โรคเท้าปุก สาเหตุลูกรูปเท้าผิดปกติและวิธีรักษาโรคเท้าปุก

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

โรค เท้าปุก เป็นโรคความผิดปกติที่เท้าซึ่งมักเกิดกับเด็กตั้งแต่แรกเกิด ส่งผลให้มีเท้าบิดผิดรูปหรือผิดตำแหน่ง และอาจเกิดกับเท้าเพียงข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้ โดยแพทย์จะแนะนำให้เด็กที่เป็นโรคนี้เข้ารับการรักษาทันทีหลังคลอด เพราะหากปล่อยไว้จนเด็กเข้าสู่วัยที่เริ่มยืนหรือเดินได้แล้ว อาจก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงถึงขั้นไม่สามารถเดินได้ แต่เด็กส่วนใหญ่ก็จะหายเป็นปกติได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด

เท้าปุก Clubfoot

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านเมื่อเห็นลักษณะเท้าของลูกผิดปกติ มักเป็นกังวลว่าลูกอาจจะเดินไม่ได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป หรืออาจพิการ แต่ความจริงแล้ว โรคเท้าปุกถือว่าเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ผลดีเลยทีเดียว ถ้าเด็กได้รับการรักษาตั้งแต่ อายุยังน้อยๆ ก็สามารถดัดให้เข้ารูปร่างใกล้เคียงปกติได้ตั้งแต่แรกเกิด

เท้าปุกอาจเป็นเพียงข้างเดียวหรือเป็นทั้งสองข้างก็ได้ โดยเท้าจะมีลักษณะที่บิดหมุนเข้าด้านในและมีปลายเท้าที่จิกลงดังรูป ผู้ปกครองมักกังวลว่าเด็กจะเดินไม่ได้เมื่อโตขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กที่ไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ยังเด็กก็สามารถเดินได้ โดยใช้ส่วนหลังเท้าเป็นส่วนที่ลงน้ำหนักและสัมผัสพื้น เมื่อโตขึ้นส่วนนั้นจะมีลักษณะหนาและด้านขึ้นมา และรูปเท้าแบบนี้ทำให้เด็กไม่สามารถใส่รองเท้าแบบปกติทั่วไปได้

ปัจจุบันเรายังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน เพราะจากการศึกษาเด็กที่มีเท้าปุก พบความผิดปกติที่อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดเท้าปุกได้หลากหลาย ทั้งเรื่องของพันธุกรรม การมีกระดูกบริเวณข้อเท้าที่ผิดรูปแต่กำเนิด การเคลื่อนของกระดูกบริเวณข้อเท้า ในเด็กบางคนพบว่ามีกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบางมัดที่ผิดปกติหรือหายไป บางคนพบว่ามีพังผืดอยู่ในกล้ามเนื้อบริเวณข้อเท้า บางคนพบว่ามีเส้นเลือดบางเส้นที่ผิดปกติหรือขาดหายไป สิ่งเหล่านี้อาจเป็นผลที่ตามมาหรือเป็นสาเหตุของเท้าปุกก็ได้ แต่ปัจจุบันยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด

เท้าปุกพอจะแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ

คือแบบที่ไม่ทราบสาเหตุ เราเรียกว่า Idiopathic clubfoot ซึ่งยังแบ่งได้อีก 2 แบบ คือ แบบที่เท้าของเด็กมีลักษณะแข็ง ไม่สามารถดัดให้กลับมาอยู่ในรูปร่างปกติได้ และแบบที่มีเท้าอ่อน สามารถจัดให้เข้ารูปได้ เด็กบางคนที่เท้าผิดรูปไม่มากและมีลักษณะที่อ่อนดัดได้ง่าย เชื่อว่าเป็นผลมาจากท่าของเด็กที่อยู่ในท้องมารดา ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นเท้าปุกที่เป็นผลจากโรค หรือความผิดปกติบางอย่างที่จะพบในส่วนอื่นของร่างกายร่วมด้วยได้ เช่น โรคเยื่อหุ้มข้อแข็งติด หรือเกิดจากการรัดของเยื่อหุ้มรก หรือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทเรียกว่า Acquired clubfoot

กลุ่มที่มีเท้าอ่อน สามารถดัดให้เข้ารูปได้ตั้งแต่แรกเกิด แพทย์จะสอนวิธีการดัดเท้าให้มารดากลับไปทำให้ลูกบ่อยๆ และนัดกลับมาดูเป็นระยะๆ เท้าจะค่อยๆ กลับเข้ามาสู่รูปร่างปกติได้ แต่ถ้ามารดาไม่สามารถดัดเท้าให้ลูกได้ หรือดัดแล้วไม่ถูกวิธี แพทย์อาจทำการดัดเท้าและใส่เฝือกยาวตั้งแต่ปลายเท้าถึงต้นขา ประมาณ 2-3 ครั้งจนเท้าอยู่ในรูปร่างปกติ และมักจะหายภายในสามเดือน หรือหายได้ง่ายด้วยการดัดหรือใส่เฝือกเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

เท้าปุกที่เกิดจากการขดตัวของทารกในครรภ์โดยที่เท้าบิดเข้าใน หลังจากคลอดแล้วรูปเท้าปุกจะหายได้เอง ภายใน 2 ถึง 3 เดือนหลังคลอด ภาวะนี้บางคนเรียกว่า Positional clubfoot ซึ่งควรให้แพทย์ที่ชำนาญเป็นคนตรวจแยก เพราะถ้าไม่ใช่เท้าปุกแบบ positional clubfoot จริงๆ เด็กอาจจะขาดโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องตามเวลาอันควร

กลุ่มที่มีเท้าแข็ง แพทย์จะทำการดัดเท้า และใส่เฝือกยาวตั้งแต่ปลายเท้าถึงต้นขาตั้งแต่ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก และเปลี่ยนเฝือกทุก 1-2 สัปดาห์จนครบ 6 ครั้ง รูปร่างของเท้าจะค่อยๆ ดีขึ้นจนเกือบปกติ แต่ข้อเท้ามักจะยังกระดกขึ้นได้ไม่สุดเหมือนปกติ แพทย์จะทำการตัดเอ็นร้อยหวาย และใส่เฝือกยาวต่ออีก 3 สัปดาห์จะได้ผลดีในรายที่รักษาช่วงก่อน 6 เดือน และแข็งไม่มากนัก ยิ่งดัดและเข้าเฝือกได้เร็วเท่าไรโอกาสได้ผลดีจะมากขึ้นเท่านั้น

 

เท้าปุก มักมีอาการอย่างไรบ้าง?

ผู้ป่วยโรคเท้าปุกจะมีลักษณะขาและเท้าที่ผิดปกติ ดังนี้

  • เท้าโค้งงอผิดรูป หลังเท้าพลิกลงพื้น และส้นเท้าบิดเข้าด้านใน หากไม่ได้รับการรักษาอาจพบว่าเท้าบิดเข้าด้านในมากขึ้น จนเด็กต้องใช้หลังเท้าเป็นจุดรับน้ำหนักขณะยืนหรือเดิน
  • กล้ามเนื้อน่องของขาข้างที่มีเท้าผิดปกติจะเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่
  • เท้าข้างที่ผิดปกติมีขนาดเล็กกว่าเท้าข้างที่เป็นปกติโดยเฉลี่ยประมาณ 0.5 นิ้ว

ทั้งนี้ เท้าที่บิดผิดรูปมักไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใด ๆ แต่ผู้ป่วยควรรีบเข้ารับการรักษาทันที เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการยืนหรือการเดินในอนาคตได้

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

ลูกเป็นโรคเท้าปุก

หากพบลูกมีรูปเท้าผิดปกติ ควรรีบรักษาอย่าปล่อยทิ้งไว้ อาจเดินผิดปกติ แพทย์เตือน! หากพบความผิดปกติของรูปเท้าในเด็กแรกเกิดควรรีบรักษา ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเดินผิดปกติ แนะคุณแม่ตั้งครรภ์ควรฝากครรภ์กับโรงพยาบาลหรือคลินิกที่ได้มาตรฐาน ป้องกันลูกน้อยห่างไกลจากโรคเท้าปุก

นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคเท้าปุก เป็นโรคที่มีความผิดปกติของรูปเท้าตั้งแต่กำเนิด โดยเท้าจะมีลักษณะบิดหมุนเข้าด้านใน ซึ่งเกิดจากการเรียงตัวของกระดูกเท้า และรูปร่างของกระดูกเท้าบางตำแหน่งผิดปกติ รวมถึงการหดสั้นของเอ็น กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่ออ่อนของเท้า ทำให้เกิดการผิดรูป อาจเกิดได้ทั้งสองข้างหรือเพียงข้างเดียว

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ กินอะไรหลีกเลี่ยงโรคเกาต์ อาหารที่ดีที่สุดสำหรับโรคเกาต์

 

สาเหตุของโรคเท้าปุก

โรคเท้าปุกเกิดจากการมีเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณเท้าสั้นกว่าปกติ ซึ่งทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ก่อให้เกิดความผิดปกติดังกล่าวได้อย่างแน่ชัด แต่คาดว่าเด็กที่มีปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมต่อไปนี้ อาจเสี่ยงต่อโรคเท้าปุกมากกว่าเด็กคนอื่น ๆโรคเท้าปุกแบ่งออกเป็น 3 สาเหตุ คือ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  1. เกิดจากตำแหน่งทารกในครรภ์ถูกผนังมดลูกกดทับ
  2. แบบไม่ทราบสาเหตุ
  3. เกิดจากกลุ่มอาการหรือโรคทางระบบประสาท โดยปัจจัยเสี่ยงเกิดจากพ่อแม่ คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเท้าปุก แม่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์อาศัยในมดลูกที่มีน้ำคร่ำน้อย ท่าเด็กในครรภ์ที่มีการกดเบียดผนังมดลูก รวมทั้งผู้ที่ป่วยเป็นโรคทางระบบประสาท เช่น อัมพาตสมอง

 

เมื่อลูกเป็นโรคเท้าปุก

โดยปกติแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคเท้าปุกจากการสังเกตลักษณะผิดปกติของเท้าทารกได้ตั้งแต่แรกเกิด หรืออาจต้องใช้การอัลตราซาวด์ตรวจดูลักษณะเท้าของทารกตั้งแต่ขณะอยู่ในครรภ์ ดังนั้น คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรไปฝากครรภ์กับโรงพยาบาลหรือคลินิกที่ได้มาตรฐาน และไปพบแพทย์ตามนัดหมายเพื่อตรวจดูพัฒนาการของทารกในครรภ์อย่างสม่ำเสมอ เพราะหากพบความผิดปกติใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับทารกแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนรักษาล่วงหน้าและเริ่มทำการรักษาให้เร็วยิ่งขึ้น นายแพทย์สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กล่าวถึงการวินิจฉัยอาการโรคเท้าปุกว่า การวินิจฉัยอาการโรคเท้าปุกแพทย์จะพิจารณาดูลักษณะรูปเท้า และอาจเอกซ์เรย์ ดูตำแหน่งรูปร่างของกระดูกเท้า รวมถึงการตรวจร่างกายโดยละเอียดเพื่อตรวจหาโรคอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุร่วมด้วย

 

วิธีรักษาโรคเท้าปุก

  • โรคเท้าปุกสามารถรักษาให้หายได้ แต่มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ โดยการรักษาจะต้องเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์
  • เริ่มจากการดัดเท้า และใส่เฝือกเพื่อให้รูปเท้าค่อย ๆ กลับมาปกติ
  • ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อยืดเส้นเอ็นร้อยหวาย หรือย้ายเอ็นกล้ามเนื้อเพื่อให้รูปเท้ากลับมาปกติ
  • ในเด็กแรกเกิดแพทย์จะแนะนำให้รักษาทันทีหลังคลอด เพราะหากปล่อยไว้เมื่อเด็กโตขึ้นอาจเดินผิดปกติ

 

การรักษาโรคเท้าปุกสามารถทำได้ 2 วิธีหลัก ดังนี้

  • การดัดเท้าและเข้าเฝือก โดยปกติแพทย์จะแนะนำให้เด็กที่มีอาการไม่รุนแรงให้เข้ารับการรักษาภายใน 2 สัปดาห์หลังคลอด โดยให้เข้าเฝือกแบบพอนเซตี้ (Ponseti Method) คือ การดัดเท้าที่มีลักษณะผิดปกติให้กลับมาเป็นปกติทีละน้อยด้วยการเข้าเฝือกแข็งเพื่อคงรูปเท้าเอาไว้และเปลี่ยนเฝือกทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ หลังจากนั้นเด็กจะต้องใส่เฝือกอ่อนหรืออุปกรณ์ดามเท้า เพื่อช่วยป้องกันเท้าคืนตัวผิดรูปอีก ซึ่งจะต้องใส่ไว้ตลอดเวลาในช่วง 3 เดือนแรกหลังจากถอดเฝือกแข็ง ยกเว้นตอนอาบน้ำ จากนั้นจึงใส่เฉพาะตอนกลางคืนต่อไปอีกจนอายุประมาณ 4-5 ปี
  • การผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยที่มีเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณเท้าสั้นและตึงจนไม่สามารถดัดเท้าได้ แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัดยืดเส้นเอ็นบริเวณเข่าและเท้า หรือผ่าตัดย้ายเอ็นกล้ามเนื้อเพื่อให้สามารถดัดเท้ากลับมาเป็นรูปร่างปกติได้ ส่วนผู้ป่วยที่เป็นเด็กโตหรือผู้ใหญ่อาจจำเป็นต้องผ่าตัดยืดเส้นเอ็นร่วมกับผ่าตัดเปลี่ยนแนวกระดูก โดยแพทย์จะใช้แผ่นโลหะหรือสลักเกลียวยึดเท้าเอาไว้ในตำแหน่งที่ต้องการ หลังจากนั้นจึงเข้าเฝือกแข็งเพื่อค่อย ๆ ดัดเท้าให้มีรูปร่างเป็นปกติต่อไป

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเท้าปุก

ผู้ป่วยโรคเท้าปุกที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องแต่เนิ่น ๆ มักสามารถยืนหรือเดินได้ตามปกติโดยไม่มีอาการอื่นแทรกซ้อน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจประสบปัญหาเคลื่อนไหวร่างกายได้ไม่สะดวก หรือหารองเท้าที่พอดีกับเท้าได้ยาก เพราะเท้าข้างที่ผิดปกติมักมีขนาดเล็กกว่าเท้าข้างที่ปกติ

ส่วนผู้ป่วยที่ไม่รีบเข้ารับการรักษา อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงดังต่อไปนี้

  • โรคข้ออักเสบ ซึ่งเป็นการอักเสบบริเวณข้อต่อ ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดตามข้อและมีอาการข้อติดแข็ง
  • ลักษณะการเดินผิดปกติ เพราะใช้ด้านข้างเท้าหรือหลังเท้าเป็นจุดรับน้ำหนักแทนการใช้ฝ่าเท้า ทำให้ปวดเท้าและใส่รองเท้าไม่ได้ นอกจากนั้น การเดินที่ผิดปกติอาจส่งผลให้เกิดแผลหรือตาปลาที่เท้าตามมาด้วย
  • ผู้ป่วยอาจรู้สึกกังวลต่อภาพลักษณ์ของตนเอง จนอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจได้ในอนาคต

 

วิธีป้องกันโรคเท้าปุก แม่ต้องห้ามทำอะไร

โรคเท้าปุกสามารถป้องกันได้ตั้งแต่เมื่อคุณแม่ทราบว่าตั้งครรภ์ ควรรีบฝากครรภ์กับโรงพยาบาลหรือคลินิกที่ได้มาตรฐาน และพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง เพื่อตรวจอัลตราซาวด์พร้อมทั้งดูพัฒนาการของทารกในครรภ์อย่างสม่ำเสมอ เพราะหากพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับทารกตั้งแต่ในครรภ์ แพทย์จะให้คำแนะนำและวางแผนการรักษาล่วงหน้าได้ โดยวิธีป้องกันโรคเท้าปุก ได้แก่

  • แม่ท้องห้ามสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เด็กในครรภ์เป็นโรคเท้าปุก
  • แม่ท้องห้ามดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์ ไม่ดื่มเหล้าหรือสุรา ไม่ดื่มเบียร์ งดดื่มแอลกอฮอล์

 

ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์อย่าลืมรีบฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด เพื่อให้คุณหมอตรวจร่างกายอย่างละเอียด และติดตามดูพัฒนาการของทารกในครรภ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันโรคเท้าปุกและโรคอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ที่มา www.pobpad.com

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

อุทาหรณ์! ลูกโดนจับดัดขาจนหัก! เหตุเพราะคนหวังดี กลัวลูกจะขาโก่ง

โรคในทารกแรกเกิด โรคที่พบบ่อย ทารก 0-1 ปี ปัญหาทารกแรกเกิดที่พบบ่อย การแก้ไขเบื้องต้น

ภาวะเลือดจางในคนท้อง โลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์ เลือดจางตอนท้องต้องกินอะไร วิธีป้องกันโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์

เน้นชัด-อาการเจ็บท้องเตือนก่อนคลอด-แบบนี้คลอดชัวร์

 

บทความโดย

Tulya