เด็กท้องเสีย หรืออาการถ่ายเป็นของเหลว โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้จากการถ่ายที่ผิดปกติ หรืออาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่แสดงถึงความผิดปกติของการขับถ่ายของทารก เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่าการที่ลูกของเราท้องเสียถ่ายเหลว นั้นมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง และจะป้องกันหรือรักษาได้อย่างไร ไปดูกัน
ทารกท้องเสีย เป็นอย่างไร?
ทารกแรกเกิดส่วนใหญ่มักจะมีการถ่ายอุจจาระที่มีลักษณะนุ่มและนิ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพวกเขากินนมแม่เพียงอย่างเดียว พวกเขาก็จะมีการถ่ายหลายครั้งต่อวัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะสังเกตว่าลูกน้อยของคุณมีอาการท้องเสียหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม หากลูกน้อยของคุณมีอุจจาระที่มีมูก มีจำนวนมากผิดปกติ หรือถ่ายบ่อยผิดปกติก็แสดงว่าพวกเขานั้นท้องเสีย ทั้งการทานนมผสมก็สามารถทำให้ทารกท้องเสียได้เหมือนกันแต่มีโอกาสน้อยกว่า และปริมาณอุจจาระ มูก และอาการต่าง ๆ ก็จะเหมือนกับการถ่ายปกติ ซึ่งสังเกตได้ยากมากเช่นกัน
บทความที่น่าสนใจ : ฝึกลูกขับถ่ายได้ตอนกี่เดือน รู้ได้อย่างไรว่าลูกพร้อมฝึกขับถ่ายแล้ว
โรคท้องร่วง กับ ท้องเสีย ต่างกันอย่างไร?
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่กำลังสงสัยเกี่ยวกับเรื่องของคำว่า “ท้องร่วง” และ “ท้องเสีย” ต่างกันอย่างไร ในความเป็นจริงแล้วเป็นโรคที่มีอาการเหมือนกัน แต่ว่าใช้คำเรียกไม่เหมือนกัน โดยแต่ละคนจะเรียกแตกต่างกันออกไป ในทางการแพทย์มักจะเรียกกว่า “อุจจาระร่วง” นั่นเอง
สาเหตุที่ลูกท้องเสีย คืออะไร?
ทารกทุกคนนั้นมีโอกาสที่จะท้องเสียได้ทั้งหมด โดยแต่ละคนนั้นก็จะมีสาเหตุที่ทำให้ท้องเสียแตกต่างกันออกไป มาดูกันดีกว่าค่ะว่าเหตุผลส่วนใหญ่ที่ทำให้ลูกน้อยของเราท้องเสียนั้นมีอะไรบ้าง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
-
การเจ็บป่วยจากไวรัส
แบคทีเรีย เชื้อรา และปรสิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการติดเชื้อที่นำไปสู่อาการท้องเสียในเด็กได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่อยู่ในสถานรับเลี้ยง หรือเด็กที่ใช้เวลาร่วมกับเด็กคนอื่น ๆ เป็นเวลานาน ซึ่งพวกเขาสามารถได้รับเชื้อโรคที่แพร่กระจายได้ง่ายผ่านการสัมผัสร่างกายกัน หรือของเล่นที่มีการแบ่งปันกัน
-
อาหารแข็ง
การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการรับประทานของทารกในช่วงของการเปลี่ยนผ่านระหว่างการดื่มนมเพียงอย่างเดียวสู่อาหารที่เริ่มมีความแข็งเพิ่มมากขึ้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในการเคลื่อนไหวของลำไส้ โดยอาหารที่มักจะทำให้ทารกท้องเสีย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ กลูเตน ถั่วลิสง และหอย ซึ่งทั้งหมดสามารถทำให้เกิดอาการแพ้อาหาร และความอ่อนไหวต่อระบบย่อยอาหารที่นำไปสู่อาการท้องร่วงได้
-
ยา
หากลูกน้อยของคุณต้องรับประทานยา อาทิ ยาปฏิชีวนะ อาจทำให้ปวดท้องและทำให้ถ่ายเหลวได้
-
การเดินทาง
ทารกกับผู้ใหญ่นั้นสามารถเกิดอาการท้องร่วงได้เหมือนกันเมื่อมีการเดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทารก หรือเด็กเล็กอาจมีความเสี่ยงที่สูงมากกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นในการเดินทางที่ต้องใช้เวลานาน จะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ
-
การงอกของฟัน
การงอกของฟันนั้นไม่ใช่สาเหตุโดยตรงของการที่ทำให้ลูกน้อยของเราท้องเสีย แต่การที่ฟันของพวกเขาเริ่มงอก และพวกเขามีความต้องการกัด หรือคันฟัน พวกเขาจะเริ่มมองหาอุปกรณ์บางอย่าง หรือของเล่นเข้าปาก ซึ่งนั่นเป็นผลทำให้ร่างกายของพวกเขาได้รับเชื้อโรค แบคทีเรียต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายที่นำไปสู่อาการเจ็บป่วยและท้องเสีย
ทั้งนี้ทารกสามารถเกิดอาการท้องเสียได้นอกเหนือจากสาเหตุที่สามารถพบทั่วไป หรือว่าเป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน โดยการท้องเสียสามารถเกิดขึ้นได้จากการรับประทานอื่น ๆ เข้าไปในร่างกาย และอาจจะส่งผลทำให้พวกเขามีอาการท้องเสียได้ ดังนี้
-
แพ้นม
การดื่มนมวัวอาจทำให้ทารกอุจจาระเหลว หรือท้องเสียได้ ซึ่งในบางคนอาจมีเลือดออกร่วมด้วย ซึ่งจะพบได้ในทารกตั้งแต่อายุ 2 เดือนขึ้นไปที่รับประทานนมผสม หรือไม่ได้รับประทานนมแม่โดยตรง ซึ่งหากลูกของคุณมีอาการท้องเสียจำเป็นจะต้องหลีกเลี่ยงนมที่มีส่วนผสมมาจากนมวัว
-
แพ้แลคโตส
แลคโตสเป็นน้ำตาลในนม ทารกหลายคนไม่สามารถดูดซึมแลคโตสได้ ดังนั้นจึงทำให้แบคทีเรียในลำไส้เปลี่ยนแลคโตสเป็นแก๊ส ซึ่งส่งผลทำให้มีอาการถ่ายเหลว และท้องอืด ซึ่งจะเริ่มมีอาการเมื่อลูกน้อยของคุณอายุประมาณ 4-5 ปี และโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดกับเด็กที่มีประวัติครอบครัวที่มีอาการดังกล่าวมาก่อน หรือพันธุกรรมนั่นเอง
บทความที่น่าสนใจ : ลูกแพ้นมทำไงดี? สงสารลูกแพ้นม จะรับมืออย่างไรเมื่อลูกแพ้นม
ระดับอาการท้องเสียในเด็ก แบ่งได้อย่างไรบ้าง
อาการท้องเสีย หรืออาการถ่ายเหลวในเด็กนั้นสามารถแบ่งออกเป็นระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไป โดยสามารถทำให้คุณทราบได้ว่าระดับไหนที่คุณสามารถรักษาลูกน้อยของคุณได้เองที่บ้าน หรือจำเป็นที่จะต้องนำส่งแพทย์ในทันที โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- ไม่รุนแรงมาก : ทารกจะถ่ายเป็นน้ำประมาณ 3-5 ครั้งต่อวัน
- ระดับปานกลาง : ทารกจะถ่ายเป็นน้ำประมาณ 6-9 ครั้งต่อวัน
- อาการรุนแรง : ทารกจะถ่ายเป็นน้ำ 10 ครั้ง หรือมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน
ทั้งนี้ความเสี่ยงหลักของการที่ทารกท้องเสียนั้นคือการคายน้ำของร่างกาย หรือการที่น้ำภายในร่างกายถูกรีดออกไปจนหมดผ่านอุจจาระ ซึ่งการที่ทารกอุจจาระเป็นน้ำบ่อยครั้งต่อวันนั้นทำให้ร่างกายของทารกเกิดภาวะขาดน้ำได้
โรคท้องร่วง เด็กท้องเสีย ส่งผลกระทบอะไรต่อร่างกายบ้าง?
หากลูกน้อยของคุณมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง สิ่งแรกที่คุณจะต้องทราบคือพวกเขาจะอยู่ในภาวะขาดน้ำ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทารก เพราะพวกเขาตัวเล็กมากจึงทำให้ภาวะขาดน้ำนั้นมีความเสี่ยงสูงที่เป็นอันตรายต่อชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหาลูกน้อยของคุณมีอาการท้องเสีย อาเจียน และมีไข้ร่วมด้วย ซึ่งจะต้องรีบพาพวกเขาเข้าพบแพทย์ในทันที ทั้งนี้คุณสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นเกี่ยวกับอาการขาดน้ำจากอาการท้องเสียได้ ดังต่อไปนี้
- ปากแห้ง
- ผิวแห้ง
- ไม่ดื่มนม หรือทานอาหาร
- ทานอาหารเพียงเล็กน้อย
- ร้องไห้มีน้ำตา
- ตาบวม
- ง่วงนอนตลอดเวลา
- ไม่ตื่นง่าย
- ไม่มีการถ่ายของเสีย 8-12 ชั่วโมง
ทารกท้องเสีย รักษาอย่างไรดี เด็กท้องเสียทำไง
คุณไม่สามารถหยุด หรือป้องกันอาการท้องเสียของทารกได้ตลอดเวลา แต่คุณสามารถช่วยให้ลูกน้อยของคุณสบายขึ้นได้ โดยคุณสามารถป้องกันภาวะขาดน้ำและอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้เองที่บ้าน โดยส่วนใหญ่แล้ว หากทารกท้องเสียจะดีขึ้นเอง และลูกน้อยของคุณไม่จำเป็นจะต้องเข้าพบแพทย์ ซึ่งคุณสามารถรักษาพวกเขาได้จากที่บ้าน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- ระวังเรื่องของการขาดน้ำของทารก คุณสามารถป้อนนมและน้ำให้พวกเขาได้ตามปกติ เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำร่างกายของเด็ก ๆ
- ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับแผนการรักษาว่าควรให้ทารกดื่มเกลือแร่ หรือมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอย่างไรบ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงอาการท้องเสียในเด็ก
- เปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย ๆ พยายามทำให้ผ้าอ้อมของลูกคุณแห้งที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อช่วยป้องกันการเกิดผื่น หรืออาการระคายเคืองแก่ก้นของเด็ก
- หากลูกน้อยของคุณเริ่มทานอาหารที่มีความแข็งได้แล้ว การให้อาหารที่ช่วยบรรเทาอาการท้องเสียได้ก็ส่งผลทำให้พวกเขาท้องเสียน้อยลงได้เช่นกัน อาทิ แครกเกอร์ ซีเรียบ พาสต้า กล้วย เป็นต้น ทั้งนี้จะต้องระวังอาหารบางประเภทที่จะทำให้อาการท้องเสียกำเริบขึ้นได้ เช่น นมวัว น้ำผลไม้ อาหารทอด อาหารรสจัด เครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับผู้ใหญ่ และยาแก้ท้องร่วง เป็นต้น
ลูกท้องเสียหลายวัน ลูกท้องเสียแบบไหน ถึงจะต้องรีบพาส่งแพทย์ทันที
ถึงแม้ว่าการที่ทารกท้องเสียนั้นจะเป็นเรื่องปกติที่สามารถพบได้บ่อยทั่วไป แต่ถ้าหากอุจจาระของพวกเขามีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ เป็นสีขาว หรือสีแดง ควรรีบพาพวกเขาเข้าพบแพทย์ในทันที โดยอุจจาระสีต่าง ๆ มีความหมายดังต่อไปนี้
- อุจจาระสีอ่อน หรือสีขาว มักเป็นสัญญาณของปัญหาทางด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นกับตับ และอาการท้องเสียอย่างรุนแรง
- อุจจาระสีแดง เป็นสัญญาณของการเตือนว่าภายในร่างกายของทารกนั้นมีเลือดออกอยู่ภายใน
ทั้งนี้รวมถึงอาการที่เด็กเกิดภาวะขาดน้ำ หรือมีการถ่ายเป็นของเหลวมากกว่า 10 ครั้ง หรือมากกว่าต่อวัน ควรนำทารกส่งให้ถึงมือแพทย์ให้ไวที่สุด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ การท้องเสียของเด็ก ๆ นี้ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เลยใช่ไหมคะ เพราะว่าอาจส่งผลต่อชีวิตของพวกเขาได้ ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่ตรวจพบอาการผิดปกติของการขับถ่าย หรือการอื่น ๆ ของทารกที่นำไปสู่ภาวะผิดปกติก็ให้รับนำส่งแพทย์ในทันทีนะคะ เพราะว่าจะได้รีบแก้ไข และรักษาได้ทัน เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยของคุณนะคะ
บทความที่น่าสนใจ :
โรคที่ทารกชอบเป็น ป่วยต้องดูอาการให้ดี บางอาการอาจจะอันตรายกว่าที่คิด
โรคมือ เท้า ปาก ระบาดหนักในเด็กช่วงฤดูฝน พบมากในทารกและเด็กเล็ก
วัคซีนวัณโรค สำคัญต่อทารกแรกเกิดอย่างไร พ่อแม่ต้องรู้
ที่มา : seattlechildrens, healthline, webmd, parents