โดยนอกเหนือจากดีไซน์เนอร์ทั้งสามแบรนด์แล้ว มูลนิธิเวชดุสิตฯ ยังได้รับการสนับสนุนจากอีกหลายภาคส่วน อาทิเช่น บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบีเอ็นเอช เครือโรงพยาบาลพญาไท เครือโรงพยาบาลเปาโล บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยาแก้ปวดบาคามอล โรงเรียนศรีสังวาลย์ โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ โรงเรียนประชาบดี รวมถึงดารานายแบบ และ นางแบบอันได้แก่ ยิปโซ อริย์กันตา เจมส์ ธีรดนย์ แม๊กกี้ อาภา คิตตี้ ชิชา ก้อง AF9 คริส The Star 9 แจ๊กกี้ ชาเคอลีน พีเค The Face Men จีน่า The Face รวมถึงแขกรับเชิญพิเศษ หนู – นลัทพร ไกรฤกษ์ บก.Thisable.me ดิว – ไพฑูรย์ แซ่จิ้ว นักกีฬาเทเบิลเทนนิสพาราลิมปิก ที่มาร่วมเดินแฟชั่นโชว์ และ วง Mild กับน้องๆ วง Reflection ที่มาช่วยสร้างเสียงดนตรีและสีสันภายในงาน
รศ. อัจจิมา เศรษฐบุตร กรรมการและเลขานุการมูลนิธิเวชดุสิตฯ กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลากว่าสามเดือนจากงานแถลงข่าวที่ผ่านมา มูลนิธิเวชดุสิตฯ และกลุ่มดีไซเนอร์ชั้นนำของไทยที่เข้าร่วมโครงการในปีนี้ได้ทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องในการช่วยกันทำความฝันของน้องๆให้เป็นจริง โดยได้ร่วมกันพัฒนาทักษะ ความสามารถ และเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้แสดงศักยภาพที่ซ่อนเร้นออกมา ผ่านการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์และออกแบบ Adaptive Clothing หรือ เสื้อผ้าดัดแปลงสำหรับผู้มีข้อจำกัดทางร่างกาย ที่นอกจากจะถูกนำมาแสดงและจัดจำหน่ายภายในงานแล้วนั้น น้องๆที่เข้าร่วมโครงการยังสามารถนำประสบการณ์การทำงานร่วมกับมืออาชีพระดับแถวหน้าของเมืองไทยไปต่อยอดตามเส้นทางอาชีพของตนเองได้”
งาน Unlimited Dreams Live Showcase คือกิจกรรมหลักภายใต้โครงการ ความฝันไม่มีวันพิการ ปีที่ 3 ร่วม-ลงมือ-ทำ ซึ่งถือเป็นเวทีที่จะช่วยจุดประกายความฝัน ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และเป็นเวทีที่จะช่วยให้น้องๆ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสได้เห็นว่าความฝันของพวกเขานั้นสามารถเติมเต็มได้ ซึ่งทางมูลนิธิเวชดุสิตฯ พร้อมด้วยโรงพยาบาลในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพดุสิตเวชการ เหล่าดีไซเนอร์ วง Mild ดารา นายแบบ นางแบบ และผู้มาร่วมงานในวันนี้ คือตัวแทนส่วนหนึ่งของสังคมที่พร้อมจะให้การสนับสนุน ให้น้องๆ ได้มีโอกาสเสริมสร้างศักยภาพ ประสบความสำเร็จ และได้ทำตามความฝันที่ไม่มีข้อจำกัดของตนเอง
“จากประสบการณ์การทำงานให้มูลนิธิและร่วมกับ BDMS ทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของฟังก์ชั่นการใช้งานเสื้อผ้า เนื่องจากผู้พิการและผู้ป่วยติดเตียงนั้นมีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย การมีเสื้อผ้าที่สวมใส่และถอดได้ง่ายจะช่วยอำนวยความสะดวก ไม่เพียงแค่กับตัวผู้ป่วยเองแต่ยังรวมไปถึงผู้ดูแลอีกด้วย ความรู้สึกแรกตอนที่เห็นดีไซน์เสื้อผ้า Adaptive Clothing คือดีใจมาก ดีใจที่ได้เห็นว่าผู้พิการและผู้ป่วยจะได้มีโอกาสสวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่ใช่แค่ใช้งานง่ายแต่ยังคงไว้ซึ่งดีไซน์ที่สวยงาม เสื้อผ้า Adaptive Clothing จึงสามารถช่วยลดช่องว่างทางสังคมและช่วยให้ผู้พิการได้มีโอกาสสวมใส่เสื้อผ้าในรูปแบบที่ทุกคนใส่ได้ นอกเหนือจากนั้นมูลนิธิจะนำเอาตัวต้นแบบ Adaptive Clothing ไปใช้ในการฝึกอบรม เสริมสร้างอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้พิการ ซึ่งผู้ที่ได้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้เรียนรู้ทักษะการตัดเย็บเสื้อผ้า Adaptive Clothing ที่จะพัฒนาให้กลายเป็นอาชีพได้ ” รศ. อัจจิมา กล่าวเสริม
กลุ่มดีไซเนอร์ที่ร่วมโครงการ “ความฝันไม่มีวันพิการ ปีที่ 3 ร่วม-ลงมือ-ทำ” นำโดย Patinya (ปฏิญญา) ซึ่งเป็นผู้ออกแบบชุดต้นแบบของ Adaptive Clothing เพื่อที่จะนำไปผลิตจริง และแจกจ่ายให้กับผู้พิการ ผู้สูงวัย และผู้ป่วยที่ขาดแคลน ตามจุดประสงค์ที่ตั้งเอาไว้ ซึ่งการจัดทำเสื้อผ้าดังกล่าวนั้นจะเริ่มขึ้นภายในต้นปีหน้า โดยมูลนิธิเวชดุสิตฯ ยังคงเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้พิการและผู้ป่วยติดเตียงให้ได้มีเสื้อผ้า Adaptive Clothing ใส่ ในขณะเดียวกัน Sretsis (สเรทซิส) ได้ให้ความร่วมมือในการให้โอกาสเยาวชนผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการในการเรียนรู้และสัมผัสการทำงานด้านการออกแบบแฟชั่น ร่วมกับดีไซเนอร์และทีมงานที่เกี่ยวข้องในบรรยากาศการทำงานจริง ส่วน Greyhound Original (เกรฮาวด์ ออริจินัล) ให้ความร่วมมือในการผลิตสินค้าคอลเลคชั่นพิเศษที่น้องผู้พิการมีส่วนร่วมในการออกแบบ โดยรายได้จากการจำหน่ายหลังหักค่าใช้จ่ายในการผลิต จะมอบให้มูลนิธิเวชดุสิตฯ เพื่อใช้ในโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพที่ยั่งยืนให้กับผู้พิการทั่วประเทศต่อไป ผู้ที่สนใจสามารถบริจาคผ่านการโอนเงินเข้าบัญชีมูลนิธิเวชดุสิตฯ ธนาคารทหารไทย เลขบัญชี 214-2-05882-1 หรือ สั่งซื้อเสื้อผ้าคอลเลคชั่นพิเศษจาก Greyhound Original ที่ถูกออกแบบโดยน้องๆจากโรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบริจาคและการสั่งซื้อได้ที่ Facebook: Vejdusit Foundation
“มูลนิธิเวชดุสิตฯเชื่อมั่นมาเสมอว่า เพียงแค่เพราะข้อจำกัดทางร่างกายนั้นไม่สามารถทำให้คนๆ หนึ่งเลิกที่จะทำตามความฝันของตนเองได้ และจะเป็นเรื่องที่ดีมากหากพวกเรานับรวมผู้ที่มีข้อจำกัดทางร่างกายอยู่ด้วยในทุกๆเรื่อง ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องแฟชั่น หรือดนตรี แต่อาจรวมไปถึงเรื่องเทคโนโลยี หรือการศึกษาด้วย” รศ. อัจจิมา กล่าวสรุป
ตลอดระยะเวลา 33 ปี มูลนิธิเวชดุสิตฯ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น ผ่านโครงการช่วยเหลือต่างๆ อาทิ โครงการช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ โครงการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โครงการจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ และ พยาบาลฯ รวมถึงการให้การสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาด้านอาชีพให้แก่ผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ ภายใต้โครงการ “ความฝันไม่มีวันพิการ”
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!