โรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง เป็นโรคที่ผู้คนหลาย ๆ คนหนักใจ เพราะสมองเป็นอวัยวะมีความซับซ้อนในการทำงาน เซลล์สมองมีความจำเพาะและเปราะบาง ซึงมีมากมายเป็นพัน ๆ ล้านเซลล์ สมองทำให้เรามีความสามารถที่จะพูด คิด แก้ปัญหา จำ สั่งการการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ การหายใจ
โดยสมองจะทำหน้าที่แทบทุกอย่างที่คนเราทำ การดูแลรักษาให้สมองทำงานเป็นปกติ จึงเป็นสิ่งสำคัญ วันนี้ theAsianparent Thailand ขอนำบทความเกี่ยวกับโรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมองมาฝากทุกคนกันค่ะ
โรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง
โรคอัมพาต
โรคอัมพาตเป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุมาก แต่คนที่มีอายุน้อยหากมีปัจจัยเสี่ยงก็สามารถเกิดได้เช่นกัน ผู้ป่วยโรคนี้มักจะมีอาการเตือนก่อนเกิดอาการจริง สาเหตุของโรคมีทั้งเส้นเลือดแตก และเส้นเลือดตีบ หากรักษาอาการเตือนได้ทันเวลา ก็จะสามารถป้องกันโรคนี้ได้
ชนิดและอาการของอัมพาตมีทั้งหมด 2 ชนิด ได้แก่
- อัมพาตเฉพาะที่ มีอวัยวะบางส่วนที่เป็นอัมพาตและขยับเขยื้อนไม่ได้ เช่น ใบหน้า หรือมือ
- อัมพาตทั่วร่างกาย เป็นอัมพาตในบริเวณกว้าง ส่งผลให้อวัยวะบางส่วนหรือหลายส่วนขยับเคลื่อนไหวไม่ได้ ได้แก่
-
- โมโนพลีเจีย (Monoplegia) – แขน หรือขาข้างใดข้างหนึ่งขยับเคลื่อนไหวไม่ได้
- เฮมิพลีเจีย (Hemiplegia) – แขน และขาข้างใดข้างหนึ่งขยับเคลื่อนไหวไม่ได้ หรือที่เรียกว่า อัมพาตครึ่งซีก
- พาราพลีเจีย (Paraplegia) – ขาทั้งสองข้าง หรือตั้งแต่บริเวณอุ้งเชิงกรานและช่วงล่างของลำตัวลงไปขยับเคลื่อนไหวไม่ได้
- เตตร้าพลีเจีย หรือ ควอดริพลีเจีย (Tetraplegia หรือ Quadriplegia) – แขนและขาทั้งสองข้างขยับเคลื่อนไหวไม่ได้
โรคเวียนศีรษะ
อาการเวียนศีรษะ เป็นคำที่มีความหมายค่อนข้างกว้าง อาจหมายรวมถึงอาการมึนศีรษะ วิงเวียน มีนงง ทรงตัวไม่ค่อยได้ มีความรู้สึกลอย ๆ หวิว ๆ มีอาการตื้อในศีรษะ ซึ่งในทางการแพทย์จะแบ่งอาการนี้ออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
- อาการมึนเวียนศีรษะ (dizziness) มีความหมายรวมตั้งแต่อาการมึนศีรษะไปจนถึงอาการวิงเวียนศีรษะ ซึ่งเป็นอาการไม่เฉพาะเจาะจงและเกิดได้จากโรคต่าง ๆ เช่น โรคทางระบบไหลเวียนเลือด โรคทางระบบประสาท ภาวะโลหิตจาง เป็นต้น
- อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน (vertigo) จะหมายถึงเฉพาะอาการเวียนศีรษะแบบรู้สึกหมุนหรือโคลงเคลงเท่านั้น
อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน (vertigo) เป็นอาการที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่คอยรับการทรงตัวสมดุลของร่างกายในท่าทางต่าง ๆ เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นจึงทำให้มีอาการเวียนศีรษะแบบรู้สึกหมุน ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมหมุนรอบตัวเองหรือตัวเองหมุน รู้สึกโคลงเคลงทั้งๆ ที่ตัวเองอยู่กับที่หรือไม่มีการเคลื่อนไหว ในรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีความรู้สึกเหมือนจะเป็นลม หูอื้อ การได้ยินลดลง หรือมีเสียงในหูร่วมด้วยได้
โรคนอนไม่หลับ
โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) คือ โรคที่มีความผิดปกติในวงจรการหลับ โดยสามารถแบ่งเป็นชนิดของการนอนไม่หลับ 3 ชนิดใหญ่ คือ ชนิดที่ 1 หลับยาก , ชนิดที่ 2 หลับไม่ทน , ชนิดที่ 3 หลับ ๆ ตื่น ๆ โดยปัจจัยของโรคนอนไม่หลับมีหลาย ๆ ปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น แสงไฟที่สว่างเกินไป อุณหภูมิภายในห้อง ปัญหาทางร่างกาย เช่น อาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ของร่างกาย ปัญหาทางจิตใจ เช่น ความวิตกกังวล ความเครียด แรงกดดัน หรือปัญหาอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการดิ่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน หรือการสูบบุหรี่เป็นต้น
โรคอัลไซเมอร์
อัลไซเมอร์ เป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของการทำงานหรือโครงสร้างของเนื้อเยื่อของสมองซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ โดยไม่ใช่ความเสื่อมตามธรรมชาติ โดยอัลไซเมอร์จะเป็นความเสื่อมที่เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid) ชนิดไม่ละลายน้ำซึ่งเมื่อไปจับกับเซลล์สมองจะส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง รวมถึงทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหายจากการลดลงของสารอะซีติลโคลีน (acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความทรงจำ
อาการแรกเริ่มที่สำคัญของผู้ป่วย คือ การสูญเสียความจำระยะสั้น ซึ่งเป็นอาการที่ใกล้เคียงกับภาวะความจำเสื่อมตามธรรมชาติในผู้สูงอายุ แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้ป่วยร้อยละ 80-90 จะมีอาการทางพฤติกรรมหรือทางจิตเวชร่วมด้วย ซึ่งอาการทางพฤติกรรมนี่เองที่ทำให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น
เส้นประสาทถูกกดทับ
- บริเวณข้อมือ โดยมีอาการ ชาเป็นเหน็บ แสบร้อนบริเวณฝ่ามือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง ด้านหน้าหรือด้าน หลังผ่ามือ มักจะเกิดตอนกลางคืนในขณะหลับ ปวดอาจจะร้าวไปถึงข้อศอกกล้ามเนื้อบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือฝ่อไม่มีแรงกำ
- บริเวณหลัง โดยอาการจะมีการปวดหลัง ร้าวลงขา ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง ขาไม่มีแรง
Source : bumrungrad , bangpo-hospital
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
10 โรคหน้าฝนในเด็ก 2020 โรคหน้าฝนสุดฮิตที่เด็กมักเป็น คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง
โรคซึมเศร้า พาคุณแม่มาเช็คอาการโรคซึมเศร้า คุณมีอาการเหล่านี้หรือยัง?
รู้ทันโรคเก๊าท์ โรคเก๊าท์เกิดจากอะไร แนวทางป้องกันรักษา