ทำอย่างไรเมื่อลูกเป็นเด็ก เอาแต่ใจ
1. พยายามค้นหาว่าลูกมีเหตุผลอะไรที่ทำเช่นนั้น เมื่อลูกเรียกร้องความสนใจจากคุณเป็นอย่างมากและ เอาแต่ใจ ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่องอะไรก็ตามที นั่นอาจเป็นเพราะลูกน้อยรู้สึกสูญเสียคุณไปในวันที่คุณแสนจะยุ่งวุ่นวายกับหน้าที่การงาน หรืออาจเป็นเพราะเขาอิจฉาน้องที่เล็กกว่า ในฐานะที่คุณเป็นพ่อเป็นแม่ คุณไม่ควรมองข้ามสิ่งเหล่านี้ เพราะเมื่อลูกรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความสนใจมากพอ ทำให้เขาทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ความสนใจจากพ่อแม่นั่นเอง ซึ่งก็ทำให้เด็กถูกมองว่าเป็นเด็กเอาแต่ใจ
2. มองหาตัวกระตุ้นพฤติกรรมเอาแต่ใจ สืบเนื่องมาจากข้อแรก เมื่อรู้เหตุผลแล้ว ก็ลองมาดูว่าเมื่อไรที่ลูกจะแสดงอาการเอาแต่ใจ มีอะไรเป็นตัวกระตุ้น เช่น พฤติกรรมเรียกร้องความสนใจ อาจเกิดขึ้นทุกครั้งที่คุณคุยโทรศัพท์กับใครก็ตามที หรือเมื่อคุณให้ความสนใจกับเด็กคนอื่น หรือเมื่อลูกไม่ได้รับของที่ต้องการ ลองสังเกตตัวกระตุ้นพฤติกรรม เมื่อรู้แล้ว ทีนี้ก็จะจัดการกับลูกได้ง่ายขึ้น
3. อย่าลืมคำนึงถึงอายุของลูก เมื่อลูกเอาแต่ใจ อาละวาด งอแงร้องไห้แทบบ้านแตก คุณอาจอดไม่ได้ที่จะพูดว่า “ทำไมหนูทำแบบนี้ล่ะ” แต่ความเป็นจริงแล้ว จำไว้ในใจให้ดีเลยค่ะว่า สำหรับเด็กวัยเตาะแตะหรือเด็กก่อนวัยเรียน พฤติกรรมเรียกร้องความสนใจอย่างมากนี้เป็นเรื่องปกติ แม้จะทำให้คุณปวดหัวมากก็ตาม
4. พูดคุยกับลูกถึงสิ่งที่ลูกทำ คุณไม่ควรละเลยพฤติกรรมการเอาแต่ใจของลูก แต่ตรงกันข้ามพ่อแม่ควรจะต้องบอกลูก ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เขาทำนั้นไม่สมควร
5. อย่าทำให้เรื่องเลวร้ายลงด้วยพฤติกรรมด้านลบ นึกไว้เสมอว่าสำหรับเด็กแล้ว การเรียกร้องความสนใจก็คือการเรียกร้องความสนใจ ไม่ว่ามันจะมาในรูปแบบไหนก็ตาม ซึ่งมันก็ง่ายมากที่ที่พ่อแม่จะติดกับดักนี้ ด้วยการทำให้เรื่องเลวร้ายลงโดยการทะเลาะต่อล้อต่อเถียงกับลูก หรือโต้ตอบด้วยพฤติกรรมที่รุนแรงขึ้น ถ้าสิ่งที่ลูกทำนั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นอันตรายหรือสร้างความเดือดร้อนมากมาย ทางที่ดีที่สุดควรพยายามทำเป็นเฉย ๆ ไม่สนใจ ถ้าคุณจำเป็นต้องทำอะไรสักอย่างกับพฤติกรรมดังกล่าว ให้พูดให้กระชับ สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ พยายามใจเย็นเข้าไว้ และเดินหนีออกม
6. อย่ามัวโทษตัวเอง ความเป็นพ่อเป็นแม่กับความรู้สึกผิดต่อลูกมักจะมาคู่กัน บางทีพ่อแม่ก็รู้สึกผิดต่อลูกแทบทุกเรื่อง เมื่อเกิดเรื่องที่ไม่ดีขึ้น รวมไปถึงการไม่มีเวลาให้ลูกเพียงพอที่จะเลี้ยงดูให้เขาเป็นเด็กที่ว่าง่ายไม่เอาแต่ใจ แต่โชคไม่ดีที่เด็กๆ มักจะจับความรู้สึกนี้ของพ่อแม่ได้ ถ้าลูกขี้เอาแต่ใจของคุณกำลังล้อเล่นกับความรู้สึกนี้ จงอย่าแสดงออกว่าลูกกำลังจี้จุดนี้ของพ่อแม่อยู่ เพราะมันจะทำให้คุณยิ่งรู้สึกผิด และลูกรู้ว่าพ่อแม่ยอมแพ้ให้พฤติกรรมเอาแต่ใจของเขา
7. ลองให้ความสนใจลูกมากขึ้นในด้านบวก ลองสุ่มแสดงความสนใจต่อลูกในแง่บวกให้มากขึ้น เช่น ซื้อของที่ลูกอยากได้ พาลูกไปเดินเล่น พูดชมเชยลูก ก็จะช่วยลดพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจได้ การตามใจลูกในเรื่องด้านบวกเมื่อลูกร้องขอก็เป็นสิ่งที่ดี แต่หากเขาได้รับเมื่อไม่ได้ร้องขอ เขาก็จะรับรู้ได้ว่าพ่อแม่สนใจเขาอยู่แล้วเป็นปกติ โดยไม่ต้องทำตัวเอาแต่ใจ
8. จำกัดขอบเขตพฤติกรรม พฤติกรรมเอาแต่ใจบางอย่างเป็นพฤติกรรมที่น่ารำคาญ แต่บางอย่างก็ถึงขั้นที่รับไม่ได้เลย ถ้าลูกขี้เอาแต่ใจของคุณต้องการเป็นความสนใจหนึ่งเดียวเท่านั้นของบ้าน คุณก็ควรจะจำกัดขอบเขตที่ชัดเจน ด้วยการใช้สัญญาณทางกาย เช่นสายตา มือ สำหรับเด็กโตก็อาจจะต้องใช้การตั้งกฎเกณฑ์ หากผิดกฎจะต้องมีมาตราการลงโทษ เป็นต้น
เมื่อลูกเริ่มกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจ พ่อแม่ควรแก้ไขยังไงดี?
“ลูกเอาแต่ใจ” อาจเป็นปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่หลายๆ คนกำลังเผชิญหน้าอยู่ ซึ่งในช่วงแรกอาจเกิดจากช่วงอายุอย่างวัย 2 ขวบที่ถือเป็นช่วง ‘Terrible Two’ แต่ถ้าลูกเลยวัยช่วงนั้นมาแล้ว อาการเอาแต่ใจยังไม่หายไป ก็อาจจะสร้างความหนักใจให้แก่คุณแพ่อคุณแม่ไม่น้อย วันนี้เรามาทำความเข้าใจกับการที่ลูกเป็นเด็กเอาแต่ใจ รวมไปถึงวิธีการแก้กันดีกว่าค่ะ
เด็กเอาแต่ใจเป็นยังไง ?
เด็กเอาแต่ใจ (Spoiled Child Problems) คือ เด็กที่มีอารมณ์โกรธรุนแรงเมื่อไม่ได้สิ่งที่ตนต้องการ มีพฤติกรรมการไม่ยอมทำตาม อาจได้รับการวินิจฉัยเกินจริงว่าเป็นโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder – ADHD) และ โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) ได้
ลักษณะของเด็กเอาแต่ใจ
- มีอารมณ์โกรธที่รุนแรงมากๆ
- ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เชื่อว่าความต้องการของตนเองสำคัญสุด
- ไม่ประนีประนอมและโต้เถียงอย่างไม่เลิกรา
- แสดงพฤติกรรมการกรีดร้องอาละวาด แม้จะเข้าวัยเรียนแล้ว
- ปฏิบัติกับผู้อื่นเหมือนเป็นสิ่งของ ไม่ใช่คน
- ไม่มีความเคารพต่อกฎเกณฑ์
- ก้าวร้าว หยาบคาย
- มักบ่นว่าเบื่ออยู่เสมอ
ระดับความรุนแรงของเด็กเอาแต่ใจ
- ระดับร้ายแรง (Grandiose/malignant type) มีอารมณ์โกรธอย่างรุนแรง ไม่สามารถระงับได้ พยายามบีบบังคับให้คนอื่นทำตามที่ตนเองต้องการ คิดว่าตนเองสำคัญมากและอยู่เหนือคนอื่น จึงขาดความเห็นอกเห็นใจและมีแนวโน้มที่จะโทษคนอื่น
- ระดับเปราะบาง (Fragile type) มีความพยายามที่จะระงับความไม่พอใจ แต่จะรู้สึกวิตกกังวลและโดดเดี่ยว รวมถึงไขว่คว้าถึงความรู้สึกของการเป็นคนสำคัญหรือคนพิเศษ
- ระดับเรียกร้องความสนใจ (Exhibitionistic) เด็กจะรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญมาก แต่ระดับนี้อาจจะช่วยผลักดันให้เด็กมีความสามารถที่หลากหลาย เช่น การพูดการเขียน การเข้าสังคม โดยอาจทำให้เด็กมีความกระตือรือร้นและมีพลังงานมาก
สาเหตุของเด็กเอาแต่ใจ
จริงๆ แล้วไม่มีสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่พฤติกรรมโดยตรง แต่ต้องเกิดจากเหตุการณ์บางอย่างที่ส่งผลต่อทัศนคติและการแสดงออกของเด็ก เช่น เป็นลูกคนเดียวเมื่อไปเข้าโรงเรียนก็ไม่พอใจที่ต้องแบ่งปันของให้คนอื่น หรือเป็นพี่คนโตที่พ่อแม่ให้ความสำคัญกับน้องมากกว่า จนสร้างพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจ
- เด็กมีความพอใจในความรู้สึกที่ได้รับเพียงชั่วครู่จากการที่พ่อแม่หรือคนรอบข้างตามใจ
- ผู้ปกครองเป็นต้นแบบของความเอาแต่ใจ
- พ่อแม่ช่างเอาใจ (Permissive parents)
- ความรู้สึกว่าอยากโดดเด่นและแตกต่าง
- ความล้มเหลวของพ่อแม่ผู้ปกครองในการเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมของลูก
วิธีการแก้ไขปัญหาเด็กเอาแต่ใจ
พ่อแม่ต้องช่วยเหลือให้เด็กเรียนรู้จากให้โดยไม่หวังผลตอบแทน การเสียสละโดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน และการให้ความสำคัญแก่ผู้อื่นโดยเอาใจเขามาใส่ใจเรา
- เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูก แสดงให้เห็นถึงความเสียสละ ความอดทน หรือการควบคุมตัวเอง
- ไม่ปกป้องลูกมากเกินไป ไม่อำนวยความสะดวกให้เกินความจำเป็น ลองให้ลูกเรียนรู้ที่จะรับมือกับสถานการณ์บางอย่างด้วยตัวเอง
- ไม่ควรชมลูกเกินควร เพราะลูกอาจทำบางอย่างเพื่อเรียกร้องความสนใจและคำชมเชย
- สอนให้ลูกมีความอดทน ลูกควรเรียนรู้ที่จะรอคอย เพื่อป้องกันตัวเองจากอารมณ์โกรธ
- พ่อแม่ไม่ควรใจอ่อนหรือยอมให้พฤติกรรมกรีดร้องอาละวาด (Temper tantrums) ของลูก
- จดจำไว้ว่า “การรักลูก” แตกต่างจาก “การตามใจลูก” โดยสิ้นเชิง
ที่มาจาก : parentsone
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
พ่อโหดตีลูกวัย 8 ขวบ ตัวช้ำเขียวทั้งตัว อาการสาหัส อ้างตีเพราะลูกดื้อ