ลูกชอบกัด…อย่ากัดตอบ
ไม่ต้องสงสัยเลยว่านิสัยชอบกัดเป็นพฤติกรรมที่พ่อแม่ขยาดที่สุด การเตะถีบหรือขว้างปาข้าวของอาจอันตรายกว่าก็จริงอยู่ แต่การกัดฝังรอยที่แตกต่างทั้งทางกายและทางความรู้สึก ทำให้เด็กที่ถูกกัดหวาดผวาและพ่อแม่เด็กเดือดดาล จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เด็กชอบกัดมักถูกกันจากสถานรับเลี้ยงเด็ก เพลย์กรุ๊ปหรือพรีสคูลและพ่อแม่ของเด็กเหล่านี้ต้องรู้สึกราวกับถูกสังคมรังเกียจ
พ่อแม่ทุกคนจะกลุ้มใจมากเมื่อลูกฝังฟันน้อยๆ ลงในผิวของพ่อแม่เอง หรือถ้าเคราะห์ร้ายหน่อยก็อาจเป็นผิวของคนอื่น ความคิดที่ว่าจะ “กัดลูกกลับ” จึงดูเหมือนเป็นวิธีเข้าท่าที่สุดที่จะหยุดยั้งพฤติกรรมชอบกัดของลูก แต่นี่ไม่ใช่ทางที่ถูกต้องค่ะ
ฟัน (และ “กรงเล็บ”) เป็นอาวุธที่ธรรมชาติมอบให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งปวง เมื่อลูกรู้สึกว่าถูกคุกคามหรือต้องการอะไรบางอย่าง สัญชาตญาณแรกของลูกคือต้องใช้อาวุธเหล่านี้ ลูกไม่เข้าใจว่าการกัด (รวมทั้งการหยิกและดึงทึ้งผม) เป็นเรื่องต้องห้ามและไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันผิด ดังนั้น เมื่อลูกกัด แม้ว่าจะเบาหรือกัดเล่นๆ ก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ต้องบอกลูกอย่างชัดเจนในทันทีว่าการกัดนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าลูกหอมคุณแล้วเลยเถิดไปเป็นกัด ให้ปล่อยลูกลงจากตักทันทีและพูดอย่างหนักแน่นว่า “ห้ามกัด” ลูกยังเล็กเกินกว่าจะฟังคำอธิบายยาวๆ ว่าการกัดนั้นไม่ดี ตอนนี้แค่บอกลูกว่าต้องไม่กัดไม่ว่าจะในกรณีใดทั้งนั้นก็เพียงพอค่ะ
สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่เผลอให้รางวัลลูกที่กัดคนอื่น แน่นอนว่ารอยกัดจะทำให้คุณตกใจ แต่อย่าอุ้มลูกเด็ดขาด แม้ว่าคุณอยากจะอุ้มเขาขึ้นมาเพื่อดุก็ตาม ถ้าลูกกัดเด็กอื่น ให้คุณมุ่งความสนใจไปยังฝ่ายที่ได้รับบาดเจ็บมากกว่าที่คนกัด เพราะลูกอาจเห็นว่าความสนใจของคุณ (แม้จะในแง่ลบ) เป็นการสนับสนุนให้ทำซ้ำอีก
แก้ปัญหาลูกชอบกัด หน้าถัดไป >>>
การลงโทษลูกที่กัดคนอื่นมักไม่ช่วยหยุดพฤติกรรมดังกล่าว ความจริงแล้วมาตรการลงโทษอาจทำให้เด็กที่กำลังโกรธหรือตื่นเต้นมากอยู่แล้วอาละวาดหนักขึ้นไปอีก และแม้ว่าพ่อแม่หลายๆ คนคิดจะกัดลูกกลับ “เพื่อให้ลูกรู้ว่ามันรู้สึกยังไง” นั้นก็ทั้งเปล่าประโยชน์ทั้งเจ็บตัวค่ะ
เด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถนึกถึงใจเขาใจเรา ลูกจึงมองไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เขาทำกับสิ่งที่คนอื่นทำต่อเขา ยิ่งไปกว่านั้น เด็กเล็ก ๆ เรียนรู้เรื่องทางสังคมด้วยการทำตามอย่างพ่อแม่ การกัดลูกหรือลงโทษด้วยวิธีใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดจึงเป็นแบบอย่างที่เลวร้ายยิ่ง ลูกจะเรียนรู้ได้อย่างไรว่าการกัดเป็นเรื่องต้องห้ามในเมื่อคุณเองก็ทำเช่นกัน
แน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามหยุดพฤติกรรมชอบกัดของลูกให้ได้ แต่การลดตัวลงไปทำตามอย่างลูกไม่ใช่วิธีที่จะหยุดนิสัยนี้ การกระทำที่ก้าวร้าวจะหยุดลงได้ก็ต่อเมื่อผู้ใหญ่เป็นคนหยุด แยกลูกออกจากคนที่ถูกกัดทันที แสดงความห่วงใยต่อคนที่ถูกกัด รับรู้และเข้าใจความรู้สึกของทั้งสองฝ่าย เมื่อลูกพูดได้แล้ว สอนลูกให้รู้จักการต่อรองด้วยคำพูดแทนที่จะใช้ความก้าวร้าว เช่น “เราไม่กัด (หรือตี หรือกระชาก) หนูบอกแม่ได้ไหมว่าหนูต้องการอะไร”