พัฒนาสมองจากสองมือ จากการลองปั้น ปั้น อะไรกันดูมั้ย ?
“อยู่บ้านท่าน อย่านิ่งดูดาย…ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น” สำนวนไทยที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งมีความหมายว่า “เมื่ออาศัยอยู่บ้านใครก็อย่าอยู่เฉย ๆ ควรช่วยทำงานทำการให้เป็นประโยชน์ ต่อเจ้าของบ้าน เพียงแค่เอาดินมาปั้นเป็นตุ๊กตาให้เด็ก ๆ ลูกหลานในบ้านท่านเล่นก็ถือว่าเป็นประโยชน์แล้ว” แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ในสำนวนไทยบทนี้ คือความหมายของการเล่นของเด็กในอดีต..ที่สะท้อนความจริงเรื่องการพัฒนาคุณภาพของสมองของเด็กในยุคนั้น ยุคที่ไม่มีเครื่องมือทันสมัย เช่น ในปัจจุบัน จนมีหลายคนเอามาล้อเลียนเป็นสำนวนเล่น ๆ ที่ไม่ขำสำหรับเด็กในยุคปัจจุบันคือ “อยู่บ้านท่าน อย่านิ่งดูดาย… เปิด wifi ให้ลูกท่านเล่น” แล้วเกิดอะไรขึ้น? เมื่อของเล่นของเด็กในอดีต เช่น การปั้น ที่ช่วยการสนับสนุนการใช้นิ้วทั้ง 5 เพื่อพัฒนาสมอง กลับกลายมาเป็นการละเล่นบนเครื่องมือที่ใช้นิ้วชี้เพียงนิ้วเดียวอย่างในปัจจุบัน
การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจะทำให้นิ้วมือทั้ง 5 ได้รับการกระตุ้น ก็เท่ากับสมองในส่วนต่าง ๆได้รับการพัฒนาไปด้วย จนมีท่าทางการบริหารนิ้วมือเพื่อพัฒนาสมองออกมาหลากหลายรูปแบบ แต่ถ้าเด็ก ๆ ของเราจะสนุก และได้ใช้ความคิดจินตนาการไปด้วย เราลองใช้งาน Handicraft อย่างงานปั้น มาใช้พัฒนาลูก ๆ กันดีไหมค๊ะ ^_^ สำหรับขั้นตอนก็ไม่ยากค่ะ เริ่มจากอะไรติดตามอ่านต่อในหน้าถัดไปค่ะ
1. สร้างแรงบันดาลใจ: การเรียนรู้ด้วยการปั้นให้สนุก เด็ก ๆ ควรได้เรียนรู้เรื่องราวที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้าง “แรงบันดาลใจ” พ่อแม่จะได้เข้าใจลูกด้วยว่า ลูกสนใจและชอบอะไร อาทิ ลูกชอบสุนัข การเปิดโอกาสให้ลูกได้เห็นได้สัมผัสสุนัขพันธุ์ต่าง ๆ ก็จะช่วยให้ลูกนำแรงบันดาลใจมาเป็นต้นทุนในการทำงานได้แล้วค่ะ เด็กบางคนสนใจสถาปัตยกรรมมาก การเดินชมเมืองเก่าและใหม่ก็เป็นการเติมข้อมูล และเพิ่มความน่าสนใจก่อนที่เด็ก ๆ จะไปสร้างงานได้ค่ะ ซึ่งการสร้างแรงบันดาลใจ เป็นการเปิดโอกาสให้สมองของเด็ก ๆ เรียนรู้อย่างมีความสุข การแตกตัวขยายเส้นใยประสาทจะสามารถทำงานได้ดี และแตกตัวได้ปริมาณมากเมื่อเด็ก ๆ มีความสุขนอกจากนี้ขณะที่เด็กบันทึกความรู้ใหม่ ก็สามารถนำมาผสมเชื่อมโยงกับความรู้เก่าได้ง่ายขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่ตนเองให้ความสนใจค่ะ
2. การออกแบบ: เด็ก ๆ สามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาออกแบบไปตามความคิดของตนเองได้ ขั้นตอนนี้เป็นการช่วยให้เด็ก ๆ นำภาพความคิดจากสมอง ถ่ายทอดออกมาด้วยรูปแบบของตนเอง คุณพ่อคุณแม่จึงต้อง “ยอมรับ” และ “ไม่ไปบังคับ” แนวทางการออกแบบของลูกว่าจะต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ เพราะเด็กทุกคนมีมุมมองที่เป็นแนวทางของตนเอง การใช้คำพูดที่ว่า “ทำไมไม่ทำอย่างนั้น…ไม่ทำอย่างนี้” จะส่งผลให้เด็กบางคนไม่แน่ใจ บางคนไม่กล้าทำ บางคนทำไปตามความคิด
ผู้ใหญ่ หรือบางคนหยุดทำไปซะดื้อ ๆ ดังนั้นการตั้งคำถามควรมีลักษณะเปิด เช่น ออกแบบอะไร มีความหมายว่าอย่างไร ทำไมถึงเลือกใช้แบบนี้ ฯลฯ มากกว่าการใช้คำถามปลายปิด และการแสดงความเห็นของเราค่ะ การถามคำถามจะช่วยพัฒนาสมองในส่วนของการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นศักยภาพที่สำคัญของสมอง ซึ่งหากขาดการกระตุ้นด้วยปัจจัยต่าง ๆ แล้ว การปฏิวัติสมองไปสู่การพัฒนาด้วยตนเองจะเป็นไปได้โดยยาก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้สิ่งแวดล้อมมาช่วยสนันสนุนค่ะ
3. การเตรียมอุปกรณ์: เป็นขั้นตอนที่เด็ก ๆ ควรมีส่วนร่วมในการเตรียมข้าวของด้วยตนเอง หลายคนมีอุปกรณ์ในการปั้น แกะ สลัก ฯลฯ มากมายหลายชนิด แต่ศิลปินที่เป็นช่างปั้นโดยส่วนใหญ่ กลับใช้ “อุปกรณ์ประยุกต์” อาทิ ตะปู ไม้เสีบยลูกชิ้น ไม้บรรทัด เปลือกหอย ใบไม้ ฯลฯ นำมาเป็นอุปกรณ์ในการสร้างสรรค์งาน และสิ่งที่ช่างปั้นทุกคนบอกว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการปั้นมากที่สุดก็คือ 1 สมองกับ 2 มือ ที่จะสร้างสรรค์งานออกมาค่ะ ดังนั้นเด็ก ๆ จึงไม่ควรให้ความสำคัญกับอุปกรณ์ที่ราคาสูงจนเกินไป ผ้าเหลือใช้ก็นำมาเป็นแผ่นรองปั้น และเย็บผ้ากันเปื้อนได้ ทั้งนี้เพื่อฝึกพัฒนาการของสมองในเรื่องการแก้ปัญหาด้วยแนวทางที่สร้างสรรค์ค่ะ
4. ลงมือทำงาน: กว่าจะมาถึงขั้นนี้แม้ว่ามีการวางแผนเตรียมการมาเป็นอย่างดี ตั้งแต่การสร้างแรงบันดาลใจ การออกแบบ และการเตรียมอุปกรณ์แล้ว แต่ก็มีเด็กหลายคนที่เกิดอยากปรับเปลี่ยนไม่สร้างงานตามแบบที่ตนได้วางแผนมา คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะเข้าใจไปว่า “ลูกไม่จริงจัง” ขอให้เป็นโอกาสเปิด ถามเด็ก ๆ ไปได้เลยนะคะว่า “ทำไมถึงอยากเปลี่ยนแบบ?” และ “รู้สึกถึงแบบที่คิดจะทำก่อนหน้าและที่จะทำใหม่ว่าอย่างไร?” ทั้งนี้ถึงเด็กที่ทำงานในแบบที่ตนออกแบบมาตั้งแต่ต้นแล้วก็ตาม การตั้งคำถามในช่วงนี้จะทำให้เด็ก ๆ ได้ฝึกคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล เป็นการฝึกการใช้ศักยภาพที่ซับซ้อนของสมองที่ต้องได้รับคำถามขณะที่ลงมือทำ เพื่อช่วยเพิ่มพูนวิธีคิดของเด็ก ๆ ค่ะ นอกจากนี้หากขณะทำงานเด็ก ๆ ได้ทำร่วมกับพี่ ๆ น้อง ๆ คุณพ่อคุณแม่จะมองเห็นวิธีการเรียนรู้ระหว่างพี่-น้อง ที่ถ่ายทอดกันไปมาระหว่างทำงานได้ด้วยค่ะ
5. การเก็บอุปกรณ์ และทำความสะอาดสถานที่: สุขนิสัยทางศิลปะ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เด็ก ๆ ควรได้เรียนรู้ เพราะเด็ก ๆ จะซึมซับถึงคุณค่าของการทำงานว่า “ไม่มีงานใดสำเร็จได้ด้วยการลงมือทำงานเพียงอย่างเดียว” การเรียนรู้ที่เด็กเป็นผู้ลงมือทำงาน ไม่ทราบที่มา คือขั้นตอนการเตรียม และที่ไป คือขั้นตอนการเก็บอุปกรณ์ และสถานที่ จะส่งผลให้สมองซึมซับการเรียนรู้เฉพาะเรื่อง “การลงมือทำ” เพียงอย่างเดียว เมื่อสมองบันทึกไปเช่นนั้นแล้ว ความสนใจในสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องกับชีวิตก็จะหมดไปด้วย เพราะไม่เคยทราบว่ามีกระบวนการนี้อยู่ หรือถ้าทราบก็ไม่ได้ให้ความสำคัญมากพอ ดังนั้นการฝึกให้ลูกรู้จักเก็บ รักษา และทำความสะอาด เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยพัฒนาสมอง ในส่วนที่เป็นการบ่มเพาะ “เมล็ดพันธุ์แห่งปัญญา” ให้กับลูกได้มากที่สุดค่ะ
6. การอธิบายผลงาน: ขั้นตอนสุดท้าย…ที่ไม่ใช่ท้ายสุด สำหรับการนำผลงานมานำเสนอแนวคิด ตั้งแต่เริ่มต้นหาแรงบันดาลใจ ไปจนถึงการเก็บอุปกรณ์ ลูก ๆ จะได้เรียนรู้ทักษะการถ่ายทอดความคิดที่เรียบเรียงอยู่ในสมองน้อย ๆ ออกมาเป็นคำพูด ครั้งนี้ละคะเป็นการใช้ทักษะที่เก็บสะสมมา รวมเข้ากับการฝึกศักยภาพสมองในเรื่องการสื่อสาร ที่ไม่มีเวทีก็ไม่มีการฝึกสำหรับเด็กค่ะ จะรอให้มีการประกวดทีแล้วฝึกทีก็ไม่ไหวนะคะ การให้เด็กได้ฝึกแสดงออกทางความคิดมาก ๆ ก็ต้องรับการฟังอย่างเข้าใจของเราซึ่งเป็นพ่อแม่ค่ะ เราสามารถถามเหตุผลในการทำงานสร้างงานได้ แต่เราไม่ได้มีหน้าที่ไปตัดสินว่างานของลูก ๆ คนไหนดีกว่า สวยกว่า เพราะงานคือตัวลูก ณ ขณะนั้นค่ะ การตัดสินของเราต่องาน คือการตัดสินลูก ดังนั้นให้ลูกเป็นผู้ตัดสินตนเอง ด้วยการแสดงความรู้สึกนึกคิด และเราโยนคำถามน่าจะดีกว่านะคะ โดยเฉพาะคำถามที่ว่า “ถ้าครั้งหน้าทำได้..ลูกคิดว่าลูกจะทำอะไร” เท่านี้คุณพ่อคุณแม่ก็ได้ให้การบ้าน ที่ลูกเป็นผู้กำหนดวันส่งด้วยตนเองแล้วละคะ
ลูกส่งการบ้านเมื่อไหร่ คุณพ่อคุณแม่ก็เตรียม “เฮ….” ได้เลยนะคะ เพราะนี่คือสัญญาณ แห่งการพัฒนาสมองของลูกน้อยของท่านแล้วค่ะ งานปั้นทำได้ตั้งแต่เด็กเล็ก…จนถึงผู้ใหญ่ที่โตแล้ว แม้ว่าเราจะไปเปลี่ยนโครงสร้างของการศึกษาไทยไม่ได้ แต่เราเลือกแนวทางการศึกษาในโรงเรียนที่เหมาะสมให้กับลูกได้ รวมทั้งอยู่ที่ความพยายามของเราซึ่งเป็นพ่อแม่ในการสร้างให้ลูกมีเครื่องมือเรียนรู้ที่เหมาะสมสมกับลูกได้ ไม่ว่าหลักสูตรจะเป็นแบบใดด้วยการรู้จักลูกอย่างแท้จริงค่ะ ก่อนจะฟังเสียงหัวใจลูกให้ชัดเจนได้..ก็อย่าลืมเรียนรู้และอดทนที่จะฟังเสียงหัวใจตนเองให้เป็นด้วยนะคะ ^_^
โดย ครูป๋วย
The Asianparent Thailand เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพ และ สังคมคุณแม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และ เอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่ และ เด็ก รวมถึงแอพพลิเคชั่น The Asianparent ที่ติดตามการตั้งครรภ์ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งานฟรี เพื่อติดตามพัฒนาการทารกตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุด และ ผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ยังมีไลฟ์สไตล์ และ สื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่ และ เด็ก โภชนาการแม่ และ เด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว การวางแผนครอบครัวไปจนถึง การดูแลลูก การศึกษา และ จิตวิทยาเด็ก The Asianparent เราพร้อมสนับสนุนพ่อแม่ทุกท่าน ให้มีความรู้ และ มีสุขภาพกายใจเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างครอบครัวอย่างแข็งแรง
เพราะเราเชื่อว่า “ พ่อแม่เข้มแข็ง ครอบครัวแข็งแรง ”
source หรือ บทความอ้างอิง : empoweredparents.co
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
สอนลูกให้มีความมั่นคงทางอารมณ์