ลูกติดนมชง ไม่กินนมแม่ แก้ยังไงดี? วิธีเปลี่ยนใจลูกน้อยให้เลิฟนมแม่

lead image

ถ้าคุณแม่กำลังปวดหัวกับปัญหาลูกน้อยติดนมชง จนไม่ยอมกินนมจากเต้าคุณแม่ เรามีวิธีแก้มาฝากค่ะ ลองไปทำกันดูนะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

เชื่อว่าคุณแม่ทุกคนอยากให้ลูก “กินนมแม่” แต่บางบ้านก็อาจจะมีปัญหาติดขัดบ้างตรงที่ “ลูกติดนมชง ไม่ยอมกินนมจากเต้าเลย” ไม่ว่ายังไงลูกน้อยก็สนใจแต่นมชง นมผงเท่านั้น จนทำให้คุณแม่รู้สึกท้อแท้เหลือเกิน แต่อย่าเพิ่งโทษตัวเองและอย่าเพิ่งหมดหวังค่ะ หนทางยังพอมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ใครมีปัญหา ลูกติดนมชง ไม่กินนมแม่ เรามีวิธีเปลี่ยนใจให้ลูกน้อยเลิฟนมแม่ มาฝาก

นมแม่ ดียังไง

9 เหตุผลที่ควรพยายามให้ลูกกินนมแม่

สำหรับคุณแม่มือโปร เชื่อว่าทราบดีอยู่แล้วว่า นมแม่ดียังไง แต่หากคุณเป็นคุณแม่มือใหม่ อยากให้มาดูเหตุผลที่คุณแม่อีกหลายๆ คนกังวลเกี่ยวกับการที่ ลูกติดนมชง ไม่กินนมแม่ ซึ่งก็เป็นประโยชน์ของนมแม่ที่ลูกน้อยจะได้รับทำให้ถอดใจเรื่องการให้นมแม่กับลูกน้อยไม่ได้เด็ดขาด มาดู 9 เหตุผลที่ควรพยายามให้ลูกกินนมแม่กันหน่อยค่ะ

  1. ในน้ำนมแม่มีสารที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคบนผิวหนังของลูกน้อยได้ (Microbial colonization)
  2. นมแม่มีโพรไบโอติกส์ ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของแบคทีเรียตัวดีที่จะช่วยย่อยในลำไส้ของทารกตัวน้อย
  3. มีสารนิวคลีโอไทด์ ช่วยทำให้เยื่อบุลำไส้ในลำไส้ลูกน้อยเจริญเติบโตเร็ว แข็งแรงพร้อมรับการสัมผัสเชื้อประจำถิ่น
  4. ลูกจะได้รับสาร “เซอร์เคทเทอรี่ ไอจีเอ” (sIgA) ของแม่ จากลานนม ซึ่งเป็นสารภูมิคุ้มกันที่ร่างกายคุณแม่จะผลิตออกมาเมื่อได้รับเชื้อโรค เป็นสารภูมิคุ้มกันที่มีมากที่สุดในนมแม่ โดยจะไปดักจับเชื้อโรคบนเยื่อบุผิวลำไส้และเยื่อบุผิวบนอวัยวะอื่นๆ
  5. มี T-lymphocyte จับกินเชื้อโรคที่มาเกาะเยื่อบุผิว ช่วยลดอัตราการตายจากโรคติดเชื้อทางระบบหายใจ และโรคอุจจาระร่วงในทารก
  6. มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว สายโมเลกุลยาว ซึ่งสำคัญกับการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อประสาทและจอประสาทตาเมื่อลูกน้อยมีอายุได้ 6 เดือน
  7. ช่วยลดการเกิดโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง และลดโอกาสการเกิดเป็นเบาหวานในอนาคตได้ หากลูกน้อยได้กินนมแม่อย่างเดียวตลอดระยะ 3 เดือน
  8. มดลูกคุณแม่จะเข้าอู่เร็วยิ่งขึ้น ช่วยป้องกันภาวะตกเลือดหลังคลอดได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้น้ำหนักหลังคลอดของคุณแม่ลดเร็ว และช่วยเผาผลาญไขมันที่สะสมไว้ตอนตั้งครรภ์ด้วย
  9. ลดความเสี่ยงของคุณแม่ที่อาจเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง โรคกระดูกพรุน และความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิวได้

ทำไม? ลูกติดนมชง ไม่กินนมแม่

ถ้านมแม่ดีและมีประโยชน์มากขนาดนี้ ทำไม? จึงให้ลูกกินนมผง จนกระทั่งลูกติดนมชง ไม่ยอมกินนมแม่ คำถามนี้น่าจมีหลายคำตอบค่ะ เป็นต้นว่า

  • คุณแม่มีปัญหาน้ำนมไม่ไหล หรือน้ำนมน้อย
  • คุณแม่บางคนอาจมีภาวะสุขภาพบางอย่าง ทำให้ไม่สามารถให้นมลูกได้เอง นมผงจึงเป็นทางเลือกที่ถูกนำมาใช้ทดแทน
  • คุณแม่ได้รับยาที่เป็นข้อห้ามในการให้นมทารก

ซึ่งเหตุเหล่านี้ทำให้คุณแม่มีความจำเป็นต้องให้ลูกกินนมชงไปก่อน เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมจึงค่อยกลับมากินนมแม่ แต่ก็เกิดปัญหา ลูกติดนมชง ไม่กินนมแม่ ขึ้นมาเสียอย่างนั้น โดยสาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยติดนมชงมีหลายปัจจัยเช่นกัน ดังนี้ค่ะ

เปิดสาเหตุ ลูกติดนมชง ไม่กินนมแม่

รสชาติและการไหล นมชงอาจมีรสชาติหวานกว่านมแม่ และไหลจากขวดง่ายกว่า ทำให้ลูกดูดนมจากเต้าได้ยากขึ้น
ความเคยชิน หากลูกเคยชินกับการดูดนมจากขวด อาจทำให้ไม่รู้หรือลืมวิธีดูดนมจากเต้า หรือไม่ชอบความรู้สึกที่แตกต่าง
ปริมาณนมแม่ หากคุณแม่มีน้ำนมน้อย ลูกอาจรู้สึกหงุดหงิดที่ต้องดูดนาน และเลือกกินนมชงที่ไหลง่ายกว่า
ความเครียด ความเครียดของคุณแม่ อาจส่งผลต่อการหลั่งน้ำนม และทำให้ลูกดูดนมได้ยากขึ้น

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

วิธีเปลี่ยนใจลูกน้อยให้เลิฟนมแม่

การจะเปลี่ยนใจลูกน้อยให้ตีจากนมชงกลับซบนมแม่ ก่อนอื่นคุณแม่ต้องท่องไว้ค่ะว่า “อดทน” เพราะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกต้องใช้เวลา อย่าบังคับ หรือดุ เมื่อลูกร้องไห้งอแง ให้คุณแม่อดทน และพยายามต่อไป จากนั้นลองวิธีต่อไปนี้

  • ฝึกให้ลูกดูดนมจากเต้าบ่อยๆ

โดยให้ลูกดูดนมจากเต้าคุณแม่บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้ว่าลูกจะดูดได้น้อย หรือดูดไม่นานก็ตาม เพื่อกระตุ้นการผลิตน้ำนม และให้ลูกคุ้นเคยกับการดูดนมจากเต้า

  • ดูดนมจากเต้าให้ตรงเวลา

พยายามให้ลูกน้อยดูดนมแม่อย่างตรงเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้คุณแม่มีอาการเต้านมคัด ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะท่อน้ำนมอุดตัน ที่เป็นสาเหตุทำให้ลูกไม่ยอมกินนมแม่มากขึ้นไปอีก

  • ลองเทคนิค Skin-to-skin

เพิ่มการสัมผัสผิว ซึ่งจะช่วยให้ลูกผ่อนคลาย และกระตุ้นสัญชาตญาณการดูดนมได้ค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • เปลี่ยนท่าให้นม

คุณแม่ควรให้นมในห้องที่เงียบ สงบ ปราศจากสิ่งรบกวน มีเพียงคุณแม่และลูกน้อยตามลำพัง รวมทั้งลองปรับและเปลี่ยน ท่าให้นม แบบต่างๆ เพื่อให้ลูกดูดนมได้สะดวกและสบายมากขึ้น

  • เสนอเต้าให้ลูกดูดเสมอ

หากลูกไม่ยอมดูดนมแม่ ให้หยุดและลองทำใหม่ทีหลัง และลองทำอีกครั้งเมื่อลูกกำลังจะนอนหรือเมื่อง่วงมากๆ

  • ใช้จุกนมปลอมแบบใกล้เคียงธรรมชาติ

หากจำเป็นต้องปั๊มนมแม่เก็บไว้ แล้วให้ลูกดูดนมแม่จากขวดนม แนะนำให้เลือกจุกนมที่ออกแบบมาให้ใกล้เคียงกับเต้านมแม่มากที่สุด และหลีกเลี่ยงการใช้จุกนมหลอก เพราะอาจทำให้ลูกสับสน และดูดนมแม่ได้ยากขึ้นค่ะ

  • เพิ่มปริมาณน้ำนม

คุณแม่ที่ลูกไม่กินนมแม่เพราะน้ำนมน้อย สามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมให้ตัวเองได้ โดยการดูแลสุขภาพให้ดี พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ กินอาหารที่มีประโยชน์ และปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการ เพื่อขอคำแนะนำในการเพิ่มน้ำนม

  • ลด หรือหยุดนมชง

ค่อยๆ ลดปริมาณนมชงลง และพยายามให้ลูกกินนมแม่แทน หากเป็นไปได้ ควรหยุดนมชงและให้ลูกกินนมแม่เพียงอย่างเดียว

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ให้นมแม่ยังไง ปลอดภัย ได้น้ำนมที่ดี มีประโยชน์สูงสุด

ไม่เพียงช่วยให้ลูกอิ่มท้องเท่านั้น แต่นมแม่ยังเป็นเหมือนวัคซีนที่อุดมไปด้วยภูมิต้านทาน ช่วยให้ลูกน้อยแข็งแรงเติบโตอย่างสมวัยด้วย หากเปลี่ยนใจลูกน้อยมากินนมแม่ได้แล้ว ต้องไม่ละเลยความสำคัญของการให้นมแม่นะคะ โดยนมแม่ที่ดี ปลอดภัย ได้ประโยชน์ จะต้องมีองค์ประกอบที่ดีต่อไปนี้ค่ะ

  1. ต้องสะอาด

โดยก่อนให้นมลูก หรือก่อนปั๊มนมทุกครั้ง คุณแม่ต้องล้างมือให้สะอาด ใช้ผ้าอ้อมชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดเหงื่อไคลและสิ่งสกปรกบริเวณเต้านมก่อนเสมอ ด้วยการเช็ดจากหัวนมหมุนออกไปยังลานนม แล้วเปลี่ยนผ้าหรือขยี้ล้างน้ำแล้วเช็ดจากในออกนอกอีกครั้ง ทั้งสองเต้า

  1. ต้องให้ความสำคัญกับอาหารที่คุณแม่กิน

คุณแม่ให้นมควรดื่มน้ำให้มากๆ ประมาณ 3 ลิตรต่อวัน และกินอาหารสะอาดให้ครบ 5 หมู่ โดยช่วงหลังคลอด 1 เดือนแรกที่ท่อน้ำนมยังขยายไม่เต็มที่ คุณแม่ควรกินอาหารที่มีส่วนผสมของขิงเพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิตในร่างกาย ทำให้น้ำนมไหลออกได้ง่ายขึ้น ลดขนมที่มีกะทิ ชีส หรือ เบเกอรี่ที่มีนมเนยมาก เพราะจะทำให้น้ำนมข้น มัน และขับออกจากเต้าได้ยาก เสี่ยงต่อปัญหามีก้อนนมในเต้า หรือท่อน้ำนมตันได้ นอกจากนี้ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนกินยาหรืออาหารเสริม รวมถึงยาบำรุงและยากระตุ้นน้ำนมด้วยนะคะ

  1. ต้องพักผ่อนเพียงพอ

คุณแม่หลังคลอดต้องการพักผ่อนมากๆ ควรพยายามนอนหลับทุกครั้งที่ลูกหลับ โดยเฉพาะตอนกลางคืน เพราะฮอร์โมนสร้างน้ำนมจากต่อมใต้สมองจะหลั่งในช่วงกลางคืนมากกว่ากลางวัน ยิ่งในช่วง 10 วันแรกหลังคลอดเรียกว่าเป็นตัวกำหนดปริมาณน้ำนมในอนาคตได้เลยค่ะ คุณแม่จึงต้องพักผ่อนให้มาก ลดหรืองดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดในตอนกลางคืน ที่สำคัญคือ ควรมีคนช่วยงานหรือแบ่งเบางานภายในบ้าน เพื่อให้คุณแม่ได้พักผ่อนมากที่สุด รวมทั้งสภาพแวดล้อมภายในบ้านควรเงียบสงบ ไม่มีเสียงดัง ลูกจะได้ไม่สะดุ้งตกใจง่าย หยุดดูดนม หรือตื่น เพราะคุณแม่ต้องตื่นตามจนพักผ่อนได้น้อยค่ะ

 

ไม่ว่าลูกน้อยจะกำลังดูดนมชงจากขวด หรือเริ่มดูดนมจากเต้าได้บ้างแล้วก็ตาม สิ่งสำคัญที่คุณแม่ต้องจำไว้คือ นมแม่คืออาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูก แม้การเปลี่ยนใจลูกที่ติดนมชงให้หันมาเลิฟนมแม่จะเป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย แต่รับรองค่ะว่าคุ้มค่ากับความพยายามแน่นอน theAsianparent ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกคนนะคะ

 

 

ที่มา : www.phyathai.com

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ลองทำดู! วิธีการให้นมแม่ Step 1-2-3 ลูกปลอดภัย แม่ไม่เครียด

ให้นมลูก เจ็บหัวนม ต้องหยุดไหม แก้ปัญหายังไงให้ดีต่อคุณแม่และลูกน้อย

แม่หน้าอกเล็ก จะมีน้ำนมให้ลูกกินพอไหม

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความโดย

จันทนา ชัยมี