คุณแม่มือใหม่ อาจจะไม่คล่อง และไม่รู้วิธี การชงนม ที่ถูกวิธี เพราะหากชงผิดอาจส่งผลต่อลูกน้อย ทำให้ลูกได้รับสารอาหารน้อยลงได้ วันนี้ theAsianparent จะพามาดูกันว่า การชงนม ที่ถูกต้องควรชงอย่างไร และวิธีชงแบบไหนที่ทำให้ลูกน้อยท้องอืดได้ ไปติดตามกันค่ะ
เรื่องควรรู้ก่อนเตรียมผสมนมสำหรับ การชงนม
- เลือกนมตามอายุของลูก และชงในสัดส่วนตามคำแนะนำข้างกล่อง
- การชงนมห้ามชงทิ้งไว้ ควรกะในปริมาณที่พอดี ถ้าลูกกินเสร็จจะเก็บได้เพียงแค่ 3 ชั่วโมง (ห้ามตากแดด) คุณแม่ควรชิมก่อนให้นมลูกทุกครั้ง
- ทารกชอบกินนมที่ไม่เย็นและร้อนเกินไป การอุ่นนมทำได้โดย นำไปอุ่นลงในชาม หรือหม้อที่ใส่น้ำร้อนไว้ แช่ทิ้งไว้สักครู่ ห้ามนำนมไปอุ่นในไมโครเวฟเด็ดขาด เพราะจะทำให้ความร้อนไม่สม่ำเสมอ และทำให้ลวกปากลูกได้
- นำนมจากตู้เย็นอุ่นร้อนแล้ว ห้ามนำเข้าตู้เย็นอีกเด็ดขาด เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการปนเปื้อนจากเชื้อแบคทีเรีย
- เวลาให้นมลูก หากเป็นเด็กเล็ก ควรอุ้มลูกในอ้อมแขน จับขวดนมเอียงให้เหมาะสม เพื่อป้องกันอากาศเข้าท้องลูก ระหว่างให้นมควรหยุดพัก 1-2 ครั้ง เพื่อไล่ลมเป็นระยะ ๆ
ขั้นตอนการเตรียมนม
- ต้มขวดนมและจุกนม ในน้ำเดือด 10 นาที
- ชงนมใช้น้ำต้มสุก โดยจะต้องต้มให้เดือดจนเห็นฟองอากาศผุดออกมา ให้เย็นลงก่อน จึงนำไปป้อนทารกได้
- น้ำที่ใช้ชงนม ควรมีการปนเปื้อนเชื้อโรคน้อย ปราศจากสารปนเปื้อนต่าง ๆ หากจะใช้น้ำแร่ที่บรรจุขวดควรตรวจสอบปริมาณโซเดียมที่เป็นส่วนผสม ถ้ามากกว่า 20 มิลลิกรัมต่อลิตรจะสูงเกินไปสำหรับทารก
- ห้ามใช้น้ำร้อนจัดในการชงนม เพราะจะไปทำลายโปรตีนและวิตามินบางส่วน และการใช้น้ำร้อนจะทำให้ไขมันอาจจับตัวเป็นก้อนทำให้นมไม่ละลาย
- ใส่น้ำอุ่นประมาณ 1 ใน 3 ของขวดนม ตวงนมผงตามมาตราส่วนข้างกระป๋องด้วยช้อนตวงที่บรรจุมากับกระป๋อง และปาดให้เรียบด้วยมีดที่สะอาด
- ปิดฝาขวด แกว่งขวดเบา ๆ (ไม่จำเป็นต้องเขย่าแรง) หรือใช้ข้อมือหมุนขวดวนเป็นวง เพื่อให้นมผงละลาย และป้องกันการเกิดฟอง
- ก่อนให้นมลูก ทดลองหยดน้ำนมลงบนหลังมือ เพื่อทดสอบว่าอุ่นพอเหมาะ ไม่ร้อนจัดจะได้ไม่ลวกปาก
- นมที่เหลือจากการดูด ควรปิดฝาครอบให้สนิททุกครั้ง
การชงนม ใช้น้ำอุณหภูมิห้องชงได้ไหม ?
นอกจากการใช้น้ำอุ่นชงนมให้ลูกแล้ว ปัจจุบันได้มีการพัฒนานมผงให้สามารถละลายได้ทั้งในน้ำอุณหภูมิห้องและน้ำอุ่น คุณแม่จึงสามารถใช้ทั้งน้ำอุณหภูมิห้องและน้ำอุ่น (เช่น อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส) ชงนมให้ลูกได้ด้วย และความเชื่อที่ว่าลูกกินนมชงจากน้ำที่ไม่อุ่นแล้วจะทำให้ลูกไม่สบายท้อง ท้องอืดจึงไม่เป็นความจริง ที่สำคัญน้ำที่ใช้ชงนมต้องเป็นน้ำสะอาดที่ผ่านการต้มสุกแล้วเท่านั้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีชงนมให้ลูก ชงอย่างไรให้ถูกวิธี
เทคนิคการเขย่าขวดนมให้เกิดฟองน้อย
การเขย่านมให้ละลายเป็นเนื้อเดียวกันจนเกิดฟองอากาศขึ้นในขวด ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการ ท้องอืด ไม่สบายท้องของเด็ก เทคนิคการเขย่าให้เกิดฟองน้อยที่สุดที่เป็นวิธีชงนมที่ถูกต้องนั่นก็คือ การจับขวดนมแล้วหมุนมือเป็นวงกลม (คล้ายการเอาขวดนมแกว่งน้ำ) จะทำให้เกิดฟองในขวดน้อยกว่าการเขย่าขวดนมขึ้นลง และหากเห็นว่าในขวดมีฟอง ควรวางให้ฟองลดลงก่อนนำไปป้อนเด็ก
สำหรับวิธีฆ่าเชื้อล้างขวดนมลูกอย่างปลอดภัย
วิธีการต้ม
- เติมน้ำสะอาดลงในกระทะ หรือหม้อ ที่ไม่เคยปรุงอาหารมาก่อน
- จุ่มอุปกรณ์ที่ต้องการทำความสะอาดลงไป โดยอย่าให้เกิดฟอง
- ปิดหม้อต้มอย่างน้อย 10 นาที ไม่ควรให้น้ำแห้งจนเกินไป
- ปล่อยให้อุปกรณ์คลายความร้อนทีละน้อย และปิดฝาหม้อไว้เหมือนเดิม
- อุปกรณ์ที่เราต้มไปนั้นสามารถอยู่ได้ ประมาณ 3 ชั่วโมงค่ะ
เครื่องนึ่งฆ่าเชื้อไอน้ำระบบไฟฟ้า
- เติมน้ำตามปริมาณที่คู่มือได้บอกไว้
- นำอุปกรณ์ที่ต้องการนึ่ง ใส่เครื่องนึ่งและอุปกรณ์ทั้งหมดต้องแช่อยู่ในน้ำ
- ปิดฝาและเปิดเครื่อง
- ปล่อยให้อุปกรณ์ต่าง ๆ คลายความร้อนลงเล็กน้อยก่อนเปิดฝา
- ใช้ครีมจับจุกนมประกอบขวดนมเพื่อป้องกันไม่ให้ปนเปื้อนเชื้อโรค
- เมื่อไหร่ที่ปิดฝาอยู่อุปกรณ์ต่าง ๆ จะอยู่ในสภาพที่ปลอดเชื้อโรค และควรล้างคราบต่าง ๆ ที่เหลืออยู่ในเครื่องนึ่งให้สะอาดหลังใช้งานด้วยนะคะ
ลูกกินนมทำไมถึงปวดท้อง
- ลูกดูดนมที่มีฟองอากาศมากเกินไป เช่น การดูดนมจากขวด หรือกินนมผงที่มีฟองอากาศเกิดขึ้นระหว่างชงผสมกับน้ำ ทารกอาจท้องอืดได้หากกลืนฟองอากาศมากเกินไป
- ทารกบางรายเกิดอาการท้องอืดเพราะว่าแพ้โปรตีนจากอาหารบางชนิดในนมผง
- หลังจากที่ทารกกินนมเสร็จแล้ว คุณแม่ไม่ได้จับให้ลูกเรอเพื่อขับลม
อาการบ่งบอกว่าลูกท้องอืด
อาการท้องอืด สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ทารกมีอายุ 2-3 สัปดาห์ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตความผิดปกติได้เมื่อลูกน้อยแสดงอาการต่าง ๆ ดังนี้
- ร้องไห้งอแง หงุดหงิด หน้าเริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดง
- กำมือแน่น ยกขาสูง ยืดแอ่นตัว ดิ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะหลังจากที่กินนมเสร็จ
- ลูกท้องป่องมาก ท้องแข็ง เมื่อเอามือเคาะท้องจะได้ยินเสียงเหมือนมีลมอยู่ข้างใน
- ทารกบางคนอาจมีอาการนอนกรน หรือหายใจทางปากร่วมด้วย เพราะท้องอืดทำให้หายใจได้ไม่ดีนัก
- ทารกที่ท้องอืดเป็นประจำ อุจจาระจะมีลักษณะหยาบ
- ทารกอาจผายลม หรือเรอเพื่อขับลมออกมาบ้าง
บทความที่เกี่ยวข้อง : ไซส์จุกนม 100 สิ่งแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 42 เลือกอย่างไรให้เหมาะกับลูก?
ป้องกันลูกท้องอืดอย่างไร
วิธีป้องกันอาการท้องอืดของทารก สามารถทำได้โดยการพยายามไม่ให้ลูกน้อยกลืนอากาศเข้าไปจำนวนมาก รวมไปถึงการรับประทานอาหารของคุณแม่ ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดแก๊สในกระเพาะมาก ซึ่งการป้องกันลูกท้องอืด ทำได้ดังนี้
- ป้อนนมให้ลูกในปริมาณที่พอเหมาะ
- อุ้มลูกน้อยขณะให้นม โดยจัดท่าทางให้เหมาะสม หากคุณแม่ให้นมจากขวดก็ควรอุ้มลูกขึ้นมาเช่นเดียวกับท่าให้นมแม่ โดยยกศีรษะลูกให้อยู่สูงกว่าลำตัวเล็กน้อย จะทำให้น้ำนมไหลลงสู่ท้องได้ดีกว่าให้ลูกนอนดูดนม
- ขณะป้อนนมควรยกขวดนมขึ้นเพื่อป้องกันอากาศไหลผ่านช่องว่างบริเวณจุกนม หรืออาจเอียงขวดนมทำมุม 30-40 องศา เพื่อให้อากาศลอยอยู่ที่ก้นขวด รวมทั้งปรับขนาดรูจุกนมไม่ให้ใหญ่หรือเล็กเกินไป หรือใช้ขวดนมที่ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้ลูกน้อยกลืนอากาศเข้าไปน้อยที่สุด
- ถ้าให้ลูกดูดนมจากขวด อย่าหมุนฝาแน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดลมในขวดนมได้ค่ะ
- หากให้ลูกกินนมผง หลังผสมนมเสร็จแล้วควรทิ้งไว้สัก 2-3 นาที เพื่อให้ฟองอากาศแตกตัวก่อนให้ลูกดูดนมจากขวดค่ะ
- สำหรับคุณแม่ที่กำลังให้นมบุตรก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดแก๊สในกระเพาะมาก เช่น รำข้าว ข้าวโอ๊ต กะหล่ำปลี ถั่วต่าง ๆ อาหารที่ทำจากนม เป็นต้น เพราะอาจส่งแก๊สผ่านปริมาณน้ำนมไปสู่ลูกน้อยได้ และหากลูกหย่านมแล้วก็ควรหลีกเลี่ยงให้ลูกกินอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สมากเช่นกัน
- ควรจับลูกเรอบ่อย ๆ ระหว่างให้นม และหลังให้นม เพื่อไล่ลมที่ลูกอาจกลืนลงไประหว่างดูดนม
การชงนม และการเตรียมนม เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คุณแม่ควรใส่ใจ เพราะหากชงนมไม่ถูกวิธี ก็อาจส่งผลต่อลูกน้อยให้ท้องผูก และไม่สบายท้องได้ นอกจากนี้ การไล่ลมหลังลูกดื่มนม ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ลูกท้องอืด ดังนั้น คุณแม่อย่าลืมให้ความสำคัญกับการเตรียมนมนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
การเปลี่ยนผ้าอ้อมนอกบ้าน 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 78
เมื่อต้องกลับไปทำงานตามปกติ 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 94
การระบายน้ำนม สำคัญมากแค่ไหน? 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 97