รู้ทัน 22 โรคผิวหนัง ที่มากับหน้าร้อน และวิธีดูแลรักษาเบื้องต้นเพื่อไม่ให้ลุกลาม

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

เข้าสู่หน้าร้อนอย่างเป็นทางการ ปัญหาที่มักจะตามมาของคนส่วนใหญ่ในหน้าร้อนนี้คงหนีไม่พ้น โรคผิวหนัง และผดผื่นคัน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิด โรคผิวหนัง ที่มีความอันตรายต่างๆ  การเกิด โรคผิวหนัง มักจะทำให้ เกิดความรำคาญ จนต้องทำให้เราต้องแกะ ต้องเกา ซึ่งอาจส่งผลให้อาการลุกลามกันไปใหญ่ วันนี้เราจึงได้รวบรวม โรคผิวหนัง พร้อมวิธีดูแลและป้องกัน รวมไปถึงการรักษาอาการเบื้องต้น มาให้ศึกษา และหาแนวทางป้องกันเจ้า โรคผิวหนัง ตัวร้ายนี้กัน

 

ดร.นพ.เวสารัช เวสสโกวิท แห่งสถาบันโรคผิวหนัง อธิบายว่า อาการผด ผื่น คัน ส่วนใหญ่เกิดจากสภาวะของร่างกายที่เข้ากับสิ่งแวดล้อมไม่ได้ เช่น อยู่ที่อากาศเย็นแล้วไปอากาศร้อน ร่างกายของเราจึงไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ส่งผลให้เกิดเหงื่อปริมาณมากที่ไปอุดตันรูขุมขน ทำให้เกิด “ผด ผื่น คัน” ตามข้อพับ ที่อับชื้นต่าง ๆ ตามร่างกาย มีลักษณะ คือ ตุ่มน้ำใส ๆ แตกง่าย อาจจะมีอาการคันเล็กน้อย ถ้าหากเป็นมากจะมีลักษณะเป็น “ตุ่มแดง” และ “ตุ่มหนอง” ขึ้นมา แนะนำไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอาการ

 

“เหงื่อ” เป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้เกิดโรคผิวหนังในช่วงหน้าร้อน รวมถึงทำให้เกิดกลิ่นกายก่อความรำคาญและทำให้รู้สึกหงุดหงิด ขาดความมั่นใจ

 

ในประเทศไทยของเราซึ่งเป็นประเทศเมืองร้อน ก็มีโรคผิวหนังที่พบบ่อยแตกต่างจากในต่างประเทศ ซึ่งโรคผิวหนัง ที่พบบ่อย โดยเฉพาะในหน้าร้อน ได้แก่

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

โรคผิวหนัง1

22 โรคผิวหนัง ที่มากับหน้าร้อน

1. ผดร้อน

เรื่องผดผื่นกับหน้าร้อนเห็นจะเป็นของคู่กัน ช่วงปิดเทอมเดือนเมษายนอากาศร้อน ผดร้อน จะพบได้บ่อยในเด็กเล็กๆ ผู้สูงอายุ คนที่เจ้าเนื้อ หรือคนที่ต้องใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นมากๆ โดยผดร้อนเกิดจากการอุดตันของการหลั่งเหงื่อ เกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อ ขณะระบายความร้อนออกนอกร่างกาย ทำให้ร่างกายขับเหงื่อไม่ได้ ผื่นจะเป็นตุ่มสีแดงเม็ดเล็ก ๆ บางครั้งพบเป็นตุ่มน้ำใส มักจะขึ้นบริเวณไรผม หน้าผาก คอ หลัง และอาจพบบริเวณข้อพับแขนขาได้ แต่ไม่ค่อยพบบริเวณหน้าอกหรือท้อง ผื่นจะหายได้เอง หากเกาบ่อย ๆ อาจเกิดการติดเชื้อเป็นตุ่มหนองตามมาได้ ถ้าลูกเป็นผดร้อนคุณแม่สามารถ ดูแลได้เองที่บ้าน โดยให้ลูกอยู่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก อาบน้ำบ่อย ๆ หรือใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวจะช่วยคลายร้อนได้  ใส่สวมเสื้อผ้าบางๆ เช่น ผ้า ฝ้าย หลีกเลี่ยงผ้าไนล่อน หรือใยสังเคราะห์ ปกติผดร้อนไม่มีอันตราย และจะหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์ ถ้าคันมากคุณแม่ อาจใช้คาลาไมน์ทาวันละ 2-3 ครั้ง แต่ถ้าเกามากจนเป็นแผลติดเชื้อควรปรึกษา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เฉพาะทางโรคผิวหนังเด็ก

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

2. โรคเชื้อราที่ผิวหนัง

มักเกิดในร่มผ้า รักแร้ ซอกพับบริเวณที่มีการอับชื้น บริเวณง่ามนิ้วเท้า หรือฝ่าเท้าในคนที่ต้องใส่รองเท้าหุ้มส้นหรือรองเท้าบูทเป็นประจำ โดยเชื้อราที่พบได้บ่อยคือ กลากเกลื้อน และยีสต์ในกลุ่มแคนดิดา

 

3. ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง

ได้แก่ โรครูขุมขนอักเสบ ฝีที่ผิวหนังโดยเกิดขึ้นตามซอกพับ ขาหนีบ หรือกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น เสื้อผ้าที่รัดแน่นอากาศที่ถ่ายเทไม่สะดวก และเหงื่อที่เพิ่มขึ้น

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

4. โรคผิวหนังอักเสบหรือผื่นคัน

ในคนที่ผิวแพ้ง่ายหรือเป็นภูมิแพ้ผิวหนังอยู่เดิม ในหน้าร้อน เหงื่อที่เพิ่มมากขึ้นอาจกระตุ้นให้ผื่นผิวหนังอักเสบกำเริบขึ้นได้และในผู้ที่เป็นโรคเอสแอลอี อาการผื่นผิวหนังรวมทั้งอาการในระบบอื่นๆ จะกำเริบได้เมื่อโดนแสงแดดกระตุ้น ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคเอสแอลอีจึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง

บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคผิวหนังหน้าร้อนในเด็ก แดดแรงขนาดนี้ แม่ห้ามประมาทนะ!

 

5. ฝ้า กระแดด

อัลตราไวโอเลตในแสงแดดจะกระตุ้นให้เซลล์สร้างเม็ดสีทำงานมากขึ้น เกิดฝ้า กระแดด และผิวคล้ำขึ้นได้ในช่วงหน้าร้อน หากใครที่เป็นผ้าอยู่แล้วอาจเป็นมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งเป็นประจำก็จะเริ่มมีฝ้าและกระแดดเกิดขึ้นที่ใบหน้าได้ง่ายในช่วงหน้าร้อนนอกจากนี้การโดนแดดสะสมเป็นเวลานานๆ โดยไม่มีการป้องกัน จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคผิวหนัง และมะเร็งผิวหนัง ซึ่งจะเริ่มเกิดขึ้นเมื่อมีอายุประมาณ 40-50 ปีขึ้นไปหากเรารู้จักป้องกันและดูแลผิวพรรณ ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้อนหรือหน้าหนาว ใช้ครีมกันแดดสม่ำเสมอก็จะลดปัจจัยที่จะนำไปสู่มะเร็งผิวหนังได้

 

6. ผิวไหม้แดด

มักจะเจอเด็กที่ผิวไหม้แดดแบบนี้โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายนซึ่งนิยมไปเที่ยวสงกรานต์ ไปชายทะเลจะตากแดดกันมาก สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำอย่างแรกเลย คือ ให้นำผ้าชุบน้ำเย็นมาประคบผิวที่ไหม้แดดไว้จนอาการแสบร้อนหาย หากลูกเป็นเยอะควรพยายามอาบน้ำทำให้ตัวเย็นเพื่อลดความร้อนของผิวหนังลูกน้อยค่ะ แต่ถ้า 2 – 3 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นยังปวดแสบปวดร้อนอยู่ หรือหากผิวไหม้จนเป็นตุ่มน้ำแนะนำให้ไปหาคุณหมอ

 

7. ภาวะกดดันของต่อมเหงื่อ 

เกิดจากการที่เราอยู่ในสภาวะอากาศที่ร้อนมาก ๆ ประกอบกับเหงื่อไม่สามารถระบายได้ทัน สำหรับอาการที่เกิดขึ้นจากภาวะนี้ เราจะเห็นคล้าย ๆ ผดเล็ก ๆ ขึ้นตามตัว และภาวะนี้สามารถพบอย่างเห็นได้ชัดในเด็ก จากการที่ร่างกายของเด็กไม่สามารถระบายอากาศได้ทัน

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

skin diseases2

8. มะเร็งผิวหนัง

ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ผิวเราสัมผัสแสงจากดวงอาทิตย์ ซึ่งมีทั้งรังสีอัลตราไวโอเลต หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า รังสี UV และแสง Visible Light แต่สิ่งที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้ คือ รังสี UV ซึ่งปริมาณรังสีที่กระทบกับผิวหนัง สามารถส่งผลต่อระบบผิวหนัง จนอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งที่ผิวหนังได้ และประเทศไทยเราเอง ก็เป็นพื้นที่ที่มีปริมาณรังสี UV ตกกระทบพื้นดินมากอยู่แล้ว ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งผิวหนังมากกว่าเดิม

 

9. กลิ่นตัว

เกิดจากแบคทีเรียที่ผิวหนัง ทำปฏิกิริยาเปลี่ยนแปลงสารบางอย่างในเหงื่อของคนเรา ทำให้เกิดกลิ่นตัว เมื่ออากาศร้อนจะส่งผลให้เหงื่อออกมากขึ้น เป็นสาเหตุของการเกิดโรคผิวหนัง และมีกลิ่นตัวเพิ่มมากขึ้นด้วย สร้างความรำคาญใจต่อตนเองและคนรอบข้าง สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องกลิ่นตัวควรหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด เช่น เครื่องเทศ กระเทียมหรือชีส ซึ่งมีส่วนกระตุ้นให้มีกลิ่นตัวมากขึ้น การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการลดเหงื่อ ไม่ว่าจะเป็นสเปรย์ โรลออน ซึ่งมีสารอะลูมิเนียมคลอไรด์จะช่วยลดการหลั่งเหงื่อทำให้กลิ่นตัวลดลงได้

 

10. ลมพิษ 

อาการผื่นแดงเป็นจุดเล็ก ๆ บริเวณผิวหนัง มักกระจายอยู่บนแขน ขา และใบหน้า หากทำการเกา ลมพิษก็มีโอกาสที่ลมพิษนั้นจะขยายตัวมากขึ้น ซึ่งนอกจากผื่นขึ้นแล้ว ยังมีอาการลมหายใจติดขัด แน่นท้อง ปาก และตาบวม 

 

ลมพิษนั้นอาจเกิดได้จากการแพ้ยา แพ้อาหาร ความผิดปกติภายในร่างกาย และอาการแทรกซ้อนจากโรคอื่น ๆ ลมพิษส่วนมากมักหายได้ในเวลาวันถึงสองวัน แต่ถ้าเป็นลมพิษเรื้อรังมีโอกาสที่จะเป็นต่อเนื่องถึง 6 สัปดาห์เลยทีเดียว โดยลมพิษมักมีการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นตามสาเหตุของแต่ละบุคคล

 

 

11. โรคสะเก็ดเงิน 

สะเก็ดเงินคือชื่อของโรคผิวหนังเรื้อรังที่จะทำให้เกิดอาการผิวหนังหนา เป็นขุย เป็นทรงกลมหรือรูปไข่บนร่างกาย มีอาการผิวหนังหนาใต้เล็บ บางรายมีอาการปวดข้อบริเวณมือเท้า โรคสะเก็ดเงินมักมีอาการเป็นๆ หายๆ สามารถพบได้ในช่วงวัยรุ่นและวัยกลางคน

 

สาเหตุ โรคสะเก็ดเงินแท้จริงคือการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังผิดปกติ ซึ่งสามารถเกิดจากได้จากการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ผิดปกติ รวมไปถึงกรรมพันธุ์ นอกเหนือจากนั้น ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากการบาดเจ็บ ติดเชื้อ HIV ความเครียด การใช้ยาบางตัว ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล

 

12. โรคเซ็บเดิร์ม 

เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง เกิดจากการอักเสบจากต่อมไขมันใต้ผิวหนัง โรคเซ็บเดิร์ม เป็นโรคที่มีอาการเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โรคนี้มีลักษณะเป็นผื่นแดง มีขุยละเอียดสีขาวและเหลือง บริเวณจุดที่มีต่อมไขมันมาก เช่น ไหล่ หลัง ศีรษะ

 

สาเหตุของโรคเซ็บเดิร์มมักเกิดจากความแปรปรวนของฮอร์โมน เชื้อรา สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงพันธุกรรม โดยมีปัจจัยให้โรคทำงานคืออุณหภูมิเป็นหลัก ซึ่งแม้ว่าโรคนี้จะไม่สามารถหายได้ แต่ก็ยังบรรเทาอาการได้ด้วยการรักษาทางการแพทย์และการดูแลตัวเอง

13. ผื่นแพ้สัมผัสสารก่อภูมิแพ้ 

ผื่นแพ้สัมผัสสารก่อภูมิแพ้จะมีอาการต่างกันไปตามแต่ละบุคคล โดยส่วนมากจะเป็นผื่นแดง มีอาการคันเรื้อรัง หลังจากได้สัมผัสสารดังกล่าว

 

สาเหตุ ผื่นประเภทนี้เกิดจากอาการแพ้สารเคมีในชีวิตประจำวันที่ไม่ใช่สารพิษสำหรับคนทั่วไป เช่น ยาง ปูน น้ำยาย้อมผม หรือครีมนวด ซึ่งความรุนแรงและอาการแพ้จะแตกต่างกันไปตามแต่ละคนและปริมาณสาร ทางที่ดีที่สุดคือการเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่ส่งผลกับตัวบุคคลนั้นๆ

 

หากเป็นเนื้อร้ายต้องทำการรักษาเซลล์มะเร็งต่อไป ส่วนเนื้องอกแบบธรรมดาหากตรวจพบในบริเวณที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ผู้ป่วยสามารถตัดสินใจเลือกที่จะศัลยกรรมตกแต่งผิวหนังหรือเลือกที่จะไม่ผ่าออกได้ แต่หากอยู่ในบริเวณจุดสำคัญอย่าง สมองหรือใกล้กับเส้นประสาท ต้องทำการผ่าตัดทำการรักษาเนื่องจากอาจเกิดอันตรายตามมาภายหลังได้

 

14. เนื้องอกต่อมไขมัน

เป็นโรคอีกชนิดที่พบกันบ่อยในผู้ที่มีใบหน้ามัน เกิดจากความผิดปกติของต่อมไขมัน มักพบในคนอายุย่างเข้าสู่วัยกลางคน ลักษณะเป็นตุ่มนูนสีเหลืองขนาดประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ตรงกลางมีรอยบุ๋ม ขนาดของตุ่มโตขึ้นอย่างช้า ๆ พบได้บ่อยบริเวณใบหน้า รูขุมขนบริเวณจมูก แก้ม หรือหน้าผาก

การรักษาเนื้องอกต่อมไขมัน สามารถรักษาได้ด้วยวิธีรับประทานยาให้ต่อมไขมันฝ่อไป แต่จะไม่หายถาวร พอหยุดยาสักพัก ตุ่มพวกนี้ก็จะกลับโตขึ้นมาอีก ดังนั้นต้องกินยาเป็นช่วงๆ ไปเรื่อยๆ หรือสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ทรีทเม้นต์ CO2

 

15. ขุยดอกกุหลาบ

โรคขุยดอกกุหลาบ เป็นโรคทางผิวหนัง มีลักษณะผิวหนังมีผื่นแดงรูปวงรี และมีขุยที่ขอบด้านในอายุที่พบบ่อยคือ 10-35 ปี สาเหตุมีรายงานว่ามีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย การได้รับวัคซีน ผื่นแพ้ยุงและแมลง แต่พบว่ายาบางชนิด เช่น barbiturate, metronidazole, gold captopril, clonidine และ penicillamine สามารถทำให้เกิดผื่นแบบเดียวกันกับโรคขุยดอกกุหลาบได้

 

ระยะแรกพบเป็นผื่นเดี่ยวลักษณะกลม รี สีแดง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-6 ซม. พบบริเวณกลางลำตัว ขอบเขตชัดเจน ผื่นระยะที่สองจะพบเป็นผื่นลักษณะคล้ายเดิม แต่เล็กกว่า ตำแหน่งที่พบได้แก่ บริเวณหน้า ลำตัว และแขน ผื่นรูปกลม รี ผื่น จะเรียงตัวตามแกนยาว ไปตามรอยย่นของผิวหนัง แขนขา ทำให้ดูคล้ายรูปร่างของต้นคริสมาส จะมีอาการคันเมื่อผื่นเริ่มกระจายมากขึ้น พบได้ร้อยละ 75 ของผู้ป่วย

 

  • อาการทั่วไป ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ เบื่ออาหาร มีไข้ ปวดข้อ ต่อมน้ำเหลืองโตซึ่งอาการเหล่านี้พบได้น้อย
  • การดูแลรักษา โรคนี้ไม่มีการรักษาที่จำเพาะ ส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ ถ้ามีอาการคันร่วมด้วย การใช้ยาจะทำให้อาการคันทุเลาลง ถ้าอาการน้อยอาจไม่ต้องใช้ยา ถ้ามีอาการคันมาก ใช้ยา corticosteroid ,calamine lotion และรับประทาน ยาเพื่อบรรเทาอาการคัน การให้ผู้ป่วยตากแดดและให้การรักษาโดยการฉายแสงอาทิตย์เทียมช่วย ให้ผื่นหายเร็วขึ้น ส่วนบริเวณที่ผิวหนังลอก การใช้ยาทำให้ผิวนุ่ม (emollient) จะทำให้ผู้ป่วยดีขึ้น สามารถรับประทานอาหารได้ทุกชนิด โรคนี้สามารถหายได้ หายแล้วไม่มีรอยแผลเป็น โดยตอนหายจะเหลือรอยขาวๆ ก่อนต่อมาผิวหนังจะกลับเป็นปกติส่วนมากผื่นหายในระยะเวลา 4-8 สัปดาห์ แต่พบว่าบางรายเป็นนานถึง 3-4 เดือน โอกาสเป็นซ้ำพบน้อย เพียงร้อยละ 3 โรคนี้ไม่ติดต่อ แต่ถ้ามีผื่นสงสัยว่าจะเป็นโรคขุยดอกกุหลาบ ควรไปพบ แพทย์

 

16. ปานแดงในเด็ก

เป็นปัญหาที่พบบ่อยในเด็กเช่นกัน บางชนิดอาจหายเองได้ เช่น ความผิดปกติของเส้นเลือดที่รวมตัวกันเป็นก้อนหรือที่เรียกว่า Hemangioma เมื่อโตขึ้นก้อนอาจหายไปเหลือแค่เป็นเส้นเลือดสีแดง หรือรอยบุ๋ม แต่ในเด็กที่ก้อนอยู่บริเวณใบหน้า หรือตา ซึ่งทำให้การมองเห็นหรือรูปร่างของใบหน้าผิดปกติได้ ควรได้รับการรักษาโดยยาหรือเลเซอร์ค่ะ ถ้าก้อนโตเร็ว หรือแตกเป็นแผลควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลนะคะ ปานหลอดเลือด (Port-wine stain) เป็นปานสีแดงหรือแดงอมม่วง ซึ่งอาจพบร่วมกับความผิดปกติของหลอดเลือดสมองได้ด้วย

 

สามารถรักษาได้ใช้เลเซอร์ Pulse dry laser (PDL)หรือ V beam ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุดและมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (FDA) สามารถรักษาในเด็กเล็ก เนื่องจากปานชนิดนี้ ถ้ารักษาช้าจะยิ่งหนาขึ้นและต้องใช้เวลารักษานานขึ้น การรักษาโรคผิวหนังในเด็กนั้นจะแตกต่างและละเอียดอ่อนกว่าผู้ใหญ่มาก จึงต้องอาศัย ความชำนาญ และการรักษาเฉพาะทาง

 

17. เริม

เกิดจากเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ ซิมเพลกซ์ (Herpes simplex virus, HSV) ซึ่งมีอยู่ 2 ได้แก่

  1. HSV-1 ก่อให้เกิดเริมตามผิวหนังทั่วไป และในช่องปากเป็นส่วนใหญ่
  2. HSV-2 ก่อให้เกิดเริมที่อวัยวะเพศเป็นส่วนใหญ่ ติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรง ระยะฟักตัวประมาณ 1-2 สัปดาห์ สำหรับโรคเริมที่อวัยวะเพศ ถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง

 

อาการของเริม มักจะมีอาการแสบ ๆ คัน ๆ นำมาก่อนเล็กน้อย แล้วมีตุ่มน้ำใสขนาด 2-3 มิลลิเมตรขึ้นอยู่กับเป็นกลุ่มโดยรอบจะเป็นผื่นแดง ต่อมาตุ่มน้ำใสนี้จะกลายเป็นสีเหลืองขุ่น แล้วแตกกลายเป็นสะเก็ด หายไปได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ (เร็วสุด 3 วัน) ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ ริมฝีปาก แก้ม จมูก หู ตา ก้น อวัยวะสืบพันธุ์

 

  • เริมที่อวัยวะเพศ ติดต่อโดยการร่วมเพศกับกันคนที่เป็นโรคนี้อยู่ก่อน หลังจากนั้น 4-7 วัน จะมีอาการแสบ ๆ คัน ๆ ต่อมาจะขึ้นเป็นตุ่มใส ๆ เล็ก ๆ หลายตุ่มที่อวัยวะเพศในผู้ชายอาจขึ้นที่หนังหุ้มปลายองคชาต ที่ตัวหรือที่หัวองคชาต ส่วนผู้หญิง อาจขึ้นที่ปากช่องคลอด ในช่องคลอด หรือที่ปากมดลูก ต่อมาตุ่มใสเหล่านี้จะแตกกลายเป็นแผลเล็ก ๆ หลายแผลคล้าย ๆ แผลถลอกและมีอาการเจ็บ แล้วแผลจะค่อย ๆ หายไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยไม่มีแผลเป็น ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ (ไข่ดัน) อาจโตและเจ็บด้วย เมื่อเคยเป็นครั้งหนึ่งแล้ว เชื้อจะหลบไปที่ปมประสาท เมื่อร่างกายอ่อนแอ หรือมีการเสียดสี (การร่วมเพศ) เชื้อก็จะโผล่ขึ้นมาทำให้เกิดโรคได้อีก โดยไม่ได้ติดเชื้อจากการร่วมเพศครั้งใหม่ ดังนั้นคนที่เคยเป็นโรคนี้ ก็อาจจะมีอาการกำเริบซ้ำ ๆ ซาก ๆ
  • เริมที่ริมฝีปาก มักขึ้นที่บริเวณผิวหนังใกล้ ๆ ริมฝีปาก เริมในช่องปาก อาจพบในเด็ก เป็นตุ่มน้ำเจ็บปวด แล้วแตกเป็นแผลตื้นๆ บริเวณกระพุ้งแก้ม เหงือก เพดานปาก ลิ้น อาจรุนแรงจนกินอาหารไม่ได้

 

การรักษา

  • ให้การรักษาตามอาการ เช่น ถ้าปวดหรือมีไข้ ให้ยาแก้ปวดลดไข้ ถ้ารู้สึกแสบ ๆ คันๆ ให้ ทาด้วยยาแก้ผดผื่นคัน
  • เด็กที่เป็นเริมในช่องปาก ให้ดื่มน้ำบ่อย ๆ ป้ายยาภายในช่องปาก วันละ 3-4 ครั้ง ถ้ามีไข้ควรให้เด็กรับประทานยาลดไข้ หากเด็กรับประทานอะไรไม่ได้ อาจต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ
  • ถ้าเป็นรุนแรงหรือขึ้นในตาดำ ควรส่งโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง โรคนี้มักจะเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ก่อให้เกิดความกังวลใจกับผู้ที่เป็นไม่น้อย การเข้ารับการรักษาจาก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านผิวหนังเป็นทางออกที่ดีสำหรับผู้ป่วยในโรคนี้ 

บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 ปัญหาโรคผิวหนัง ระหว่างคลอดและหลังคลอดทีอะไรบ้าง? รักษายังไงดี?

skin diseases4

18. งูสวัด

โรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดอีสุกอีใส ซึ่งแฝงตัวในเส้นประสาท และอาจทำให้เกิดงูสวัดในเวลาต่อมาโดยเฉพาะเมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง สามารถติดต่อกันทางการสัมผัส หรือแม้แต่ทางลมหายใจ ผื่นงูสวัดมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใสขึ้นบนพื้นสีแดง อยู่เป็นกลุ่มๆ มักอยู่ตามแนวเส้นประสาทของร่างกาย

 

ผู้เป็นโรคผิวหนัง งูสวัด จะมีอาการปวดแสบปวดร้อน โดยอาการปวดนี้สามารถอยู่ได้นาน ในบางรายแม้ผื่นจะหายไปแล้วก็ยังคงปวดอยู่ การเกิดงูสวัดที่ใบหน้าหรือศีรษะในบางรายอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับตาหรือหูได้

 

การรักษางูสวัดจะใช้ยาชนิดรับประทาน และการดูแลแผลที่ถูกต้อง เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคงูสวัดด้วย

 

19. หูด

เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้ผิวหนังเกิดเป็นตุ่มหนาตัวขึ้น ไม่มีอาการ แต่ลามมากขึ้นได้ สามารถเกิดที่ผิวหนังบริเวณใดของร่างกายก็ได้ หรือที่ที่พบบ่อย เช่น บริเวณมือกับเท้า นอกจากนี้ยังเกิดที่บริเวณอวัยวะเพศได้ด้วย จะติดได้ง่ายบนผิวหนังที่มีแผลหรือผิวที่บอบบาง โดยโอกาสในการติดเชื้อจะขึ้นกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ควรรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้หูดโตขึ้นหรือลามมากขึ้น ซึ่งการรักษามีหลากหลายวิธี ขึ้นกับลักษณะและบริเวณที่เป็นไม่ควรพยายามกำจัดหูดเอง เพราะบางครั้งอาจยิ่งทำให้ลามขึ้นได้ คนไข้ควรตัดเล็บให้สั้นและไม่แกะหูด เพราะอาจลามไปติดที่อื่น

 

20. กลาก

กลากเป็นการติดเชื้อราที่ผิวหนังบริเวณต่างๆ ในร่างกาย เส้นผม หรือเล็บ การติดเชื้อกลากในแต่ละบริเวณของผิวหนังอาจมีชื่อเรียกภาษาไทยที่แตกต่างกันไป เช่น

  • การติดเชื้อกลากในร่มผ้ามัก เรียกว่า สังคั
  • การติดเชื้อกลากที่ฝ่าเท้าหรือตามง่ามนิ้วเท้า เรียกว่า ฮ่องกงฟุต
  • โรคกลากที่หนังศีรษะในเด็กที่มีอาการอักเสบรุนแรงหรือฝีหนอง มักเรียกว่า ชันนะตุ

 

ผู้ที่เป็นโรคผิวหนัง กลาก อาจติดเชื้อมาจากการคลุกคลีกับสัตว์หรือการย่ำดิน อาการของกลากอาจมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละบริเวณ เช่น กลากที่ผิวหนังมักมีลักษณะแดงเป็นวงนูน ขอบเขตชัดเจน มีขุย หากเป็นกลากบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้ามักมีอาการเพียงขุยๆ หรือบางรายอาจมีตุ่มน้ำหากเป็นกลากที่เล็บ จะทำให้เล็บหนาหรือมีสีผิดปกติได้

 

การรักษาโรคผิวหนัง กลาก ควรขูดส่งตรวจเชื้อสาเหตุก่อนแล้วจึงเริ่มรักษา โดยแต่ละบริเวณใช้ยาฆ่าเชื้อราต่างชนิดกัน โดยแพทย์เป็นผู้สั่งจ่าย โดยทั่วไปการรักษาเชื้อราที่เล็บจะใช้เวลาค่อนข้างนาน

 

21. เกลื้อน

ลักษณะอาการ คือ มีตุ่มแดงคล้าย ๆ เป็นสิวที่หน้าอก โดยอาการที่แสดงขึ้น จะเห็นเป็นผื่นเล็ก ๆ บริเวณปกหลัง รักแร้ ในบางท่านจะเห็นว่าเกลื้อนเป็นตุ่มสีแดง สีขาว หรือสีคล้ำขึ้น ทั้งสองโรคนี้ เกิดจากความชื้นที่มาจากเหงื่อ ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา

 

22. สิว 

สิวคือโรคผิวหนังที่มีอาการเป็นตุ่มเล็กๆ กระจายอยู่บนใบหน้า อก หลัง คอ และแขน สิวนั้นมีหลายประเภทหลายระยะ และมีรูปร่างแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่สิวหัวเปิดสีดำ สิวอักเสบ ซึ่งหากเป็นสิวอักเสบขนาดใหญ่ใต้ผิวหนัง คนไทยนิยมเรียกกันว่าสิวหัวช้าง

 

สาเหตุ การอักเสบของต่อมไขมันคือต้นเหตุของการเกิดสิว ซึ่งมีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องหลายอย่าง ทั้ง อาหาร เครื่องสำอาง ความสะอาด และฮอร์โมน นั่นทำให้ มักสิวเกิดในช่วงวัยรุ่นเป็นหลักเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกาย สำหรับผู้หญิงบางคนในช่วงก่อนมีประจำเดือนก็จะเกิดอาการสิวเห่อขึ้นได้

 

โดยส่วนมากสิวมักหายเองโดยธรรมชาติ แต่ถ้าส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันหรือความมั่นใจ สิวสามารถรักษาได้หลายแบบเช่นกัน ตั้งแต่การกดสิว ฮอร์โมน หรือยาทา และการเลเซอร์ ซึ่งใช้เวลาและการเยียวยาแตกต่างกันออกไป

 

นอกจากโรคที่เกี่ยวกับผิวหนังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว อากาศร้อน ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ ที่เกิดขึ้นบริเวณเส้นผมและหนังศีรษะ ซึ่งก็นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของโรคผิวหนังเช่นกัน ที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่

  • รังแค ปัญหารังแคนับรวมตั้งแต่มีผื่นผิวหนังอักเสบที่หนังศีรษะ มีอาการหลุดลอกของหนังศีรษะเป็นขุย หรือรังแคอาจมีอาการคัน แดง การดูแลเบื้องต้นคือการใช้แชมพูที่อ่อนโยน หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกับหนังศีรษะ และอาจต้องใช้ยาทาลดการอักเสบตามแพทย์สั่งร่วมด้วย
  • ผมร่วง เรื่องผมร่วงนั้นเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดมักมาจากกรรมพันธุ์ ร่วมกับอาจมีภาวะฮอร์โมนเพศชายมากกว่าปกติ ซึ่งควรรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ผมยิ่งบางลงเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป โดยทั่วไปมักเริ่มการรักษาด้วยยา โดยยาที่ใช้มีตั้งแต่ยาทาบางชนิด และยาชนิดรับประทานในคนไข้เพศชายเนื่องจากเป็นยาที่ลดฮอร์โมนเพศชายที่มีผลต่อโรคผมบาง ซึ่งการรักษาดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์

 

สำหรับการบำรุงผมโดยทั่วไปที่ไม่ใช่การรักษามาตรฐาน มักไม่สามารถทำให้ผมกลับมาหนาดังเดิมได้ และอาจทำให้ได้รับการรักษาล่าช้าและผมยิ่งบางลง จึงแนะนำปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเผื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด

นอกจากนี้ ก็ยังมีโรคที่พบบ่อย เช่น ซิฟิลิส หนองใน เชื้อรา ผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณนี้ซึ่งเป็นบริเวณที่ผิวหนังบอบบาง แต่คนไข้มักไม่กล้ามารักษา หากพบว่าเป็นโรคเหล่านี้ควรรีบรักษา และติดตามกับแพทย์เพื่อลดโอกาสภาวะแทรกซ้อน และอันตรายจากการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง

บทความที่เกี่ยวข้อง : อากาศร้อน ระวังโรคผิวหนังจากเชื้อราในเด็ก

 

การป้องกันโรคผิวหนัง

ในหน้าร้อนสิ่งสําคัญคือ ควรหลีกเลี่ยงการตากแดดเป็นระยะเวลานาน หรือหากมีความ จําเป็นต้องอยู่กลางแจ้ง เป็นเวลานาน ๆ ก็ควรใช้ครีมกันแดดทาบริเวณใบหน้า ลําคอ และผิวบริเวณที่ไม่มี เสื้อผ้าปกคลุม การทาครีมกันแดดใน 1 วัน หากต้องออกกลางแจ้งบ่อย ควรจะทา ก่อนออกแดดประมาณครึ่งชั่วโมง โดยหลังจากทาไปแล้ว และยังต้องอยู่กลางแจ้งหลาย ๆ ชั่วโมง ก็ควรจะมีการทาซ้ำทุกๆ ชั่วโมง

 

ในปัจจุบันมีการผลิตครีมกันแดดสําหรับเด็ก จึงแนะนําให้ผู้ปกครองควรที่จะเริ่มทาครีมกันแดดให้บุตรหลานของท่าน นอกจากนี้การแต่งกายเป็นสิ่งที่สําคัญในการช่วยป้องกันแสงแดด ก่อนออกแดดควรใส่เสื้อแขนยาว หรือเสื้อผ้าที่มีสีเข้ม ใส่หมวกที่มีปีกกว้าง และแว่นกันแดด การสวมใส่เสื้อผ้า หรือเครื่องแบบควร ให้หลวมขึ้นเพื่อช่วยระบายความร้อน เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคเชื้อรา และการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง รวมทั้งควรอาบน้ำให้บ่อยขึ้น ในช่วงหน้าร้อน ในเด็กเล็ก การอาบน้ำทาแป้งและใส่เสื้อผ้าที่โปร่งบาง จะช่วยให้ระบายเหงื่อได้ดียิ่งขึ้น

 

สำหรับประเทศไทยที่แสงแดดค่อนข้างแรงและมีมลพิษอยู่มาก อย่างน้อยๆ การหลีกเลี่ยงแสงแดดเป็นเวลานานๆ สวมเสื้อแขนยาว หรือเสื้อที่มีความโปร่ง ทาครีมกันแดด ก็สามารถช่วยได้ระดับหนึ่งแล้ว

  • รักษาความสะอาดของผิวหนังอยู่เสมอ เพราะการไม่อาบน้ำจะก่อให้เกิดความสกปรกหมักหมม ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับผิวหนัง
  • พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูจากอาการเหนื่อยล้าในแต่ละวัน และแน่นอนว่าผิวหนังเองก็จะได้รับการฟื้นฟูเช่นกัน
  • เลือกเครื่องสำอางที่เหมาะสม ผิวหนังของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นควรมีการทดสอบก่อนว่าเครื่องสำอางแบบไหนที่เหมาะกับร่างกาย แบบไหนที่ก่อให้เกิดอาการแพ้
  • ปกป้องผิวหนังจากการเผชิญแดดจัดๆ ไม่ว่าจะเป็นการใส่เสื้อแขนยาว ทาครีมกันแดด เนื่องจากแดดจัดจะส่งผลเสียระยะยาวกับผิวหนัง
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์เป็นประจำ เพื่อส่งเสริมให้สุขภาพผิวดีขึ้น
  • หลีกเลี่ยงสารพิษที่ส่งผลต่อผิวหนัง
  • ดูแลสภาพจิตใจ ความเครียดที่สูงขึ้นจะส่งผลให้การหลั่งฮอร์โมนผิดปกติ ส่งผลให้เกิดอาการระคายเคือง สิว และผิวขาดความชุ่มชื้นได้
  • ตรวจสอบร่างกายของตัวเองเป็นประจำ เนื่องจากอาการที่เกี่ยวกับผิวหนังมักพบเห็นได้ด้วยตาเปล่า การสังเกตตัวเองจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดเพื่อให้ได้รู้ถึงความเสี่ยงและสิ่งที่เกิดขึ้นกับผิวหนัง

 

การรักษา

ผื่นผิวหนังอักเสบอาจรักษาได้ยาก และอาจต้องการการรักษาที่แตกต่างกันตามระยะเวลา ผลิตภัณฑ์สำหรับใช้รักษาอาจมีหลายกลุ่ม ดังนี้

  • ผลิตภัณฑ์ช่วยให้ผิวนุ่มและชุ่มชื้น (Emollients) หรือครีมที่ช่วยรักษาความชุ่มชื้นในผิว
  • ครีมหรือยารับประทานเพื่อลดอาการคันและอักเสบ (เช่น ยาสเตียรอยด์สำหรับใช้ภายนอก)
  • ครีมช่วยฟื้นฟูเกราะปกป้องผิวที่ถูกทำลาย
  • ยาฆ่าเชื้อหรือยาอื่น ๆ เพื่อรักษาอาการติดเชื้อในกรณีที่มีแผลเปิดหรือผิวแตก

การรักษาเสริมโดยไม่ใช้ยา ได้แก่ การลดความเครียด (ที่สามารถกระตุ้นการกำเริบของผื่นผิวหนังอักเสบ) และการพัน หรือหุ้มบริเวณแผลแบบเปียก

ที่มา : (1) (2) (3)

บทความที่น่าสนใจ :

ผิวไหม้เสียจากแดดดูแลอย่างไรให้กลับมามีสุขภาพดี

รีวิว 10 ครีมกันแดดน่าใช้ประจำปี ราคาดี ป้องกันเริ่ด

โรคผิวหนังหน้าร้อนในเด็ก แดดแรงขนาดนี้ แม่ห้ามประมาทนะ!

บทความโดย

@GIM