การตั้งครรภ์ในแต่ละครั้ง คุณแม่จะพบกับความเปลี่ยนแปลง และความแตกต่างอย่างแน่นอน ถ้าคุณกำลังท้องคนที่สอง คุณแม่อาจจะสงสัยว่า ท้องแรกกับท้องสอง แตกต่างกันไหม ต่างกันอย่างไร ในเรื่องของร่างกาย อารมณ์ความรู้สึก และอื่น ๆ มาไขข้อสงสัยนี้กัน
ท้องแรกกับท้องสอง แตกต่างกันยังไง
ความแตกต่างในลักษณะภายนอก ที่สามารถมองเห็นได้ง่าย จะแตกต่างกันดังนี้
- ท้องจะใหญ่เร็วขึ้น คุณจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของท้องที่ใหญ่ชัดขึ้นมากกว่า เมื่อเทียบกับท้องแรกในช่วงอายุครรภ์เดียวกัน ตอนท้องแรกคุณอาจจะใส่เสื้อผ้าธรรมดาไปได้นานหลายเดือนกว่าท้องจะออกมาให้คนอื่นสังเกตกัน สาเหตุที่ท้องสองดูใหญ่กว่าก็อาจเป็นเพราะว่าการตั้งครรภ์ครั้งสองมีการยืดขยายของกล้ามเนื้อหน้าท้องมาแล้วตั้งแต่การตั้งครรภ์ครั้งแรก พอท้องสองหน้าท้องก็จะขยายใหญ่ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม และท้องที่ใหญ่อุ้ยอ้าย อาจทำให้คุณนอนหลับยากขึ้นด้วย
- มีความเหนื่อยล้าที่เพิ่มมากขึ้น การดูแลทั้งตัวเอง ในขณะตั้งท้องคนที่สอง และลูกคนแรกไปพร้อม ๆ กัน จะทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อยเพิ่มมากขึ้น รวมถึงอายุที่เพิ่มขึ้นในระหว่างท้องที่สองก็อาจทำให้เหนื่อยล้าเพิ่มขึ้นได้
- อาการแพ้ท้อง จริง ๆ แล้ว อาการแพ้ท้องอาจจะเหมือน หรือไม่เหมือนกับท้องแรกก็มีค่ะ เพราะเป็นอาการหนึ่ง ที่คุณแม่เกือบทุกคนจะมีประสบการณ์อยู่แล้ว หากท้องแรกคุณแม่มีอาการแพ้ ท้องที่สองคุณแม่ก็มีแนวโน้ม ที่จะมีอาการแพ้ท้องเช่นเดิม ในทางตรงข้าม หากท้องแรกคุณแม่ไม่ได้มีอาการแพ้ท้อง ท้องที่สองคุณแม่ก็มีแนวโน้ม ที่ไม่แพ้ท้องเช่นกันค่ะ แต่ก็ไม่เสมอไปนะคะ ถึงแม้ว่า แม่ ๆ ส่วนใหญ่ จะเป็นแบบนี้ แต่ก็ยังคงมีกลุ่มแม่บางคนที่ท้องแรกไม่แพ้ แต่มาแพ้เอาตอนท้องสองก็มี
- มีการเปลี่ยนแปลงเต้านม ที่คุณแม่จะรู้สึกได้ว่าการตั้งครรภ์ท้องที่ 2 นี้ หน้าอกไม่อ่อนนุ่ม หรือขยายใหญ่เท่าการตั้งท้องครั้งแรก แต่อาการคัดตึงก็จะยังมีอยู่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน นอกจากการคัดตึงแล้ว บริเวณหัวนม และลานหัวนมจะมีสีคล้ำขึ้น ลานหัวนมมีขนาดกว้างขึ้น เช่นเดียวกับท้องแรก ถ้าอึดอัดแล้วล่ะก็ อย่าลืมเปลี่ยนไซส์ของชุดชั้นในตามความเหมาะสม ทำให้การสวมใส่สบายขึ้น และรักษาทรวดทรงของคุณแม่อีกด้วย
- มีความรู้สึกว่าทารกเคลื่อนไหวในช่วงอายุครรภ์ที่เร็วขึ้นกว่าท้องแรก เพราะคุณแม่มีประสบการณ์ในการตั้งครรภ์ครั้งแรกมาแล้ว จึงเริ่มที่จะสังเกตการเปลี่ยนแปลงของลูกน้อยในครรภ์ได้ดีมากขึ้นนั่นเอง คุณแม่จะได้ตื่นเต้นกับสัมผัสจากลูกน้อยที่กำลังดิ้น หรือเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็วขึ้นนั้น เมื่อลูกขยับตัว แม่ ๆ ก็สามารถรับรู้การเคลื่อนไหวของลูกได้ทันทีค่ะ หากคุณแม่ยังจำช่วงตั้งครรภ์ครั้งแรกได้ ตอนนั้น อาการแบบไหนที่เรียกว่าลูกดิ้น หรือลูกเคลื่อนไหว กว่าจะแน่ใจก็ต้องรอให้แสดงอาการชัดเจนขึ้นก่อนจริงไหมคะ
- การบีบหดตัวของมดลูกที่เปลี่ยนแปลง คุณแม่อาจรู้สึกถึงอาการมดลูกบีบหดตัว ในตอนท้องสองเร็วกว่าท้องแรก ในช่วงสัปดาห์ที่ 28 คุณแม่อาจจะมีอาการเจ็บท้องเตือน หรือการเจ็บท้องหลอก นั่นคือ อาการที่มดลูกบีบตัว เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด ที่กำลังจะมาถึง คุณแม่จะรู้สึกเจ็บเป็นระยะ ๆ ส่วนใหญ่ อาการจะเริ่มที่ประมาณ 28 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ ยิ่งใกล้คลอด ก็ยิ่งเจ็บปวดมากขึ้นค่ะ หากคุณแม่ยังจำความเจ็บปวดทรมานนั้นได้ รอบนี้ อาจจะรู้สึกเจ็บปวดมากขึ้นกว่าเดิมไปอีก แต่หากคุณแม่ท่านไหน รู้สึกเจ็บ หรือปวดมาก ๆ แนะนำให้ลองเปลี่ยนอิริยาบท เช่น การลุกเดิน เปลี่ยนท่านั่ง หรือนอน แช่น้ำอุ่น หากทำกิจกรรมที่ใช้แรงให้หยุดพัก
- ใช้เวลาคลอดน้อยลง เป็นไปได้ว่าในครรภ์ที่สองนั้นจะใช้เวลาการคลอดน้อยลงกว่าท้องแรก ถ้าหากยังจำช่วงเวลาก่อนคลอดลูกคนแรกได้ สำหรับคุณแม่ที่คลอดลูกเอง คุณแม่จะใช้เวลาในการคลอดลูกนานมาก เพื่อรอให้ปากมดลูกเปิด และขยายให้กว้างพอ เพื่อให้ลูกน้อยคลอดออกมา ซึ่งอาจต้องใช้เวลามากถึง 8 ชั่วโมง แต่สำหรับในท้องที่สอง คุณแม่จะใช้เวลาที่น้อยลง โดยใช้ระยะเวลาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5 ชั่วโมง และพอในช่วงของระยะการคลอดลูกในท้องแรก คุณแม่จะใช้เวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 3 ชั่วโมง ในขณะที่ท้องสอง จะใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 2 ชั่วโมง ทำให้การคลอดลูกในท้องสองง่ายกว่า
ท้องสองรู้สึกต่างจากท้องแรกอย่างไรบ้าง
พูดถึงความตื่นเต้นและกังวลของท้องแรกนั้น น่าจะมีมากพอสมควร ส่วนท้องสองคุณอาจไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นมากนัก และความรู้สึกกังวลก็ลดน้อยลงด้วย เพราะคุณได้รับคำแนะนำมากมายจากท้องแรกมาแล้ว ที่สำคัญคือ คุณจะมีหลักในการเลือกซื้อของมากขึ้น ไม่ใช่ซื้อทุกอย่างที่เห็นว่าน่ารัก น่าใช้ คุณจะรู้ว่าสิ่งไหนจำเป็นต้องซื้อ และอะไรที่ฟุ่มเฟือยเกินกว่าความจำเป็น คุณจะตระหนักดีถึงสิ่งจำเป็นและลูกน้อยต้องการมากที่สุด และคุณยังสามารถใช้เปลจากลูกคนแรกกับลูกคนที่สองได้ด้วย ประหยัดไปได้อีกเยอะเลยล่ะ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรระมัดระวังในการตั้งครรภ์ท้องที่ 2 นั้น ถ้าคุณแม่เคยมีภาวะโรคแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ครั้งแรก เช่น การคลอดก่อนกำหนด มีความดันโลหิตสูง หรือเคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ก็มีความเป็นไปได้ว่า คุณแม่อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการตั้งครรภ์ท้องที่สองหรือในท้องต่อไปได้ จึงควรหมั่นสังเกตอาการหรือสัญญาณต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ค่ะ
ลงทะเบียนรับการดูแลตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ กับ theAsianparent Thailand ตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรก มาติดตามพัฒนาการของลูกอย่างใกล้ชิด ว่าลูกโตขึ้นแค่ไหนกันนะ ไตรมาสที่ 2 มาฟังเสียงลูกน้อย นับว่าหนึ่งวันลูกดิ้นไหมนะ และ ลูกดิ้นวันละกี่ครั้งด้วยแอพพลิเคชั่น theAsianparent Thailand นี่เป็นแค่ตัวอย่างกิจกรรมบนแอพพลิเคชั่นในส่วนแรก เพราะคุณแม่จะได้รับการดูแล ทั้งอาหารการกิน โดยการออกแบบจากผู้เชี่ยวชาญว่าควรทานอะไรบ้างในแต่ช่วงอายุครรภ์ ยาที่เป็นอันตรายชนิดไหนบ้าง ที่ไม่ควรทาน กิจกรรมใดบ้างที่ทำได้ หรือทำไม่ได้ เคล็ดลับการตั้งชื่อลูกอย่างไรให้เป็นมงคล ทั้งเด็กหญิง และเด็กชาย รวมถึงเตรียมแผนการล่วงหน้าถึงอนาคต การเตรียมคลอด การดูแลตนเองหลังคลอด ที่ครอบคลุมทุกช่วงเวลาที่คุณแม่ต้องการ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ผ่าคลอดท้องแรก แต่คลอดธรรมชาติท้องสอง ทำได้หรือ?
ท้องแรก ท้องสอง ต่างกันไหม การ์ตูนสุดฮา เปรียบเทียบแม่ท้องแรกกับท้องสอง
รักลูกให้เท่ากัน จะต้องทำยังไงดี เมื่อลูกรู้สึกว่ารักพวกเขาไม่เท่ากัน ปัญหาพี่น้อง
ข้อมูลจาก : s-momclub , pregnancyweekbyweekcalendar