ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ควรซื้อดีไหม ซื้อแบบไหนดีจึงจะดีที่สุด theAsianparent Thailand จะมาบอกเล่าข้อมูลเกี่ยวกับประกันชนิดนี้ให้ฟังกัน ว่าดียังไง ทำไมถึงควรซื้อ พร้อมทั้งเปรียบเทียบราคาประกันให้ได้ดูกัน
ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล คืออะไร
ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (Personal Accident Insurance) เรียกสั้น ๆ ว่า PA เป็นประกันที่ช่วยคุ้มครองความเสียหายทางด้านร่างกาย ที่เกิดจากอุบัติเหตุต่าง ๆ เริ่มไปตั้งแต่อาการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงสูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต ซึ่งหากผู้ที่ทำประกันได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่ตรงกับเงื่อนไขที่ระบุเอาไว้ ก็จะได้รับค่ารักษาพยาบาลหรือเงินชดเชย นอกจากนี้ ประกันบางชนิดยังช่วยชดเชยรายได้จากการประกอบอาชีพ ที่หายไประหว่างพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลนี้ จะเป็นกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองเพิ่มเติม นอกเหนือจากประกันชีวิตแบบอื่น ๆ
ทำไมต้องทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล
อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า ว่าประกันชนิดนี้ ให้ความคุ้มครองจากอุบัติเหตุต่าง ๆ ตั้งแต่อุบัติเหตุเล็ก ๆ ไปจนเสียชีวิต แถมยังเริ่มทำได้ตั้งแต่อายุ 15 ปี ไปจนถึง 60 ปีเลยทีเดียว และสามารถสมัครผ่านทางออนไลน์ได้
ซึ่งคนที่ควรทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ก็คือคนที่ต้องเดินทางเป็นประจำ หรือใช้รถใช้ท้องถนนอยู่ทุกวัน เนื่องจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดได้บ่อย หากทำประกันชนิดนี้ไว้ จะช่วยให้อุ่นใจได้มากขึ้น หรืออาจจะเป็นหัวหน้าครอบครัว ที่มีหน้าที่หาเลี้ยงคนในบ้าน โดยหากเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน หรือพิการโดยฉับพลัน ก็จะได้รับเงินจากประกันเพื่อมาช่วยเหลือจุนเจือครอบครัว
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง : ประกัน Covid ซื้อแบบไหนดี เปรียบเทียบราคาประกัน อ่านแล้วเข้าใจง่าย
ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล มีกี่แบบ
โดยทั่วไปแล้ว ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลแบบคุ้มครองทั่วไป
เหมาะกับคนที่ใช้ชีวิตไม่ค่อยเสี่ยง เกิดอุบัติเหตุไม่บ่อย ซึ่งค่าเบี้ยประกันต่อปีก็จะไม่สูงนัก โดยอยู่ที่ประมาณ 1,000-2,000 บาทต่อปี
- ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลแบบคุ้มครองขั้นสูง
เหมาะสำหรับคนที่ชอบเดินทาง ใช้ชีวิตโลดโผน ซึ่งอาจเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย โดยประกันประเภทนี้ จะให้วงเงินสูงถึง 1 ล้านบาท ซึ่งก็แน่นอนว่าจะต้องจ่ายเบี้ยประกันสูงกว่าแบบแรก
เปรียบเทียบประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล
หลังจากทำความเข้าใจกันไปบ้างไปเเล้ว เรามาลองเปรียบเทียบประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลจากแต่ละบริษัทกันบ้าง
1. ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล จากไทยประกันภัย
มีทั้งหมด 2 แบบ โดยจะชดเชยเมื่อเกิดเหตุต่าง ๆ ดังนี้
- ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA 365)
เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ : 50,000 บาท
อุบัติเหตุสาธารณะ : 5,000 บาท
ค่าทำศพ : 50,000 บาท
ค่ารักษาพยาบาล : 20,000 บาท
เบี้ยประกัน (บาท/ปี) : 365 บาท
- TIC Happy Now Normal (PA)
เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ : 1,000,000 บาท
อุบัติเหตุสาธารณะ : 3,000,000 บาท
ค่าทำศพ : 10,000 บาท
ค่ารักษาพยาบาล : 100,000 บาท
เบี้ยประกัน (บาท/ปี) : 793 บาท
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ไทยประกันภัย
2. ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล จากธนาคารกสิกรไทย
มี 1 แบบ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ :
รับ 2,000,000 บาท เมื่อเกิดอุบัติเหตุขณะอยู่ในยานพาหนะขนส่งสาธารณะทั่วโลก
รับ 3,000,000 บาท เมื่อเกิดอุบัติเหตุขณะอยู่นอกยานพาหนะขนส่งสาธารณะที่ต่างประเทศ
อุบัติเหตุสาธารณะ : 1,000,000 บาท
ค่ารักษาพยาบาล : 100,000 บาท
เบี้ยประกัน (บาท/ปี) : 3,200 บาท (สำหรับ 1 ปี) และ 8,990 บาท (สำหรับ 3 ปี)
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ธนาคารกสิกรไทย
3. ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล จากไทยประกันชีวิต
ปัจจุบัน ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลของไทยประกันชีวิต มี 5 ประเภท ได้แก่
- Smart Lady PA เป็นประกันสำหรับผู้หญิง ที่ให้ความคุ้มครองทั่วโลก ตลอด 24 ชั่วโมง
เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ :
สูงสุด 200,000 บาท เมื่อเกิดอุบัติเหตุขณะอยู่นอกยานพาหนะ
สูงสุด 100,000 บาท เมื่อเกิดอุบัติเหตุขณะอยู่ในยานพาหนะ
ค่ารักษาพยาบาล : สูงสุด 20,000 บาท
เบี้ยประกัน : ชำระเป็นรายปี
- PA Safety เน้นคุ้มครองทั้งอาการบาดเจ็บเล็กน้อย ไปจนถึงอาการบาดเจ็บขั้นรุนแรง
เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ : สูงสุด 20,000,000 บาท
ค่ารักษาพยาบาล : สูงสุด 300,000 บาท
เบี้ยประกัน : ชำระเป็นรายปี
- โครงการ PA Go เป็นประกันสำหรับคนที่ชอบเดินทางโดยเฉพาะ
เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ : สูงสุด 1,000,000 บาท
ค่ารักษาพยาบาล : สูงสุด 100,000 บาท
เบี้ยประกัน : ชำระได้สองช่องทาง คือ ผ่าน Line Pay และบัตรเครดิต
- PA Extreme เหมาะสำหรับคนที่ชอบทำกิจกรรมผาดโผน คุ้มครองตลอด 24 ชั่วโมง
เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ : สูงสุด 1,000,000 บาท
ค่ารักษาพยาบาล : สูงสุด 50,000 บาท
เบี้ยประกัน : ชำระเป็นรายปี
- PA Broken Bone คุ้มครองทันทีเมื่อกระดูกหัก หรือร่างกายได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ :
สูงสุด 200,000 บาท เมื่อเกิดอุบัติเหตุขณะอยู่นอกยานพาหนะ
สูงสุด 100,000 บาท เมื่อเกิดอุบัติเหตุขณะอยู่บนยานพาหนะ
ค่ารักษาพยาบาล : สูงสุด 20,000 บาท
เบี้ยประกัน : ชำระเป็นรายปี
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : เมืองไทยประกันชีวิต
ส่วนใหญ่ ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล จะคุ้มครองก็ต่อเมื่อผู้ทำประกันมีร่างกายทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ซึ่งบริษัทบางแห่ง จะออกค่าใช้จ่ายในการทำศพให้ผู้เสียชีวิตด้วย นอกจากนี้ บางบริษัทก็ยังมีประกันชนิดพิเศษ เช่น ประกันสำหรับผู้หญิง ที่คุ้มครอง 24 ชั่วโมง ประกันสำหรับผู้ที่ชอบท่องเที่ยว หรือประกันสำหรับผู้ที่ชอบทำกิจกรรมโลดโผน เป็นต้น ซึ่งค่าชดเชยก็แตกต่างกันออกไป แถมประกันบางประเภท ก็ให้ค่าชดเชยมากถึง 1 ล้านบาทเลยทีเดียว หากคนไหนรู้สึกสนใจขึ้นมาแล้วล่ะก็ ให้ลองพิจารณาดูว่าไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของตัวเอง เหมาะกับประกันอุบัติเหตุประเภทไหน
ข้อดีของประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล
เมื่อเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลจะช่วยแบ่งเบาค่ารักษาพยาบาล โดยที่เราไม่ต้องสำรองจ่ายก่อน หรือไปหยิบยืมคนอื่นมา แถมค่าเบี้ยประกันก็คงที่ตลอดระยะเวลาการเป็นสมาชิก และยังสมัครได้ง่าย ไม่ต้องตอบปัญหาสุขภาพมากมาย
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง : ประกันลูกน้อย ประกันสุขภาพเด็ก คุ้มครองสุขภาพเมื่อเจ็บป่วย
สิ่งที่ควรรู้ก่อนซื้อประกันชนิดนี้
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะซื้อประกัน ควรคำนึงถึงเงื่อนไขต่อไปนี้
1. อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น ต้องไม่เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของผู้ทำประกัน ที่ทำไปเพื่อหวังเงินชดเชย
2. ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล จะไม่ให้ความคุ้มครอง หากผู้ทำประกันมีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายมากกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขณะเกิดเหตุ มีอาการติดเชื้อ แท้งบุตร หรือจำเป็นต้องเข้ารับการศัลยกรรม หรือรักษารากฟัน โดยที่อาการดังกล่าวไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ
3. เบี้ยประกันจะสูงขึ้น หากทำอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
4. สัญญาจะสิ้นสุดทันที หากผู้ทำประกันถูกจำคุก ซึ่งบริษัทจะคืนเบี้ยประกันที่เหลือให้
การทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลเอาไว้นั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุร้ายกับเราเมื่อไหร่ อย่างน้อย หากเราบาดเจ็บ ก็ไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน รวมถึงยังได้ค่าชดเชยจากอาการบาดเจ็บอีกด้วย คนไหนที่สนใจหรืออยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม ก็สามารถคลิกลิ้งก์อ้างอิง เพื่อตามไปอ่านรายละเอียดอื่น ๆ ได้เลย
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง : วิธีเลือกประกันสุขภาพ ให้ครอบครัว 100 เรื่องพ่อแม่ต้องรู้ก่อนลูก 1 ขวบ
ที่มา : bolttech , bolttech , tadoo , thaipat