กรมควบคุมโรค เตือนโรคมือ เท้า ปาก กลับมาแล้ว! ลูกเล็กต้องระวัง เด็กไปโรงเรียนต้องดูแล พ่อแม่ต้องอ่าน ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคมือเท้าปาก
เด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก
ภาคเหนือพบผู้ป่วย มือ เท้า ปาก มากที่สุด
ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) พบว่า สถานการณ์ในปี 2561 นี้ ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก 2,032 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ รองลงมา ภาคกลาง โดยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีป่วยเป็นร้อยละ 87 ของผู้ป่วยทั้งหมด เด็กอายุ 1-2 ปีพบป่วยมากที่สุด
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาอุณหภูมิลดลงอีกระลอก เริ่มมีรายงานพบการป่วยด้วยโรคติดต่อเป็นกลุ่มก้อนทั้งในโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก มักพบการติดเชื้อโรคในกลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มวัยเรียนบ่อยครั้ง
กรมควบคุมโรคจึงขอให้ครูและผู้ปกครองระมัดระวังโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปากในเด็ก เป็นพิเศษช่วงสัปดาห์นี้
- ซึ่งจะติดต่อจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าทางปากโดยตรง
- เชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย
- หรือติดต่อจากการไอ จามรดกัน
โรคมือ เท้า ปาก พบได้มากในกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี
อาการ เช่น มีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น ส่วนใหญ่จะหายได้เองใน 7-10 วัน โรคนี้ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน จะรักษาตามอาการ หากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที เพราะอาจติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์รุนแรง เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้มากกว่าสายพันธุ์ปกติ
การป้องกันมือ เท้า ปาก ที่ดีที่สุด
การรักษาสุขลักษณะส่วนบุคคล โดยครูและผู้ปกครองควรสอนให้เด็กรู้จักการล้างมืออย่างถูกต้องจนเกิดเป็นทักษะป้องกันโรคระยะยาว ควรส่งเสริมให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ทั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังใช้ห้องน้ำ
ในสถานศึกษาควรจัดให้มีจุดล้างมือพร้อมอุปกรณ์ เช่น สบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งจัดคัดกรองเด็กนักเรียนทุกเช้าก่อนเข้าห้องเรียนเพื่อตรวจดูนักเรียนที่มีอาการแสดงของโรค หากพบเด็กป่วยให้แยกออกมา แจ้งผู้ปกครองมารับกลับและ พักรักษาจนกว่าจะหายเป็นปกติ
5 ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคมือเท้าปาก
1. โรคมือเท้าปาก เป็นแล้วสามารถเป็นซ้ำได้อีก
โรคมือเท้าปากต่างกับโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น หัด หรืออีสุกอีใส ที่เกิดจากไวรัสสายพันธุ์เดียว เมื่อเป็นแล้วมักจะไม่เป็นซ้ำอีกเพราะร่างกายมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคไว้ แต่โรคมือเท้าปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มที่เรียกว่า เอนเตอโรไวรัส (Enterovirus) ได้หลายชนิด หลายสายพันธุ์ แล้วทำให้แสดงอาการออกมาคล้ายกัน เช่น คอกแซคกีไวรัส เอนเตอโรไวรัส 71 ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่ง อาจไม่สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่น แม้จะจัดว่าอยู่ในกลุ่มของเอนเตอโรไวรัสเช่นเดียวกัน จึงสามารถเป็นแล้วเป็นซ้ำได้อีก โดยเฉพาะถ้าเกิดจากเชื้อไวรัสต่างชนิดกันค่ะ
2. โรคมือเท้าปากมีอาการได้ทั้งแบบรุนแรงและไม่รุนแรง
ผู้ป่วยโรคมือเท้าปากส่วนใหญ่ มักจะมีอาการไม่รุนแรง อาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้ ก็ได้ มีแผลในปากเหมือนแผลร้อนในที่บริเวณริมฝีปาก เหงือก เพดานปาก ลิ้น ด้านหลังของคอหอย กระพุงแก้ม มีผื่นสีแดง หรือตุ่มน้ำ บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า อาจพบที่หลังเท้าหรือก้นได้ด้วย ผื่นหรือตุ่มน้ำเหล่านี้จะหายไปภายในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ อาจมีอาการหนัก ดูซึม กินไม่ได้ อยู่เพียง 2-3 วัน จากนั้นจะดีขึ้นภายในเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์
แต่มีผู้ป่วยโรคมือเท้าปากจากเชื้อเอนเตอโรไวรัส 71 ที่อาจมีอาการรุนแรงเพราะเชื้อไวรัสชนิดนี้จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท โดยมีการอักเสบของก้านสมอง ทำให้เกิดภาวะการหายใจและระบบไหลเวียนของโลหิตล้มเหลว ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างรวดเร็วจากภาวะปอดบวมน้ำ เลือดออกในปอด และภาวะช็อก โดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ อาจไม่ต้องมีผื่นแบบโรคมือเท้าปากจากเชื้อไวรัสชนิดอื่นก็ได้
นอกจากนี้โรคมือเท้าปากจากเชื้อคอกแซคกีไวรัส เอ16 ก็อาจทำให้เกิดอาการที่รุนแรงจากภาวะแทรกซ้อน คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และภาวะช็อกได้ แต่พบได้น้อยกว่าเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 มาก
3. หากมีการระบาดของโรคมือเท้าปากเกิดขึ้นอาจต้องมีการปิดโรงเรียน
หากลูกเป็นโรคมือเท้าปากคุณพ่อคุณแม่ควรรีบแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบ เพราะหากมีการระบาดของโรคเกิดขึ้นหลายราย โรงเรียนจะพิจารณาปิดชั้นเรียนที่มีการระบาดนั้นเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หรือหากมีการระบาดเกิดขึ้นในหลายชั้นเรียน ควรปิดทั้งโรงเรียน เพื่อหยุดการระบาด
4. โรคมือเท้าปากไม่มียารักษาจำเพาะ
เนื่องจากโรคนี้ไม่มียารักษาจำเพาะ หลักการรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ ได้แก่ เช็ดตัวลดไข้ ทานยาลดไข้ หยดยาชาในปากเพื่อลดอาการเจ็บแผลในปาก ที่สำคัญคือการสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ซึมลง อาเจียนเยอะ ปวดหัวมาก พูดจาสับสน หายใจดูเหนื่อยๆ ชีพจรเบาเร็ว ปลายมือปลายเท้าดูซีดเย็น ต้องรีบนำผู้ป่วยมาโรงพยาบาลเพื่อการดูแลอย่างใกล้ชิดทันทีนะคะ
5.ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก
ในปัจจุบันยังไม่วัคซีนสำหรับเชื้อเอนเตอโรไวรัสอันเป็นสาเหตุของโรคมือเท้าปาก คุณพ่อคุณแม่จึงต้องเตรียมตัวเตรียมใจรับมือสำหรับการป่วยด้วยเชื้อนี้ในช่วงที่มีการระบาดทุกๆปีค่ะ
อ่านประสบการณ์จริงของคุณแม่และลูกเมื่อต้องเผชิญกับโรคมือ เท้า ปาก
โรคมือเท้าปาก โรคมือเท้าปากในเด็ก โรคหน้าฝน ที่พ่อแม่ต้องระวัง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
จับตาเฝ้าระวัง 5 โรคของเด็กที่มากับหน้าฝน
โรคยอดฮิตหน้าฝน ที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวัง อย่าให้ลูกน้อยติด!
ที่มา : thaihealth