เรื่องที่มีการพูดกันปากต่อปาก และทำสืบต่อกันมาอย่างมากมายเรื่องหนึ่งก็คือ ให้ลูกอาบน้ำต้มใบมะขามหัวหอม ต้มน้ำอาบ กับ ใบมะขาม เพื่อให้ลูกหายจากอาการหวัด ซึ่งมีความเข้าใจกันว่าในหัวหอมมีสรรพคุณช่วยขับลม แก้ท้องอืด ช่วยย่อยอาหาร แก้บวมน้ำ และแก้อาการอักเสบต่าง ๆได้ อีกทั้งยังช่วยให้ร่างกายอบอุ่น
โดยในตำราแพทย์แผนไทยและตำราหมอพื้นบ้านก็มีการระบุไว้ว่า ตะไคร้ หอมแดง ใบมะกรูด มีฤทธิ์บำบัดโรคในอก ส่วนใบมะขามมีรสเปรี้ยวล้างพวกเสมหะต่าง ๆ ได้ ตำรายาไทยบางตำรา ก็ใช้หัวหอมแดง ผสมรวมกับเหง้าเปราะหอมสุมหัวเด็ก แก้หวัดคัดจมูก ช่วยให้เด็กหายใจได้คล่องขึ้น หรือเป็นการระบายน้ำมูก และเคลียร์จมูกให้ลูกได้
วิธีการใช้ใบมะขามและหัวหอมอาบน้ำให้ลูก ที่นิยมใช้กันก็คือ นำใบมะขามและหัวหอมมาล้างทำความสะอาด แล้วต้มใบมะขามและทุบหัวหอมแดงใส่ลงไปด้วย ในปริมาณที่พอเหมาะอย่าให้มากเกินไป เพราะจะทำให้ลูกจะรู้สึกแสบร้อน รอจนน้ำเดือด หรือพออุ่นๆ แล้วจึงปิดไฟ หลังจากนั้นก็ตั้งทิ้งไว้ให้เย็นพอที่ลูกจะอาบได้ แล้วจึงนำมาอาบให้ลูก หลังจากอาบน้ำเสร็จแล้วก็เช็ดตัวให้ลูกเหมือนปกติ
หลายครอบครัวก็ให้อาบตั้งแต่ลูกยังมีอายุได้ไม่กี่เดือน แต่โดยส่วนมากแล้ว ถ้าเด็กเล็กมากก็จะไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้ เพราะร่างกายของเด็กเล็กๆยังบอบบางอยู่
อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันจากแพทย์แผนปัจจุบัน ว่าใช้แล้วได้ผลหรือไม่ และมีจะมีอาการข้างเคียงอย่างไร แม้ว่าวิธีการนี้จะเป็นวิธีแบบไทยๆ ที่คุณแม่หลายรุ่นใช้กันมาแล้วได้ผล แต่ด้วยเหตุผลที่ยังไม่มีการยืนยันทางการแพทย์ จึงทำให้คำตอบที่ว่าให้ลูกอาบน้ำต้มใบมะขามหัวหอม ช่วยแก้หวัดได้จริงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละท่าน และต้องใช้ความระมัดระวัง โดยการให้ลูกอาบน้ำต้มใบมะขาม ก็มีข้อควรระวังดังนี้ครับ
- ระวังเรื่องความสะอาด เพราะเด็กในวัยนี้มีผิวหนังที่บอบบาง ภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงเต็มที่ จึงอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ง่าย
- ระวังอย่าให้น้ำเข้าหู เข้าจมูก หรือดวงตา เพราะอาจทำให้เกิดอาการแสบตา และทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้
- หากลูกมีบาดแผล ไม่ควรใช้วิธีนี้นะครับ เพราะถึงแม้ว่าหอมแดงจะมีสรรพคุณเป็นยา ช่วยรักษาแผลได้ แต่ก็อาจจะทำให้แผลของลูกอักเสบ ระคายเคืองได้เช่นกัน
- หากลองวิธีการนี้แล้วอาการหวัดยังไม่หาย แนะนำให้พาลูกไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาจะดีที่สุดนะครับ
คุณพ่อคุณแม่ท่านใดที่เคยลองให้ลูกอาบน้ำต้มใบมะขามหัวหอม แล้วช่วยแก้หวัดได้ผลหรือไม่อย่างไร อย่าลืมมาร่วมบอกเล่าประสบการณ์กับเราและคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นๆได้ในช่องคอมเมนต์ด้านล่างนี้เลยนะครับ
ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก
คุณวรยุทธ บุญเลิศวรกุล, คุณ Sivagon Nik Nik, คุณ thanrada a-care namkaew
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
เช็คด่วน! รูเล็กๆข้างหูของลูก สัญญาณร้ายที่ไม่ควรมองข้าม
ตารางอาหารที่เด็กควรได้รับใน 1 วัน กินอย่างไรหลังหย่านม ให้ลูกฉลาดและแข็งแรง