ไวรัสซิกาเชื้อร้ายพันธุ์ใหม่อันตรายต่อแม่ตั้งครรภ์
ไวรัสซิกา (Zika Virus) คืออะไร
ไวรัสซิกา (Zika Virus) เป็นเชื้อไวรัสในตระกูลเฟลวิไวรัส (Flavivirus) ลักษณะคล้ายคลึงกับไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ซึ่งเป็นสาเหตุของไข้เลือดออก รวมทั้งไวรัสเวสต์ไนล์ที่เป็นสาเหตุของไข้สมองอักเสบ และเชื้อไข้สมองอักเสบจีอี ทั้งหมดเกิดจากยุงลายเป็นพาหะ เชื้อไวรัสซิกาถูกค้นพบครั้งแรกจากในน้ำเหลืองของลิงวอกที่ถูกนำมาจากป่าซิกาในประเทศยูกันดาเพื่อใช้ศึกษาไข้เหลือง เมื่อปีพ.ศ.2490และในคนเมื่อพ.ศ.2511ในประเทศไนจีเรีย เชื้อไวรัสซิกาพบได้ในแถบประเทศแอฟริกา ทวีอเมริกา ทวีปเอเชียใต้ และหมู่เกาะในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก
อาการของโรค
ระยะฟักตัวเฉลี่ย 4 – 7 วัน สั้นที่สุด 3 วัน อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ ปวดบวม ปวดหลัง อาจมีอาการอื่น ๆ ได้ เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต และอุจจาระร่วง ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ยกเว้นในหญิงตั้งครรภ์ที่ส่งผลต่อทารกในครรภ์ทำให้มีสมองเล็ก (Microephaly) หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์
พาหะนำโรค
ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นตัวการสำคัญที่นำพาเชื้อไวรัสซิกาและแพร่กระจายในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ซึ่งยุงลายบ้านเป็นพาหะนำไข้เหลือง ไข้เลือดออก และไวรัสชิคุนกุน ความรุนแรงของไวรัสซิกาเป็นเชื้อโรคที่อันตรายและร้ายแรงมาก ปัจจุบันทำได้แค่เพียงควบคุมและลดปริมาณในการขยายตัวของยุงลาย โดยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค
กลุ่มเสี่ยง
กลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ที่เดินทางไปในที่ที่มีการระบาดอย่างกว้างขวาง เช่น ทวีปอเมริกา และทวีปแอฟริกาตะวันตก โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ อาจเกิดการติดเชื้อส่งผลให้ทารกในครรภ์มีขนาดศีรษะที่เล็กผิดปกติและสมองฝ่อได้ ส่วนในประเทศไทย นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อ ให้ข้อมูลว่า พบผู้ป่วยตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 โดยเฉลี่ยปีละประมาณ 5 ราย ซึ่งไม่ถือว่าสูงผิดปกติ อัตราป่วยใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน อย่างไรก็ตามประเทศไทยมีการเฝ้าระวังโรคนี้แล้วตั้งแต่ปีพ.ศ.2555
การตรวจวินิจฉัยโรค
นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อ กล่าวว่าการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อโดยการตรวจเลือดผู้ป่วยในระยะเฉียบพลันเพื่อตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสซิกา ส่วนการตรวจหาแอนติบอดีไม่สามารถใช้ได้ เนื่องจากมีผลบวกสูงและสามารถส่งเลือดมาตรวจได้ที่สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้งคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การรักษา
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยารักษาเฉพาะโรค เพียงแต่รักษาตามอาการ รัฐบาลประเทศเอกวาดอร์ จาเมกา โคลอมเบีย และเอลซัลวาดอร์ แนะนำให้ผู้หญิงที่วางแผนจะตั้งครรภ์ ชะลอการมีบุตรออกไปก่อน 8 เดือน เพื่อลดความเสี่ยงที่ทารกจะพิการจากการที่มารดาติดไวรัสซิกา เนื่องจากในขณะนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขยังไม่สามารถควบคุมและหาวิธีป้องกันการติดต่อของไวรัสได้ และข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับโรคนี้ก็ยังมีน้อยเกินไป
สถานการณ์ของไวรัสซิกาในประเทศไทยและต่างประเทศ
จากรายงานขององค์การอนามัยโลก พบว่า เชื้อไวรัสซิกาได้ระบาดหนักในแถบทวีปอเมราใต้อย่างหนักตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2558 โดยเฉพาะในประเทศบราซิลและโคลอมเบีย ซึ่งประเทศบราซิลถือว่าเป็นประเทศที่มีการระบาดอย่างหนักที่สุดถึงขั้นต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน หลังพบเด็กทารกติดเชื้อและมีความผิดปกติของสมองกว่า 4 พันราย ส่วนในประเทศโคลอมเบียมีการคาดการณ์ว่า การระบาดของเชื้อไวรัสซิกาอาจทำให้มีผู้ป่วยถึง 6 – 7 แสนราย ทางกระทรวงสาธารณสุขโคลอมเบียจึงออกประกาศแนะนำให้สตรีเลื่อนกำหนดการตั้งครรภ์ออกไป 6-8 เดือนเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสซิกา
สำหรับประเทศไทย หลังพบการติดเชื้อไวรัสซิกาของนักท่องเที่ยวจากประเทศคานาดาเมื่อปีพ.ศ.2556 ก็ยังไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่แต่อย่างใด แต่คงมีการเฝ้าระวังการติดเชื้อจากกรมควบคุมโรคติดต่ออย่างใกล้ชิด
ส่วนผู้เดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาด รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในประเทศไทย มีอาการไข้ ออกผื่น ตาแดง หรือปวดข้อ สามารถมารับการรักษาและปรึกษาได้ที่คลินิกเวชศาสตร์การท่องเที่ยวและการเดินทาง สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และสามารถรับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง
อ้างอิงข้อมูลจาก
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เตือน “หญิงมีครรภ์”หลีกเลี่ยงเดินทาง 42 ประเทศเสี่ยง”ไวรัสซิกา”