นมาที่ผิวหนังด้านบน หากคุณผู้หญิงพบว่าตนเองมีลักษณะอาการของผื่นตามที่กล่าวมานี้ อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งเต้านมได้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโดยทันที
วิดีโอจาก : Bangkok Hospital Pattaya
ผื่นเต้านมแบบไหน ไม่เสี่ยงมะเร็ง
นอกจากผื่นที่มีอาการคัน แล้วสามารถหายไปได้เองแล้ว ยังมีผื่นลักษณะอื่นด้วย ตัวอย่างเช่น ผื่นที่มีลักษณะพอง หรือเป็นตุ่มเล็ก ๆ ใส ๆ อาจบ่งบอกถึงความเสี่ยงโรคอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น โรคอีสุกอีใส, ภูมิแพ้บริเวณผิวหนัง, งูสวัด หรือผิวหนังอักเสบ เป็นต้น
นอกจากผื่นที่เต้านมแล้ว ก้อนที่ขึ้นบริเวณเต้านมอาจเป็นก้อนของถุงน้ำ หรือที่เรียกว่า “ซีสต์” โดยอาการของซีสต์จะขยายใหญ่ขึ้นตามจำนวนของฮอร์โมน ดังนั้นเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ฮอร์โมนจะเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้ถุงน้ำซีสต์ขยายใหญ่ขึ้น จนทำให้คุณแม่เข้าใจผิดคิดว่าเป็นก้อนเนื้อมะเร็งนั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : คลำด่วน! ก้อนที่เต้านมระหว่างตั้งครรภ์ ก้อนเนื้อที่นม อันตรายแค่ไหน
นอกจากผื่นแล้วยังมีอาการอื่นที่สังเกตได้
นอกจากอาการผื่นตามที่เราได้กล่าวไปนั้น คุณผู้หญิงอาจสังเกตอาการอื่นร่วมด้วยได้เช่นกัน หากมีอาการเหล่านี้แม้ไม่มีอาการผื่น ก็ยังถือว่ามีความเสี่ยงอยู่ ได้แก่
- คลำพบก้อนเนื้อบริเวณเต้านม หรือใต้รักแร้ ก้อนที่คลำเจออาจเจ็บ หรือไม่เจ็บก็ได้ โดยการตรวจด้วยตนเองนั้น คุณผู้หญิงควรทำเป็นประจำทุกเดือน เพราะสามารถทำได้ง่าย และเป็นการตรวจด้วยตนเองแบบเบื้องต้น ควรตรวจหลังจากหายจากประจำเดือนไปแล้ว 1 สัปดาห์
- เต้านมอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ความจริงแล้วลักษณะของเต้านมทั้ง 2 ข้าง อาจมีความแตกต่างกันบ้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สำหรับตัวคุณผู้หญิงอาจรู้ตัวอยู่แล้ว การหมั่นสังเกตว่าเต้านมทั้ง 2 เปลี่ยนไปมากกว่าปกติ ก็เป็นสัญญาณของมะเร็งร้ายเช่นกัน
- มีอาการเจ็บบริเวณของเต้านม สังเกตจากช่วงที่ไม่มีประจำเดือน หากมีอาการเจ็บ ร่วมกับอาการอื่น ๆ ถือว่ามีความเสี่ยงเช่นกัน
- เต้านมมีลักษณะบุ๋มลงไป จากที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นสัญญาณของเซลล์มะเร็งที่อาจลุกลามมาถึงบริเวณชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง
- มีน้ำเหลือง หรือน้ำสีคล้ายเลือดไหลออกมาจากเต้านมเอง โดยส่วนมากอาการของมะเร็งเต้านม ของเหลวนี้จะไหลออกเพียงข้างเดียวเท่านั้น
เป็นมะเร็งเต้านมต้องยุติการตั้งครรภ์หรือไม่
ในประเทศไทยยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นมะเร็งเต้านมต้องยุติการตั้งครรภ์แต่อย่างใด หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก ๆ จะสามารถรักษาได้ง่ายด้วยการผ่าตัด หากตรวจพบในระยะที่ไม่สามารถรักษาได้ ควรรอให้ทารกในครรภ์มีอวัยวะแข็งแรงสมบูรณ์ก่อน หรือผ่านสู่ช่วงไตรมาสที่สาม
โดยส่วนมากหากผ่าตัดแล้วต้องรักษาต่อด้วยเคมีบำบัด แพทย์มักแนะนำให้ทำการผ่าตัดก่อน และรอจนกว่าจะคลอดทารก จึงรักษาในขั้นต่อ ๆ ไปได้ เพื่อความปลอดภัยของทารกน้อยเอง
คุณแม่ให้นม สามารถให้นมลูกต่อได้ไหม ?
หากคุณแม่เข้ารับการตรวจวินิจฉัย และได้ข้อสรุปว่าเป็นมะเร็งเต้านม แต่คุณแม่อยู่ในช่วงที่ยังต้องให้นมลูก โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกของทารก ในเลือดของคุณแม่จะมีการกระจายของเชื้อมะเร็งอยู่ ดังนั้นคุณแม่จึงควรหยุดให้นมลูกไปก่อน นอกจากนี้การให้นมลูกจะทำให้การกระจายของเชื้อมีมากขึ้น ทำให้การควบคุมเชื้อมะเร็งนั้น จะทำได้ยากมากยิ่งขึ้น ในช่วงนี้คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรองรับการให้นมลูกในช่วงนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การป้องกันมะเร็งเต้านมทำได้อย่างไรบ้าง ?
สำหรับคุณผู้หญิง หรือคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนตั้งครรภ์ ควรตรวจสุขภาพ โดยเฉพาะการตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำด้วยการคลำหาก้อนเนื้อ หรือการสังเกตความผิดปกติของเต้านม ร่วมกับเข้ารับการตรวจจากแพทย์เป็นครั้งคราว ในปัจจุบันมักตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram) แต่สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องระวังรังสีจากการตรวจให้ดี หากตั้งครรภ์อยู่ควรหลีกเลี่ยงการตรวจด้วยวิธีนี้ หากสงสัยว่าตนเองตั้งครรภ์หรือไม่ ควรรับการตรวจการตั้งครรภ์ก่อนเพื่อความปลอดภัย
ผื่นที่ขึ้นบริเวณเต้านมนั้นเป็นหนึ่งในสัญญาณอันตรายของมะเร็งเต้านม หากพบว่าตนเองมีความเสี่ยง ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาให้เร็วที่สุด ยิ่งรักษาในระยะแรก ยิ่งทำได้ง่าย สำหรับแม่ท้องควรรับการรักษาตามขั้นตอนอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เจ็บเต้านม เจ็บหน้าอกหลังคลอด สาเหตุและวิธีบรรเทาอาการที่ถูกต้อง
เต้านมคัด หลังคลอด เต้านมเป็นก้อน เกิดจากอะไร มีวิธีไหนช่วยลดปวดเต้านมได้
เต้านมอักเสบ จนต้องผ่าตัด เต้านมอักเสบคืออะไร ป้องกันได้ไหม วิธีดูแลและรักษาเต้านมอักเสบ
ที่มา : Samitivej Chinatown, Vejthani, Phyathai