สารพันความเชื่อ เกี่ยวกับเด็กทารก
1. ความเชื่อ : บีบหัวนมทารกที่เป็นผู้หญิงเวลาอาบน้ำ จะทำให้โตขึ้นหัวนมไม่บอด
ความจริง : นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์พัฒนาการเด็ก คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ชี้แจงว่า การไปบีบหัวนมเด็กเล็กนั้นไม่ถูกต้อง และเป็นความเชื่อเกี่ยวกับทารกที่ผิด เพราะการที่ผู้หญิงหัวนมบอดหรือไม่ ส่วนใหญ่เราจะไปเห็นในช่วงที่ใกล้คลอดหรือตั้งครรภ์ โดยเป็นช่วงที่เริ่มสร้างน้ำนม เพราะช่วงนั้นเต้านมและหัวนมจะขยายใหญ่ จึงจะเห็นได้ชัดเจน แต่ในเด็กทารกผู้หญิงจะไม่เห็นชัดเจน คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแลจึงไม่ควรไปยุ่งหรือไปบีบดึงหัวนมของลูก เพราะนอกจากลูกจะเจ็บ รำคาญแล้ว แล้วหากบีบแรงจะทำให้เกิดการอักเสบได้
2. ความเชื่อ : พาทารกแรกเกิดกลับบ้านวันแรกต้องทำพิธีเรียกขวัญก่อนเข้าบ้าน
ความจริง : ความเชื่อในข้อนี้เป็นความเชื่อหลังคลอดของทั้งคนไทยและคนจีน ซึ่งอาจจะมีชนชาติอื่น ๆ ด้วย เพราะเมื่อครอบครัวพาสมาชิกใหม่เข้ามาบ้าน เป็นความเชื่อของคนไทยและคนจีนที่เชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกปักรักษาคุ้มครองบ้านที่อยู่อาศัย การบอกกล่าวแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เปรียบได้กับการบอกกล่าวต่อผู้ใหญ่เพื่อความเป็นสิริมงคลให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข
3. ความเชื่อ : ทารกนอนหลับแล้วยิ้มเพราะกำลังเล่นกับแม่ซื้อ
ความจริง : นักวิจัยได้วัดคลื่นสมองของทารกแรกคลอด และสังเกตอากัปกิริยาของทารก อายุ 10 – 20 สัปดาห์ ระหว่างหลับ พบว่า ทารกจะไม่อยู่นิ่งเลย หากเป็นการหลับในช่วงกลางวัน ภายในครึ่งชั่วโมงทารกจะเคลื่อนไหวร่างกายเฉลี่ยแล้ว 10.5 นาที และหากเป็นช่วงกลางคืน เขาจะเคลื่อนไหวถึง 24.4 นาที
หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตท่าทางของลูกวัยทารกในยามหลับ จะพบว่าเค้ามักทำท่าขยับปากคล้ายจะขอนม ขมวดคิ้ว ทำหน้าย่น หรือยิ้ม อาการที่แสดงออกมาเหล่านี้ไม่ได้บ่งบอกว่าเขากำลังฝันดี ฝันร้าย หรือว่าหิวหรอกค่ะ ที่เขามีสีหน้าท่าทางต่าง ๆ กันออกไปนั้น เป็นหนึ่งในพัฒนาการของกล้ามเนื้อใบหน้านั่นเอง
4. ความเชื่อ: ห้ามทักเด็กทารกว่าน่ารัก ให้บอกว่าน่าเกลียดน่าชังเพราะเชื่อว่าผีจะมาเอาตัวไป
ความจริง : ความเชื่อเกี่ยวกับเด็กทารกในข้อนี้ถือเป็นการเตือนสติคุณพ่อคุณแม่ ไม่ให้รักใคร่หลงใหลลูกตนว่าน่ารักจนเกินไป พ่อแม่ที่รักลูกเกินไป ก็จะเลี้ยงแบบตามใจ ไม่ขัดใจลูก เด็กโตขึ้นเอาแต่ใจตัวเอง มีนิสัยดื้อรั้น ไม่เชื่อฟังผู้หลักผู้ใหญ่ เถียงคำไม่ตกฟาก มองเห็นพ่อแม่เป็นผู้รับใช้มิใช่ผู้ที่ตนควรเคารพบูชาตอบแทนพระคุณ
5. ความเชื่อ : เด็กทารกร้องไห้ (โคลิค) เพราะเห็นผี
ความจริง : โคลิคเป็นอาการที่พบได้บ่อยในเด็กแรกเกิดอายุตั้งแต่ 3 สัปดาห์ถึง 3 เดือน เด็กจะร้องมาก ร้องนานและมักชอบร้องตอนกลางคืนโดยจะร้องจนตัวงอ ทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลกับพ่อแม่และครอบครัวมาก คนรุ่นก่อนจึงมักเรียกว่า “เด็กร้องร้อยวัน”อาการที่ทำให้เกิดเป็นเรื่องของการปวดท้อง ไม่สบายท้องของเด็กทารก
อ่าน สารพันความเชื่อเกี่ยวกับทารก ข้อที่ 6 – 10 คลิกหน้าต่อไป
6. ความเชื่อ : ในช่วงอยู่เดือน ห้ามพาทารกออกจากบ้าน
ความจริง : เด็กในช่วงเป็นช่วงที่ทารกยังอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันของร่างกายยังทำงานไม่เต็มที่ หากพาออกไปข้างนอกเสี่ยงติดเชื้อโรคได้
7. ความเชื่อ : เด็กทารกที่บิดขี้เกียจอยู่เรื่อย ๆ หรือบิดขี้เกียจบ่อย ๆ จะทำให้เด็กโตเร็วมีเนื้อเยอะขึ้น
ความจริง : อาการบิดตัวมากพร้อมกับร้องเสียงเอี๊ยดอ๊าดนั้น เป็นอาการปกติของเด็กวัยทารกที่ยังไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อได้ ก็อาจใช้อาการนี้สังเกตเด็กกลุ่มที่อ้วนมาก น้ำหนักขึ้นเร็วเกิน 35 กรัมต่อวัน เด็กบางคนหิวเก่งทำให้กินมากเกินไป ชาวบ้านจึงเรียกว่า บิดเรียกเนื้อ
8.ความเชื่อ : เด็กป่วยบ่อยหรือเลี้ยงยาก ต้องยกให้เป็นลูกคนอื่นแล้วจะหาย
ความจริง : การยกลูกให้คนที่มีจิตใจดีงาม และเคยเลี้ยงเด็กแล้ว เด็กเลี้ยงง่าย ร่าเริง สุขภาพร่างกายแข็งแรง เคล็ดนี้ทำกันแค่เป็นพิธี เท่านั้น ซึ่งเป็นการช่วยในเรื่องทางจิตใจของผู้เลี้ยงเอง ไม่เกี่ยวกับสุขภาพแต่อย่างใด
9. ความเชื่อ : ทารกตากแดดตอนเช้าแก้ปัญหาตัวเหลือง
ความจริง : เด็กทารกส่วนใหญ่จะมีอาการตัวเหลืองเล็กน้อยเมื่ออายุ 3-4 วัน และจะหายภายในอายุ 5-7 วัน ซึ่งความเชื่อเรื่องแสงแดดตามธรรมชาติ ช่วยลดเหลืองในเด็กนั้นช่วยได้น้อยมาก เพราะว่าแสงแดดมีความยาวคลื่นที่มีทั้งสีม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง ซึ่งแสงที่จะช่วยเรื่องตัวเหลืองนั้น คือแสงสีน้ำเงินเท่านั้น ถ้าลูกตัวเหลืองผิดปกติควรนำลูกมาเข้ารับการตรวจกับคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาให้ทันท่วงที
10. ความเชื่อ : เด็กทารกใส่กำไลข้อเท้าจะนำพาโชคลาภมาสู่ครอบครัว
ความจริง : ประโยชน์จริง ๆ ของการใส่กำไลหรือกระพรวนนั้น คือ การบอกว่าเด็กหลับอยู่หรือตื่นขึ้น หรือการบอกตำแหน่งของเด็ก เมื่อเด็กเคลื่อนที่ก็จะเกิดเสียงให้คุณพ่อคุณแม่ทราบว่าลูกอยู่ตรงไหน
ข้อควรระวัง หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุมีค่า เช่น ทองคำ เพราะอาจล่อตาล่อใจโจร และต้องคอยเปลี่ยนขนาดตามข้อเท้าเด็ก เพื่อไม่ให้เกิดการรัดข้อเท้าจนเกิดการบาดเจ็บ
ได้ทราบกันแล้วนะคะว่าความเชื่อเกี่ยวกับทารกของคนโบราณคืออะไร และความจริงเป็นอย่างไร ความเชื่อเป็นสิ่งไม่ผิดค่ะ แต่ควรเลือกปฏิบัติอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดอันตราย เพราะอย่าลืมว่าทารกนั้นยังมีร่างกายที่อ่อนแอ หากทำพิธีกรรมที่แปลก ๆ อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อโรคจนเกิดอันตรายได้
อ้างอิงข้อมูล
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
10 ความเชื่อหลังคลอดเกี่ยวกับทารก
5 ความเชื่อผิด ๆ ในการเลี้ยงดูส่งผลเสียต่อ IQ และ EQ ของลูกได้