คุณแม่ที่กำลัง ตั้งครรภ์ไตรมาส 3 มักมีเรื่องกังวลมากมายใช่ไหมคะ เพราะขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เคลื่อนไหวได้ไม่คล่องตัวนัก และที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนเลยก็คือ อาการเท้าบวม ริดสีดวง ตะคริวกินบ่อย ๆ เลยทำให้เครียดไปกันใหญ่ บทความนี้จะทำให้คุณแม่เข้าใจถึงสาเหตุ และวิธีบรรเทาอาการต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ก่อนที่จะไปพบคุณหมอค่ะ
อาการที่พบบ่อยของคนท้อง 8-9 เดือน
- อาการบวม มือบวม เท้าบวม
- ตะคริวกินบ่อย
- ริดสีดวงทวาร
- อาการมือชา
- อาการเหนื่อยง่าย
อาการบวม มือบวม เท้าบวม
สาเหตุของอาการบวมนั้น เป็นปฏิกิริยาทางธรรมชาติที่ร่างกายของเรากักเก็บน้ำในเนื้อเยื่อ ทำให้มีปริมาณของเหลวในร่างกายเพิ่มขึ้น อีกทั้งสารเคมีในกระแสเลือดที่เปลี่ยนไปก็ทำให้ร่างกายดูดซึมของเหลวในปริมาณที่มากขึ้นเช่นกัน
นอกจากนี้ ขนาดของมดลูกที่ใหญ่ขึ้น ก็ทำให้กระดูกเชิงกรานกดทับเส้นเลือดดำใหญ่ที่ชื่อว่า เวนาคาวา (vena cava) ซึ่งอยู่ทางด้านขวาของร่างกาย ทำให้ไม่สามารถส่งเลือดจากบริเวณหลังช่วงล่างกลับไปที่หัวใจได้สะดวก
โดยส่วนใหญ่คนท้องจะรู้สึกบวมที่บริเวณข้อเท้า และเท้า หากต้องยืนหรือนั่งเป็นระยะเวลานาน บางคนอาจจะรู้สึกว่าแหวนที่สวมตามนิ้วมือเริ่มคับ หรือมีอาการหน้าบวมหลังจากตื่นนอนร่วมด้วย อาการบวมที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มักเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ในระหว่างวัน เมื่ออากาศเปลี่ยนทั้งร้อนและเย็น อาการบวมก็จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวยิ่งจะทำให้คุณบวมได้มากขึ้น
แม้ว่าอาการบวมอาจทำให้คุณรู้สึกกังวล แต่โดยทั่วไปแล้ว อาการบวมระหว่างตั้งครรภ์โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนนั้น ไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะไม่มีอันตรายต่อคุณและลูกน้อย และไม่ต้องกังวลไปนะคะ อาการบวมระหว่างตั้งครรภ์นี้จะหายไปเองหลังจากคลอดลูก แต่หากบวมมากเกินไป บางครั้งอาจเป็นเพราะความดันเลือดสูงขึ้น จึงควรหมั่นสังเกตอาการและปรึกษาแพทย์หากคุณรู้สึกกังวลหรือสังเกตว่าอาการบวมของคุณเริ่มผิดปกติ
วิธีลดอาการบวม
- การนอนตะแคงสามารถช่วยลดน้ำหนักที่กดทับกระดูกสันหลังได้ แต่เมื่อเส้นเลือดดำใหญ่อยู่ทางด้านขวาของร่างกาย ดังนั้น การนอนตะแคงซ้ายจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด
- ยกขาสูงทุกครั้งที่ทำได้ หากอยู่ที่ทำงานก็ควรหาเก้าอี้ หรือกล่องมาหนุนให้ขาสูงขึ้น
- หลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้าง
- เปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ เพื่อให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ลองยืดขาโดยให้ส้นเท้าแตะพื้นก่อน แล้วค่อย ๆ เหยียดปลายเท้า เพื่อให้กล้ามเนื้อน่องผ่อนคลาย จากนั้นก็ขยับนิ้วเท้าไปมา
- ไม่ควรใส่ถุงเท้าที่รัดแน่น
- ควรเลือกรองเท้าที่สวมใส่สบาย และรองรับการขยายตัวของเท้า
- ดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อให้ร่างกายเก็บน้ำน้อยลง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มซึ่งจะทำให้คุณขาดน้ำได้
- ใช้ผ้านวม ผ้าห่ม หรือหมอนใบใหญ่วางซ้อนกันที่ปลายเตียง เพื่อหนุนให้เท้าสูงขึ้น เวลานอนพลิกตัวปลายเท้าก็ยังคงอยู่สูงกว่าระดับหัวใจ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (แบบเบา ๆ ) เช่น เดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยานอยู่กับที่
ตะคริวกินบ่อย
แม่ท้องแทบทุกคนเคยเป็นตะคริวตอนดึก ๆ มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน ตะคริวนั้นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุจนก่อให้เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงได้
กล้ามเนื้อขาของคนท้อง จะแบกรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น มดลูกที่ขยายใหญ่อาจไปกดทับเส้นเลือดดำใหญ่ของขา ประกอบกับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปขณะตั้งครรภ์ร่วมด้วย นอกจากนี้ ตะคริวยังเกิดจากการขาดสารอาหารบางอย่าง เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม และเกลือในกระแสเลือด เนื่องจากเด็กดึงสารอาหารเหล่านี้ผ่านรกไปใช้เพื่อการเจริญเติบโตในครรภ์ แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าถ้าคุณแม่ทานวิตามินเสริมแร่ธาตุที่คุณขาดแล้วจะช่วยป้องกันตะคริวได้
วิธีป้องกันตะคริว
- ยืดน่อง ยืนห่างจากกำแพง 1 เมตร แล้วใช้มือยันกำแพงไว้ พยายามให้ฝ่าเท้าแบบราบติดพื้นไว้ ทำค้างไว้ครั้งละ 5 วินาที เซ็ตละ 5 ครั้ง ทำสัก 3 เซ็ด โดยเฉพาะก่อนนอน
- ดื่มน้ำเยอะ ๆ อย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน แต่ถ้าหากคุณไม่อยากตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ ก็ลองดื่มน้ำก่อนนอนสัก 2-3 ชั่วโมงก่อนนอน
- หลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้างและการยืนในระยะเวลาติดต่อกันเป็นเวลานาน
- อาบน้ำโดยการนอนแช่น้ำอุ่น แต่หากคุณไม่มีอ่างอาบน้ำก็สามารถใช้ถังน้ำแล้วใส่น้ำอุ่นแช่น้ำตั้งแต่เข่าถึงเท้าได้เหมือนกัน
บทความแนะนำ: เซ็กซ์ขณะตั้งครรภ์
ทำอย่างไรเมื่อสะดุ้งตื่นเพราะตะคริวกลางดึก
สิ่งแรกที่ต้องทำคือยืดกล้ามเนื้อ ยืดขาเริ่มจากส้นเท้าก่อนเป็นอันดับแรก ตามด้วยข้อเท้าและนิ้วเท้าค่ะ ช่วงแรกก็ต้องทนเจ็บหน่อย แต่ว่าความปวดจะค่อย ๆ หายไป ไม่อย่างนั้นก็ลองนวดหรือเดินยืดขาสักพักก่อนกลับเข้าไปนอน หรือถ้าใครอดทนไหว เมื่อรู้ว่าเป็นตะคริวปุ๊บ ให้รีบลุกขึ้นยืนตรง อาจจะใช้มือช่วยพยุงโดยเกาะกำแพงเอาไว้เป็นหลัก วิธีนี้จะช่วยให้ตะคริวหายเร็วขึ้น
บทความแนะนำ: เตรียมตัวโค้งสุดท้ายก่อนคลอด
ริดสีดวง
ช่วงเวลาที่คุณท้อง ทำให้คุณมีโอกาสเป็นริดสีดวงทวารได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมดลูกที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ไปกดทับเส้นเลือดดำบริเวณด้านขวาของร่างกาย ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดบริเวณนั้นทำงานไม่ปกติ ส่งผลให้เส้นเลือดดำบริเวณทวารหนักปูดออกมา ซึ่งมีขนาดตั้งแต่เมล็ดถั่วถึงผลองุ่น เวลาขับถ่ายจึงเกิดการเสียดสีและเกิดเลือดออกบริเวณทวารหนัก สร้างความระคายเคืองและความเจ็บปวดมาก
วิธีการดูแลตัวเองหากเป็นริดสีดวง
- หากพบว่าเป็นริดสีดวงสิ่งแรกที่คุณควรทำคือ พยายามรักษาความสะอาดบริเวณทวารหนัก และใช้กระดาษทิชชูที่นิ่ม ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองเช็ดทำความสะอาด
- ใช้ความเย็นประคบบริเวณที่เป็นริดสีดวงหลายครั้งต่อวัน เพื่อลดอาการบวมของหลอดเลือดดำที่ปูดออกมา
- แช่ก้นในน้ำอุ่นครั้งละ 15 นาที หรือลองแช่น้ำอุ่นสลับกับการประคบน้ำแข็งก็ได้
หรือคุณสามารถดันริดสีดวงให้กลับเข้าไปข้างในทวารหนัก เพื่อลดการเสียดสี โดยก่อนทำควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง วันหนึ่งอาจจะต้องทำหลายครั้งสักหน่อย ถ้าลองทำแล้ว 2-3 วันยังไม่รู้สึกดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์ แพทย์จะดันริดสีดวงกลับเข้าไปให้คุณพร้อมทั้งให้ยาเหน็บก้นเพื่อลดการเสียดสีและหล่อลื่นบริเวณทวารหนัก และยาผสมกับน้ำเพื่อทำให้อุจจาระไม่แข็ง จะได้ถ่ายได้สะดวก ไม่เจ็บและไม่มีเลือดไหล ที่สำคัญคุณควรทานอาหารที่มีกากใยเพื่อช่วยในการขับถ่าย หลีกเลี่ยงการท้องผูก ดื่มน้ำเยอะ ๆ และเวลาท้องคุณไม่ควรซื้อยาทานเองนะคะ
ที่มาอ้างอิง https://www.facebook.com/Bambigardenshop/posts/10153343412555407
อาการมือชา เรื่องจากการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ
โรค Carpal Tunnel Syndrome หรือชื่อย่อคือ CTS เป็นโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนทำงานในออฟฟิส ที่ต้องใช้มือและข้อมือในการทำงานมาก เช่น โปรแกมเมอร์ แต่ก็พบบ่อยในกรณีของคนท้องโดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ เนื่องจากอิทธิพลของฮอร์โมน ร่างกายเปลี่ยนแปลง ทำให้มีการสะสมของน้ำในร่างกายจำนวนมาก จะมีน้ำในร่างกายสูงที่สุด จนช่องหรืออุโมงค์ที่ข้อมือแคบลง ทำให้เส้นประสาทที่ไปเลี้ยงบริเวณมือถูกกดทับ เนื้อเยื่อจะบวมจนรู้สึกชา เจ็บ และปวดที่บริเวณปลายนิ้ว หรืออาจจะเป็นทั้งมือได้
บางรายมีอาการมือขวาชาทั้งมือ ส่วนนิ้วกลางมือซ้ายมีอาการขัด เวลางอแล้วรู้สึกเจ็บ ไม่สามารถคลายออกเองได้ ต้องใช้นิ้วอื่น ๆ ที่มือขวาช่วยง้างออกมา บางรายอาการชาอาจจะมาถึงแขนและต้นแขน รายที่มีอาการรุนแรงอาจจะรู้สึกล้า และไม่มีแรง หยิบอะไรก็หลุดมือไปหมด แต่คุณหมอบอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงไป เพราะเมื่อหลังคลอด พออาการบวมลดลง ช่องที่บริเวณข้อมือก็จะกลับมากว้างเหมือนเดิม อาการชาก็จะหายไปเอง
วิธีลดอาการชา หรือปวดตามมือ
ก่อนอื่นควรหาสาเหตุว่ากิจกรรมอะไรบ้าง ที่ทำให้คุณรู้สึกชา ปวดตามมือ บางครั้งคุณสามารถป้องกันได้ เช่น ถ้าคุณแม่ต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์ ก็ควรหาที่รองข้อมือเพื่อไม่ให้ข้อมืองอ หรืออาจจะใช้สายรัดช่วยรัดพยุงข้อมือ คุณควรพักเป็นระยะเพื่อยืดข้อมือ
คุณแม่ยังสามารถแช่มือในน้ำอุ่นได้ เวลานอนก็พยายามหลีกเลี่ยงการนอนทับมือ ให้วางมือไว้บนหมอนเพื่อหลีกเลี่ยงการกดทับ แต่หากตื่นขึ้นมาแล้วมีอาการชาและปวด ให้สะบัดมือจนกว่าจะรู้สึกดีขึ้น นอกจากนี้การฝึกโยคะสามารถช่วยบรรเทาอาการนี้ได้ เนื่องจากเป็นการฝึกมือให้แข็งแรงขึ้น
อาการเหนื่อยง่าย
อาการเหนื่อยง่ายเมื่อครรภ์ใหญ่ขึ้น เกิดขึ้นเนื่องจากมดลูกขยายใหญ่ขึ้นตามขนาดตัวของเด็กที่เติบโตภายในครรภ์ มดลูกจะดันกระเพาะอาหาร และลำไส้ขึ้นบน ส่งผลให้กระบังลมถูกดันสูงขึ้น นอกจากนั้น มดลูกยังดันผนังหน้าท้องให้ยื่นออกมา ทั้งกระบังลมและผนังหน้าท้องมีส่วนช่วยในการหายใจ จึงไม่แปลกใจที่คุณจะรู้สึกหายใจลำบากเมื่อครรภ์ใหญ่ขึ้น อาการเหนื่อยง่ายเมื่อครรภ์ใหญ่ขึ้นพบได้บ่อย เนื่องจากหัวใจต้องสูบฉีดเลือดเพิ่มมากขึ้น เลือดบางส่วนต้องไปเลี้ยงลูกในครรภ์ เลือดส่วนที่ไปเลี้ยงบริเวณขาจะไหลกลับสู่หัวใจลำบาก โดยเฉพาะเวลายืนหรือเดิน โดยส่วนตัวแล้วนอกจากจะเหนื่อยเวลาเดิน แล้ว แค่นั่งคุยอยู่เฉย ๆ ก็รู้สึกเหนื่อยแล้ว
วิธีลดอาการเหนื่อยง่าย
หากคุณเดินแล้วเหนื่อยหรือหายใจลำบาก ควรค่อย ๆ นั่งยอง ๆ โดยใช้มือใดมือหนึ่งเกาะเสาหรือหลักให้แน่น ควรสูดหายใจลึก ๆ ให้เต็มปอด เลือดจะกลับสู่หัวใจมากขึ้น และเลือดบางส่วนจะไปเลี้ยงสมองมากขึ้น ช่วยลดอาการเหนื่อยและหายใจได้สะดวกขึ้น
บทความแนะนำ: น้ำหนักควรขึ้นเท่าไหร่ เมื่อตั้งครรภ์
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ