อาบน้ำหลังคลอด ได้ตอนไหน เคล็ดลับดูแผลผ่าคลอดอย่างปลอดภัย

ช่วงหลังคลอด เป็นช่วงที่ร่างกายของคุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งในด้านของร่างกายและจิตใจ คุณแม่จึงควรเตรียมพร้อมและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิด อย่างเช่นการอาบน้ำหลังคลอดซึ่งเป็นเรื่องที่คุณแม่หลายคนไม่ทันระวัง รู้หรือไม่ว่าการอาบน้ำหลังคลอด บางครั้งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่เป็นอันตรายแก่ร่างกายได้ วันนี้เราจะพามาดูกันว่า อาบน้ำหลังคลอด ได้ตอนไหน พร้อมบอกเคล็ดลับการอาบน้ำอย่างปลอดภัยสำหรับคุณแม่หลังคลอด ไปติดตามกันค่ะ

 

อาบน้ำหลังคลอด ได้ตอนไหน

โดยปกติแล้ว คุณแม่ที่คลอดธรรมชาติสามารถอาบน้ำหลังคลอดและสระผมได้ปกติ แต่สำหรับคุณแม่ที่ผ่าคลอดไม่ควรอาบน้ำในช่วง 7 วันแรก ควรจะรอ 2-3 สัปดาห์ก่อน เพราะแผลอาจติดเชื้อได้ เนื่องจากในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด ปากมดลูกของคุณแม่ยังปิดไม่สนิท อาจทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในน้ำเข้าช่องคลอดจนลุกลามสู่โพรงมดลูก ที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณแผลฝีเย็บได้ รวมถึงคุณแม่ที่เคยมีประวัติผ่าคลอดหรือแผลฝีเย็บฉีกขาดมาก่อน อาจทำให้แผลปริได้อีกเช่นกัน

ดังนั้น คุณแม่ควรรอ 2-3 สัปดาห์ก่อนเพื่ออาบน้ำ และแนะนำให้ใช้วิธีการตักน้ำอาบ หรืออาบฝัก ไม่ควรอาบน้ำแบบแช่ในอ่างอาบน้ำหรือว่ายน้ำนะคะ แนะนำให้คุณแม่อาบน้ำอุ่นและใช้สบู่อ่อน ๆ ทำความสะอาดร่างกายเบา ๆ ไม่ควรถูแรงจนเกินไป โดยเฉพาะบริเวณช่องคลอด ส่วนการสระผมคุณแม่สามารถทำได้ปกติตามความเหมาะสม และสำหรับการปัสสาวะหรืออุจจาระหลังคลอด อย่าลืมล้างให้สะอาดและซับให้แห้งก่อนใส่ผ้าอนามัย และควรเปลี่ยนผ้าอนามัยอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

 

หากคุณแม่อาบน้ำไม่ได้ ควรทำอย่างไร

วิธีทำความสะอาดร่างกายหลังผ่าคลอดที่ดีที่สุด คือ การใช้ผ้าชุบน้ำหรือฟองอาบน้ำทำความสะอาดแทน เหมือนเวลาที่คุณแม่เช็ดตัวลูกน้อยเวลาไม่สบาย ควรใช้น้ำอุ่นในการเช็ดตัวและอาจใช้สบู่สูตรอ่อนโยนเพื่อทำความสะอาดร่างกาย พยายามหลีกเลี่ยงการใช้สบู่บริเวณแผลฝีเย็บนะคะ ให้ใช้นิ้วถูเบา ๆ บริเวณนั้นแทน หากต้องการล้างก็เช็ดด้วยน้ำเบา ๆ พอโดยไม่ต้องใช้สบู่

บทความที่เกี่ยวข้อง : 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 4 การทำความสะอาดร่างกายคุณแม่

 

อาบน้ำหลังคลอด

 

ประโยชน์ของการอาบน้ำหลังคลอด

การอาบน้ำหลังคลอดมีประโยชน์หลายอย่างนอกจากการทำความสะอาด ทั้งในด้านของร่างกายและจิตใจ โดยประโยชน์ของการอาบน้ำหลังคลอด มีดังนี้

  • ช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ
  • การอาบน้ำอุ่นช่วยลดอาการบวมหลังคลอดของคุณแม่ได้
  • ช่วยให้คุณแม่มีเวลาให้กับตัวเอง แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ตาม
  • ช่วยให้คุณแม่หลับสบายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
  • คุณแม่สามารถแช่น้ำอุ่นด้วยกะละมัง เพื่อช่วยลดอาการปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน และบรรเทาอาการริดสีดวงทวารได้
  • ช่วยคลายกล้ามเนื้อและช่วยผ่อนคลายร่างกาย ยิ่งหากคุณแม่อาบน้ำอุ่นในช่วงเวลาที่เงียบสงบจะช่วยให้มีสมาธิมากยิ่งขึ้น

 

เคล็ดลับอาบน้ำหลังคลอดเพื่อความปลอดภัย

หลังจากคุณแม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์ให้อาบน้ำได้แล้ว อย่าลืมคำนึงถึงความปลอดภัยของการอาบน้ำด้วยนะคะ เพราะบางครั้งแผลฝีเย็บอาจยังปิดไม่สนิท และเพื่อความปลอดภัยของร่างกาย สิ่งที่คุณแม่ควรคำนึงในการอาบน้ำหลังคลอด มีดังนี้

 

1. ค่อย ๆ เข้าไปนั่งในอ่าง

ก่อนที่คุณแม่จะระวังแผลฝีเย็บ ต้องเช็กร่างกายให้แน่ใจว่าสามารถลุกและออกจากอ่างแช่น้ำได้ แม้ว่าแผลของคุณแม่จะหายดีแล้ว แต่เรื่องของความแข็งแรงอาจยังไม่กลับมาเป็นปกติ หากคุณแม่รู้สึกไม่มั่นใจว่าแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักตัวเองเวลาเข้าและออกจากอ่าง ก็ควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำโดยการแช่น้ำไปก่อน หรืออาจให้สามีหรือใครก็ตามเป็นคนช่วงพยุงเวลาจะอาบค่ะ

 

2. เลือกผลิตภัณฑ์อาบน้ำสูตรอ่อนโยน

การเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายหลังคลอด เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่มีส่วนผสมที่รุนแรงเกินไป เพราะอาจทำเกิดการระคายเคืองบริเวณช่องคลอด แนะนำให้ใช้สบู่ที่อ่อนโยนและไม่ส่วนผสมของน้ำหอมแทน คุณแม่อาจใช้สบู่เด็กในการทำความสะอาดได้ รวมถึงควรงดใช้ผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงผิวและมอยส์เจอไรเซอร์ไปก่อน

บทความที่เกี่ยวข้อง : 4 ความเชื่อเรื่องการอาบน้ำของคนท้อง อาบกลางคืน อาบน้ำอุ่นอันตรายจริงไหม

 

อาบน้ำหลังคลอด

 

3. อาบน้ำอุ่น

พยายามเลือกอาบน้ำอุ่นแทนน้ำเย็นนะคะ เพราะการอาบน้ำอุ่นจะช่วยทำความสะอาดร่างกายได้ดีกว่า อีกทั้งยังมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ช่วยลดความเครียดหลังคลอด ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ช่วยให้ระบบโลหิตไหลเวียนได้ดี และยังช่วยลดอาการบวมของร่างกายได้อีกด้วย ทั้งนี้ คุณแม่ควรระวังไม่ให้น้ำร้อนเกินไป แต่ไม่ควรขัดผิวไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำหรือใช้ผ้าเช็ดตัวก็ตาม

 

4. ปล่อยให้น้ำไหลผ่านร่างกาย

เมื่อแผลของคุณแม่เริ่มดีขึ้น ก็สามารถปล่อยให้น้ำไหลผ่านบริเวณนั้นได้ แต่ต้องหลีกเลี่ยงการฉีดน้ำบริเวณช่องคลอดเด็ดขาดนะคะ รวมถึงการเทน้ำบริเวณแผลด้วย เพราะอาจทำให้แผลฝีเย็บปริ คุณแม่บางคนอาจปัสสาวะหรืออุจจาระแล้วใช้สายฉีดชำระโดยตรง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ แนะนำให้ใช้ทิชชูเปียกทำความสะอาดไปก่อนจะดีกว่า

 

5. ขัดร่างกายด้วยมือเบา ๆ

การอาบน้ำในช่วงแรก คุณแม่สามารถขัดตามบริเวณร่างกายด้วยมือได้ หลีกเลี่ยงการใช้ฟองอาบน้ำ ใยบวม หรือแม้แต่ผ้าเช็ดตัว เพราะการที่ขัดอย่างรุนแรงเกินไป อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวได้ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการฟอกสบู่ให้เป็นฟอง เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้อีกเช่นกัน แนะนำให้ขัดเบา ๆ แล้วปล่อยให้น้ำไหลผ่านดีกว่าค่ะ

 

6. ใช้ผ้าขนหนูซับให้แห้ง

หลังอาบน้ำเสร็จแล้ว คุณแม่ต้องเช็ดตัวให้สนิทเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ ควรใช้ผ้าขนหนูซับให้แห้ง และหลีกเลี่ยงการถูบริเวณใกล้ช่องคลอดหรือแผลฝีเย็บนะคะ เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคือง รวมถึงยังเพิ่มความเสี่ยงจากสิ่งสกปรกที่อยู่ในผ้าขนหนูอีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง : อาการเจ็บฝีเย็บ การดูแลแผลฝีเย็บหลังคลอด ให้แผลแห้งไว หายไว

 

อาบน้ำหลังคลอด

 

สัญญาณของการติดเชื้อหลังคลอด

ก่อนที่คุณแม่จะอาบน้ำ ควรตรวจสอบบริเวณแผลฝีเย็บและสังเกตความผิดปกติของแผลก่อนว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ ซึ่งสัญญาณของภาวะติดเชื้อหลังคลอด มีดังนี้

  • มีไข้
  • หนาวสั่น
  • มีรอยแดง
  • มีอาการปวดบริเวณแผล
  • มีกลิ่นเหม็นจากช่องคลอด
  • มีเลือดออกบริเวณแผลฝีเย็บ
  • มีของเหลวไหลออกจากแผล

 

แม่หลังคลอดดูแลแผลฝีเย็บอย่างไร

ในช่วง 1-3 วันแรก แผลฝีเย็บอาจมีอาการเจ็บบวม และอาจมีเลือดซึมออกมา ซึ่งปกติแล้วแผลฝีเย็บจะหายภายใน 7 วัน คุณแม่จึงสามารถอาบน้ำในช่วงหลังจากนั้นได้ อย่างไรก็ตาม การดูแลเรื่องแผลผ่าตัดเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เรามาดูวิธีดูแลแผลฝีเย็บกันค่ะ

  • ตรวจเช็กอาการบวมแดง และน้ำคาวปลาจากแผลฝีเย็บว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่
  • ทำความสะอาดทุกครั้งหลังปัสสาวะและอุจจาระ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • เปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 2-3 ชั่วโมง และหลีกเลี่ยงการใส่ผ้าอนามัยแบบสอด เพราะอาจทำให้เกิดการเสียดสีบริเวณช่องคลอด
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์
  • ระวังอย่าให้ท้องผูก เพราะการเบ่งจะทำให้แผลฝีเย็บแยกมากขึ้น
  • ไปพบแพทย์ตามนัด หากมีอาการผิดปกติต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

ที่มา : healthline.com, babycenter.com, Paolo Hospital, mccormickhospital.com

 

การอาบน้ำหลังคลอด คุณแม่สามารถอาบน้ำได้ปกติ อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำแบบแช่ในอ้างหรือว่ายน้ำไปก่อน เพราะอาจทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในน้ำเข้าทางช่องคลอดจนทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าสามารถอาบน้ำได้หรือยัง และอย่าลืมทำความสะอาดแผลฝีเย็บทุกครั้งหลังปัสสาวะหรืออุจจาระ เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

เตรียมรับมือ 11 เรื่องจริงของร่างกาย หลังคลอดลูก ที่แม่ต้องเผชิญ

วิธีออกกำลังกาย แม่หลังคลอด ท่าบริหารร่างกายให้หุ่นเป๊ะปัง น้องสาวฟิต

10 ผลไม้หลังคลอด คุณแม่หลังคลอด กินผลไม้ชนิดไหนถึงจะดีต่อร่างกาย

 

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!