11 ข้อห้ามคนท้อง แม่ท้องต้องรู้ ดูแลลูกในท้องให้ปลอดภัย อย่าทำแบบนี้ !

เรารวบรวมมาให้แล้ว 11 ข้อห้ามสำคัญสำหรับคนท้อง สิ่งไหนที่คนท้องห้ามทำโดยเด็ดขาด ! ถ้าอยากให้ลูกเกิดมาแข็งแรง !

11 ข้อห้ามคนท้อง มีอะไรที่คุณแม่วัยครรภ์ไม่ควรทำบ้าง สิ่งไหนที่ทำแล้วเป็นอันตรายต่อลูกน้อย หากอยากให้เด็กคลอดออกมาสุขภาพดี และปลอดภัย คุณแม่ควรศึกษาและระมัดระวังให้ดี วันนี้เราจะมาพูดถึง 11 ข้อห้ามที่คนท้องไม่ควรทำกัน

11 ข้อห้ามคนท้อง คุณแม่ควรพึงระวัง

สูตินรีแพทย์หญิงภัทรพร ภู่ทอง ได้ออกมากำชับให้คุณแม่ดูแลร่างกายตัวเองให้ดีในขณะที่ตั้งครรภ์ เพราะเป็นช่วงที่อวัยวะของเด็กกำลังเจริญเติบโต และยิ่งคุณแม่คนไหนเพิ่งตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก ยิ่งต้องศึกษาข้อห้ามที่ไม่ควรทำให้ดี เพื่อให้ทารกคลอดออกมาได้อย่างปลอดภัย ซึ่ง 11 ข้อห้ามที่คนท้องไม่ควรทำนั้น มีดังนี้

 

1. สูบบุหรี่

คุณแม่ไม่ควรสูบบุหรี่ในระหว่างที่ตั้งครรภ์โดยเด็ดขาด รวมถึงไม่ควรใช้สารเสพติดอื่น ๆ ด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้ สามารถทำอันตรายต่อเด็กในครรภ์ และทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตที่ไม่สมบูรณ์แข็งแรง

 

2. ดื่มแอลกอฮอล์

นอกจากการสูบบุหรี่หรือการใช้สารเสพติดแล้ว คุณแม่ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ เหล้า เป็นต้น เพราะอาจทำให้เด็กมีพัฒนาการการเจริญเติบโตในท้องที่ไม่สมบูรณ์เช่นเดียวกัน โดยอาจทำให้เด็กในท้องมีพัฒนาการช้า คุณแม่มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด หรือเด็กที่เกิดมาอาจพิการและรักษาไม่หายได้

 

3. เครียด

โดยทั่วไปแล้ว ความเครียดส่งผลต่อร่างกายของคนทุกคน ไม่เฉพาะกับแค่คนท้อง หากยิ่งเครียดระหว่างที่ตั้งท้อง ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะเมื่อคุณแม่มีความเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนความเครียดที่ชื่อว่าคอร์ติซอลออกมามาก จนทำให้หลอดเลือดบริเวณมดลูกหดตัว และทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงลูกในครรภ์ได้น้อยลง  จนอาจทำให้เด็กเจริญเติบโตในครรภ์ได้ช้าลง ทำให้คุณแม่มีความเสี่ยงที่จะแท้งลูก หรือคลอดก่อนกำหนด นอกจากนี้ยังอาจทำให้เด็กเสี่ยงเป็นโรคหัวใจเมื่อเกิดมา มีความดันเลือดสูง เป็นเบาหวาน เรียนรู้ได้ช้า สมาธิสั้น และเป็นออทิสติก ซึ่งอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเด็กได้ในอนาคต

 

4. รับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์

ในขณะที่ตั้งครรภ์ คุณแม่จะต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้สารอาหารไปเลี้ยงลูกน้อย ซึ่งก็มีอาหารบางชนิดที่คุณแม่ควรเลี่ยง เช่น อาหารที่เผ็ดจัด อาหารหวาน อาหารมัน อาหารไม่สุก เป็นต้น เพราะอาหารเหล่านี้ อาจทำให้คุณแม่ปวดท้อง หรือรู้สึกไม่สบายท้องได้ นอกจากนี้ คุณแม่ไม่ควรรับประทานอาหารกระป๋อง อาหารที่มีผงชูรส เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนอย่างชาและกาแฟ และน้ำอัดลม เนื่องจากอาหารเหล่านี้อาจมีสารเคมีที่อาจทำอันตรายต่อเด็กได้

 

5. ดื่มนมมากกว่าวันละ 1 แก้ว

หลาย ๆ คนเชื่อว่าต้องรับประทานนมเยอะ ๆ เพื่อช่วยเสริมสร้างแคลเซียมให้ลูกน้อย แต่การรับประทานอะไรที่มากไปนั้นย่อมไม่ดี ซึ่งคุณหมอก็แนะนำมาว่า คุณแม่ควรรับประทานนมวันละ 1 แก้วเท่านั้น โดยเน้นรับประทานนมวัว นมถั่วเหลือง ควบคู่กับการรับประทานปลา ผักใบเขียว งาดำ และอัลมอนด์ ซึ่งหากรับประทานนมในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้เด็กแพ้โปรตีนในนมได้ ดังนั้นจึงควรรับประทานแต่พอดี

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง : อาหารคนท้องไตรมาส 2 สารอาหารแบบไหนบำรุงร่างกายให้แข็งแรง

 

 

6. ทานยาพร่ำเพรื่อ

แม้ว่าการรับประทานยาจะช่วยบรรเทาอาการป่วยได้ แต่ก็ไม่ควรรับประทานมากเกิดไป คุณแม่ที่กำลังท้องนั้น ควรระมัดระวังเรื่องการรับประทานยาให้มาก โดยเฉพาะช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรกหรือไตรมาสที่ 3 ซึ่งในไตรมาสแรก จะเป็นช่วงที่อวัยวะของเด็กเริ่มงอกออกมา และเด็กเองก็จะเริ่มมีพัฒนาการด้านระบบประสาท หากทานยาที่มีส่วนผสมที่ทำอันตรายต่อเด็ก เด็กอาจเติบโตได้ช้า เกิดมาพิการ หรือเป็นปากแหว่งเพดานโหว่ได้ ซึ่งยาที่คุณแม่ควรรับประทานอย่างระมัดระวังคือยาลดสิว และยาสามัญประจำบ้าน ส่วนยาที่รับประทานแล้วปลอดภัยคือยาพารา และยาคลอเฟนิรามีน อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง ก่อนรับประทานยาทุกชนิด เพื่อให้ได้รับคำแนะนำในการรับประทานยาอย่างปลอดภัยจะดีที่สุด ไม่ควรซื้อยามาทานเองโดยเด็ดขาด

 

7. ออกกำลังกายอย่างหนัก

เมื่อตั้งท้องอยู่ ควรออกกำลังกายแต่พอดี ไม่ออกแรงเยอะ หรือหักโหมเกินไป และไม่ควรออกกำลังกายนานเกิน 30 นาที เพราะอาจทำให้ตัวเองเหนื่อย และทำให้เด็กขาดออกซิเจน จนส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก โดยกิจกรรมออกกำลังกายที่เหมาะสำหรับคนท้องได้แก่ การเล่นโยคะ การว่ายน้ำ และการเดินเหยาะ ๆ นอกจากนี้ ในระหว่างที่ออกกำลังกาย ควรดื่มน้ำทุก ๆ 10-15 นาที เพื่อไม่ให้ร่างกายสูญเสียน้ำเยอะเกินไป และช่วยให้ร่างกายระบายความร้อน หากต้องการออกกำลังกายให้หนักขึ้นมาอีก ก็ควรปรึกษาแพทย์ หรือให้แพทย์คอยแนะนำอย่างใกล้ชิด

 

8. ยืนและนอนเป็นเวลานาน

คุณแม่ที่กำลังเข้าสู่ช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสสุดท้าย ไม่ควรยืนเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ขาและเท้าบวม จนทำให้เกิดเส้นเลือดขอดที่ขา และปวดหลัง รวมทั้งยังทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้อีกด้วย นอกจากนี้ คุณแม่ไม่ควรนอนนานเกินไป เพราะน้ำหนักที่ท้อง อาจจะกดทับกระเพาะอาหารและลำไส้ จนทำให้จุกเสียด แน่นท้อง ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดีพอ จนอาจหน้ามืด หรือเป็นลมได้ หากนอนอยู่ แนะนำให้เปลี่ยนท่านอนทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง และหากนั่งอยู่ก็ให้เปลี่ยนท่านั่งบ่อย ๆ เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น

 

9. ท้อง 11 สัปดาห์ ไม่ควรลดน้ำหนัก

คุณแม่บางคนอาจจะไม่มีความมั่นใจในรูปร่างตัวเอง และบางคนก็มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก เลยต้องการที่จะลดน้ำหนัก และพยายามอดอาหารในตอนที่ท้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเด็ดขาด เพราะจะทำให้เด็กได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ และเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดได้ หากต้องการจะควบคุมรูปร่างของตัวเองจริง ๆ ควรหันมารับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รับประทานวิตามินแทนการอดอาหาร หรือปรึกษาแพทย์เรื่องการรับประทานอาหารจะดีกว่า

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง : 15 อาหารคนท้อง ไตรมาส 3 ท้องไตรมาสนี้กินอะไรให้ลูกแข็งแรงมาดูกัน!

 

 

10. อบไอน้ำ อบซาวน่า

หากท้องอยู่ไม่ควรเข้าอบไอน้ำหรือซาวน่าเด็ดขาด เพราะอาจทำให้แท้งลูกได้ เนื่องจากความร้อนจากไอน้ำ จะทำให้คุณแม่ขาดน้ำและเกลือแร่ จนเลือดข้นขึ้นและเส้นเลือดอุดตัน ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายเด็กไม่เพียงพอ และทำให้เด็กเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่

 

11. ท้อง11สัปดาห์ ห้ามเก็บอึแมว

หากมีแมวอยู่ที่บ้าน ไม่ควรเข้าใกล้อุจจาระของแมวโดยเด็ดขาด เพราะอุจจาระแมวมีพยาธิท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) ซึ่งเป็นพาหะนำโรค และอาจทำให้ติดเชื้อได้ หากติดเชื้อเข้าไปแล้ว อาจทำให้เด็กเกิดมาผิดปกติ ร่างกายไม่แข็งแรง หรืออาจทำให้เด็กเสียชีวิตก็เป็นได้

 

อย่าลืมนะคะ ทุกสิ่งที่ทำ และทุกอย่างที่กินและดื่ม ล้วนส่งผลต่อการเจริญเติบโตของลูกในท้อง คุณแม่จึงไม่ควรละเลยที่จะดูแลตัวเอง เพื่อที่ลูกจะได้ออกมาอย่างสมบูรณ์แข็งแรงค่ะ

 

ที่มา : samitivejhospitals

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : 

วิธีดูแลตัวเองตอนท้อง เมื่อเจอโรคที่แม่ท้องเป็นบ่อย คนท้องกินยาอะไรได้บ้าง ปลอดภัยกับลูก

ยาแต้มสิวคนท้อง ยารักษาสิวแบบไหนที่คนท้องใช้ได้-ใช้ไม่ได้

ทารกในครรภ์โตช้า อันตรายที่แม่ท้องต้องระวัง

 

บทความโดย

Tulya