ลูกในท้องตัวใหญ่ น้ำหนักเกิน เสี่ยงคลอดยาก สุขภาพแย่ ทำอย่างไร
คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ทุกท่าน ย่อมต้องการให้ลูกที่อยู่ในท้องนั้นคลอดง่าย เกิดมามีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง ซึ่งน้ำหนักของลูกก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะบ่งบอกได้ว่าสุขภาพโดยรวมของลูกน้อยจะเป็นอย่างไร
คุณแม่บางท่านก็คิดว่าการที่ลูกตัวใหญ่ เมื่อเกิดมาก็จะมีสุขภาพแข็งแรง แต่จริงๆแล้วการที่ ลูกในท้องตัวใหญ่ น้ำหนักเกิน ก็อาจเป็นอันตรายได้นะครับ
ลูกน้อยในครรภ์ ควรมีน้ำหนักตัวเท่าไหร่
น้ำหนักของทารกในครรภ์แต่ละคนนั้นแตกต่างกันออกไปจากปัจจัยหลายๆอย่าง โดยทั่วไปแล้วในประเทศไทยนั้น น้ำหนักที่เหมาะสมของทารกในครรภ์จะอยู่ที่ประมาณ 2,500 – 4,000 กรัม ซึ่งหากทารกในครรภ์มีน้ำหนักตั้งแต่ 4,000 กรัมขึ้นไปถือว่าเด็กอยู่ในเกณฑ์ที่ตัวใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม การที่ทารกในครรภ์ตัวใหญ่ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นเด็กที่สุขภาพไม่ดีเสมอไปนะครับ เพียงแต่จะมีความเสี่ยงมากกว่าเด็กทั่วไป และทำให้ยากต่อการคลอด และอาจเกิดอันตรายตามมาได้
ปัจจัยทางด้านอาหาร กับน้ำหนักของลูกในท้อง
อาหารที่คุณแม่รับประทานเข้าไปตอนท้องมีผลโดยตรงต่อสุขภาพของลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแม่ท้องจะต้องกินเพิ่มขึ้นเผื่อลูกในท้องนะครับ เพราะปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อสุขภาพของลูกน้อยนั่นก็คือคุณภาพของอาหารที่แม่ท้องรับประทานเข้าไป ไม่ใช่ปริมาณของอาหาร เพราะหากว่าแม่ท้องกินเพิ่มมากขึ้นจนเกินไป แทนที่จะเป็นผลดีก็อาจกลับกลายเป็นผลเสียที่อาจส่งผลร้ายต่อลูกในท้อง และอาจทำให้ลูกมีปัญหาสุขภาพตอนที่เค้าโตขึ้นได้นะครับ
อีกทั้งแม่ท้องที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์มากกว่า 24 กิโลกรัม จะมีโอกาสมากเป็น 2 เท่าที่ลูกในครรภ์จะมีน้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัม
ลูกในท้องตัวใหญ่ส่งผลอย่างไร
- มีโอกาสคลอดก่อนกำหนด
- มีความเสี่ยงที่ทารกจะเสียชีวิตในครรภ์สูงกว่าปกติ 3 – 8 เท่า
- อาจทำให้ลูกมีรูปร่างผิดปกติตั้งแต่เกิด
- มีความเสี่ยงเสียชีวิตหลังคลอดเนื่องจากความบอบช้ำที่เกิดจากการคลอดยาก
- มีโอกาสที่เด็กจะเป็นเบาหวานมากกว่าเด็กปกติ
ปัจจัยอื่นๆที่ทำให้ลูกในท้องน้ำหนักเกิน
ปัจจัยอื่นๆนอกเหนือจากการรับประทานอาหารของแม่ท้อง ที่มีผลต่อน้ำหนักตัวของลูกน้อยในครรภ์มีดังนี้
1.อายุของแม่ท้อง
ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หลังอายุ 35 ไปแล้วมักจะมีโอกาสมากที่จะมีลูกตัวใหญ่ แต่ในทางตรงกันข้าม ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ในขณะที่อายุยังน้อยก็มักจะมีลูกตัวเล็กและมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
2.โรคประจำตัว
คุณแม่ที่มีอาการของโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคโลหิตจาง มาตั้งแต่ก่อนที่จะตั้งครรภ์ มักจะมีโอกาสที่ลูกจะมีน้ำหนักมากกว่าเกณ์ที่กำหนดได้เช่นกัน
3.น้ำหนักของคุณแม่ก่อนตั้งครรภ์
ผู้หญิงที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เมื่อตั้งครรภ์ มักจะมีความเสี่ยงที่จะมีลูกตัวเล็กน้ำหนักน้อย ในขณะที่ผู้หญิงที่มีน้ำหนักมาก เมื่อตั้งครรภ์แล้วก็มักจะมีลูกที่ตัวใหญ่กว่าปกติ
4.พันธุกรรม
ยีนจากคุณพ่อและคุณแม่นั้นส่งผลโดยตรงต่อขนาดของทารกในครรภ์ได้เช่นกัน
ป้องกันไม่ให้ลูกในครรภ์ตัวใหญ่ น้ำหนักเกิน ได้อย่างไร
คุณแม่ไม่จำเป็นต้องกินเพิ่มเพียงเพราะเห็นว่ามีอีกหนึ่งชีวิตอยู่ในท้องนะครับ และต้องให้ความสำคัญกับน้ำหนักตัวระหว่างตั้งครรภ์ให้มากๆ โดยทั่วไปแล้ว น้ำหนักตัวของแม่ท้องตลอดการตั้งครรภ์ควรเพิ่มขึ้นประมาณ 10 – 12 กิโลกรัม คุณแม่ท้องจึงควรรับประทานอาหารให้พอเหมาะแต่ได้สารอาหารอย่างครบถ้วน งดอาหารหวานจัด หรือเค็ม เผ็ด เปรี้ยวจัด เพื่อควบคุมน้ำหนักไม่ให้เพิ่มเกินสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัม เพื่อให้ลูกน้อยมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม ส่งผลให้คลอดง่าย และไม่มีปัญหาสุขภาพตามมาภายหลังได้ครับ
ที่มา momjunction.com