9 วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เมื่อลูกเริ่มก้าวร้าว

หากคุณกำลังเจอปัญหาลูกเริ่มก้าวร้าวละก็ ลองนำวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้ดูนะคะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น การท้าทาย การอยากรู้อยากเห็นจึงเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย หลาย ๆ ครั้ง ที่เรามักจะต้องพูดจาดุดันใส่ลูก ขู่ลูก แต่เหมือนกับลูกไม่ยอมฟัง เริ่มท้าทาย และเริ่มก้าวร้าวมากขึ้น เและนี่คือคำแนะนำที่จะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ของลูก

1. จำไว้ว่าเขาคือลูก ไม่ใช่เพื่อน การสร้างความสัมพันธ์ภายในครอบครัว โดยการให้ความใกล้ชิดกับลูก ให้ลูกรู้สึกว่าเราสามารถเป็นได้ทั้งพ่อแม่และเพื่อนนั้น เป็นสิ่งที่ดีค่ะ แต่ในบางครั้ง การปล่อยให้ลูกล้ำเส้นมากเกินไป ก็สามารถนำไปสู่พฤติกรรมที่ก้าวร้าวได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรขีดเส้นให้ลูกได้รู้ว่า หากเขามีพฤติกรรมที่เกินกว่าเหตุ การกระทำนั้นก็อาจนำไปสู่การได้รับบทเรียนที่คุณพ่อคุณแม่ต้องมอบให้

2. แก้ไขให้รวดเร็ว หากลูกของเราแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและไม่เหมาะสม โปรดอย่ามองข้าม คุยกับลูกให้รู้เรื่องว่า การกระทำที่ลูกทำนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ชอบ และลูกควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้นใหม่ ทั้งนี้ อย่าลืมแนะแนวทางให้กับลูกด้วยนะคะ

3. ควรมีมาตรฐานเดียวกันทั้งครอบครัว การที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูกได้นั้น ต้องไม่มองข้ามการตั้งกฎหรือบทลงโทษให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันก่อน ไม่ใช่ว่า เวลาที่ลูกทำผิด คุณแม่กำลังลงโทษตักเตือนลูกอยู่ แต่คุณพ่อกลับให้ท้าย แก้ต่างแทน หรือไม่ตำหนิพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูก เป็นต้น การทำเช่นนี้ จะทำให้ลูกรู้สึกว่า เมื่อใดที่เขาก้าวร้าว เขาก็มักจะมีคนเข้าข้างเขาเสมอ แล้วแบบนี้ลูกจะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดีได้อย่างไร

4. ให้ลูกเข้าใจถึงพื้นฐานการเข้าสังคม อาจจะฟังดูแล้วไม่สำคัญ แต่เมื่อใดก็ตามที่เขาโตขึ้น การเข้ากับสังคมให้ได้นั้น จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ควรมองผ่าน ยกตัวอย่างเช่น การสอนให้ลูกรู้จักกล่าวทักทายผู้อื่น การพูดขอบคุณเมื่อมีใครทำอะไรให้ และกล่าวขอโทษเมื่อลูกทำผิด เป็นต้น หรืออาจจะสอนให้ลูกรู้จักถึง 3ข. นั่นคือ เกิดเป็นคนนอกจากจะต้องพูดคำว่าสวัสดีให้ติดปากแล้ว การกล่าว ขอบใจ ขอบคุณ และขอโทษ ก็ควรพูดให้ติดปากเช่นกัน

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

5. จงสุภาพกับลูก เมื่อลูกก้าวร้าว แน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่คงจะไม่ชอบเวลาที่ลูกแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวหรือตะคอกใส่ใช่ไหมคะ เช่นเดียวกันค่ะ ลูก ๆ ก็รู้สึกเช่นเดียวกับเรา แต่ลูกยังเล็กเกินกว่าที่จะรู้จักควบคุมอารมณ์ตนเองได้ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องคอยสอนลูกด้วยการใช้คำพูดที่อ่อนโยน เพราะการแสดงน้ำเสียงที่นุ่มนวล จะทำให้ลูกเย็นลง และเริ่มฟังในที่สุด

6. อย่าคาดหวังมากเกินไป สาเหตุหนึ่งของการแสดงความก้าวร้าวของลูกนั้น ก็มาจากการที่คุณพ่อคุณแม่คาดหวังในตัวลูกเกินไป เมื่อคาดหวังแล้วลูกไม่สามารถทำได้ ก็จะทำให้ลูกรู้สึกเกิดความเครียด และแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมาในที่สุด

7. ค่อย ๆ พูดกับลูก ในขณะที่ลูกแสดงความก้าวร้าวอยู่นั้น อย่าเพิ่งเรียกเขามาอธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมเขาถึงไม่ควรทำเช่นนั้น รอให้ลูกอารมณ์เย็นกว่านี้อีกนิดนึงก่อนแล้วค่อย ๆ พูดคุยด้วยเหตุและผล ค่อย ๆ อธิบายว่า ทำไมลูกถึงไม่ควรทำเช่นนั้น หรือการทำเช่นนั้นไม่ดีและจะส่งผลเสียอย่างไร เป็นต้น

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

8. พูดถึงอนาคต หลังจากที่ลูกอารมณ์เย็นแล้วและคุณพ่อคุณแม่เรียกลูกมาคุยด้วยเหตุและผลแล้ว การยกตัวอย่างให้ลูกเห็นถึงผลลัพธ์ของการกระทำเช่นนั้นในอนาคตก็เป็นสิ่งที่ควรทำ ยกตัวอย่างเช่น การที่เขาตีหรือลงไม้ลงมือกับพ่อแม่นั้น นอกจากจะทำให้คุณพ่อคุณแม่เจ็บและเสียใจแล้ว การกระทำดังกล่าวย่อมทำให้คนอื่นมองลูกไม่ดีได้อีกด้วย

9. อย่าเก็บไว้เป็นอารมณ์ เวลาที่ลูกทำไม่ดี หรือพูดจาไม่ดีใส่ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนำสิ่งเหล่านั้นมาเก็บไว้เป็นอารมณ์ ควรมองว่าลูกยังเด็กเกินกว่าจะเข้าใจและควบคุมตัวเอง จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องชี้แนวทางให้กับลูก อย่าเอาเรื่องเก่า ๆ ที่ลูกเคยทำในผิดพลาดอดีตกลับมาว่าหรือตอกย้ำลูกใหม่เด็ดขาด เพราะบางทีลูกอาจจะพยายามทำดีที่สุดแล้ว แต่ตอนนั้นพวกเขาไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้จริง ๆ ก็เป็นได้

นอกจากการท้าทาย จะเป็นสาเหตุหนึ่งของความก้าวร้าวของลูกแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ การเรียกร้องความสนใจจากคนที่พวกเขารัก ดังนั้น คงไม่แปลกที่ลูกจะแสดงพฤติกรรมไม่ดีออกมา เพื่อให้คุณพ่อและคุณแม่สนใจ และคงจะไม่มีสิ่งใดที่จะสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูกมากไปกว่า การแสดงความรักและความเอาใจใส่จากคุณพ่อคุณแม่เอง

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ที่มา: Empoweringparents

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:

ลูกก้าวร้าว พูดว่า "ไม่" ตลอดเวลา

แก้ปัญหา ลูกชอบกัดทำไงดี

บทความโดย

Muninth