จากการคำนวณวิเคราะห์ทางสถิติของกลุ่มประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ 7 ประเทศรวมทั้งประเทศไทย พบว่าในทารกแรกเกิดถึง 2 ปี การให้ลูกได้กินนมแม่นั้นจะลดอัตราเสียชีวิตของทารกจากการท้องเสียและปอดบวมลงได้กว่าร้อยละ 50 และหากแม่ได้ให้ทารกกินนมแม่จนถึง 2 ปีได้ร้อยละ 90 ก็จะช่วยให้แม่ลดการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านมได้ถึงร้อยละ 10 ด้วย
มีผลจากการสำรวจในประเทศไทยปี 2547 พบว่า เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ถือเป็น 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงทั้งหมด และเป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ของเด็กเล็กในประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งสูงถึง 22% เพราะโรคอุจจาระร่วงทำให้เด็กต้องสูญเสียน้ำในร่างกายจนเกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ในช่วงแรก และตามด้วยภาวะขาดสารอาหารในช่วงหลัง ซึ่งอาจรุนแรงจนส่งผลให้เด็กเกิดอาการช็อกหรือเกิดโรคติดเชื้อแทรกซ้อน เช่นจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา ที่ปนเปื้อนมากับอาหารและน้ำไม่สะอาด รวมถึงนมผงที่ไม่ได้ผสมในภาชนะที่ล้างทำสะอาดเพียงพอ หรือการที่เด็กชอบดูดนิ้ว อมมือ ก็ทำให้รับเชื้อโรคเข้าทางปาก จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กเล็กเกิดโรคอุจจาระร่วงและรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ประโยชน์ “นมแม่” ลดความเสี่ยงโรคติดเชื้อ ลดอัตราการเสียชีวิตของลูก
ในปี 2556 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ทบทวนงานวิจัยต่าง ๆ และสรุปว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่จะมีอัตราเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงมากกว่าเด็กกินนมแม่ถึง 63% เป็นเพราะทารกที่ถูกเลี้ยงด้วยสารอาหารอื่นจะไม่ได้รับสารภูมคุ้มกันและสารอาหารอื่น ๆ เหมือนที่มีอยู่นนมแม่ ซึ่งจะทำให้เด็กกลุ่มนี้มีโอกาสป่วยบ่อย และป่วยรุนแรง หรือมีแนวโน้มที่จะมีโอกาสเสียชีวิตได้มากกว่า ซึ่งสำหรับทารกที่ได้กินนมแม่นั้น จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเข้าโรงพยาบาลเพราะอุจจาระร่วงได้ถึง 72% และลดอัตราการเสียชีวิตเพราะอุจจาระร่วงได้ถึง 77%
ทั้งนี้ สถาบันกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (American Academy of Pediatrics) ยังยืนยันด้วยว่า ทารกที่กินนมแม่ จะลดโอกาสการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่างได้ถึง 72% และความรุนแรงของอาการป่วยด้วยโรคหลอดลมฝอยอักเสบที่เกิดจากไวรัส RSV ในเด็กที่กินนมแม่อย่างเดียวตลอด 4 เดือนก็ลดลง 74% เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่หรือกินบางส่วน
โอกาสทองของลูกที่ได้กินนมแม่แรกเกิดถึง 2 ปี
ในช่วงแรกเกิดถึง 2 ปี โดยเฉพาะ 6 เดือนแรกเป็นช่วงที่เปราะบางของชีวิตทารก ระบบภูมิคุ้มกันของทารกแรกเกิดยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ทำให้ต้องพึ่งพากลไกการป้องกันเชื้อโรคจาก “นมแม่” ที่มีสารภูมิคุ้มกันช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ ได้มาก โดยเฉพาะในหัวน้ำนมแม่หรือ Colostrum (น้ำนมเหลือง) ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงเดือนแรกหลังคลอด ที่มีสารภูมิคุ้มกันสูงมากเรียกได้ว่าเป็น “วัคซีนหยดแรก” ของลูกก็ว่าได้ นอกจากนี้ในน้ำนมแม่ยังมีสารที่ช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อโรคจับกับเซลล์ของร่างกาย และสารต่อต้านการอักเสบซึ่งเป็นประโยชน์ต่อลำไส้ของทารก ตลอดจนมีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติก ที่เป็นอาหารของแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ใหญ่ด้วย ดังนั้นโอกาสทองของลูกสามารถเริ่มต้นให้ลูกได้ตั้งแต่แรกคลอด ยิ่งคุณแม่เริ่มต้นให้นมลูกได้เร็วเท่าไหร่ก็จะส่งผลดีต่อร่างกายลูกน้อยและช่วยปกป้องลูกจากการติดเชื้อต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น.
ขอบคุณที่มา : www.thaibreastfeedingcampaign.net
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ให้นมแม่ ดีอย่างไร?
ประโยชน์ดี๊ดีของการให้ “นมแม่” ที่ทั้งแม่&ลูกได้รับ