โรคปอดอักเสบ ทารก
โรคปอดอักเสบ ทารก แม่ต้องหัดสังเกตลูกรัก หากหายใจหอบจนอกบุ๋ม ไอเยอะผิดสังเกต ต้องระวังให้ดี!
สังเกตอาการลูก
น้องเอิร์นอายุ 3 เดือน มีอาการไข้ต่ำ ๆ ไอเล็กน้อยน้ำมูกใสมา 3 วัน เริ่มมีไข้สูงซึมลง ไอเยอะมาก หายใจหอบเหนื่อย คุณแม่จึงพามาโรงพยาบาล
เมื่อหมอได้ตรวจร่างกายก็พบว่า หายใจหอบเหนื่อยมากจนหน้าอกบุ๋ม ฟังได้เสียงผิดปกติในปอด ส่งเอกซเรย์ปอดพบว่าน้องเอิร์นมีอาการของโรคปอดอักเสบติดเชื้อหรือที่เรียกกันว่าปอดบวมนั่นเอง โรคนี้เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปีของประเทศไทย คุณพ่อคุณแม่จึงควรรู้จักโรคนี้ค่ะ
โรคปอดอักเสบในเด็กเกิดจากอะไร?
เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของปอดอักเสบในเด็ก มีได้ทั้งไวรัส หรือ แบคทีเรีย ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม อายุ เช่น เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น RSV หรือแบคทีเรีย เช่น นิวโมคอคคัส หรือ ฮิบ ส่วนเด็กที่อายุมากกว่า 5 ปีสาเหตุมักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น ไมโคพลาสมา,นิวโมคอคคัส มากกว่าไวรัส
โรคปอดอักเสบในเด็กมีการติดต่อได้อย่างไร?
การติดต่อของเชื้อก่อโรคปอดอักเสบในเด็กมักเกิดจากการสัมผัสละอองของน้ำมูก น้ำลายหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย จึงติดต่อได้ง่ายมากในเด็กเล็กที่มีการสัมผัสกันแต่ใกล้ชิด นอกจากนี้อาจติดต่อได้จากการสูดหายใจเข้าไป การสำลัก หรือการกระจายของเชื้อตามกระแสเลือดไปสู่ปอด ได้อีกด้วย
อาการของโรคปอดอักเสบในเด็กเป็นอย่างไร?
3 ลักษณะอาการ เด่นที่ทําให้นึกถึงโรคปอดอักเสบ ได้แก่ ไข้ ไอ และหอบ ซึ่งสังเกตได้จากการที่เด็กหายใจเร็วกว่าปกติของวัยนั้น เช่น
- อายุ < 2 เดือน อัตราการหายใจตั้งแต่ 60 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป
- อายุ 2 เดือน – 1 ปี อัตราการหายใจตั้งแต่ 50 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป
- อายุมากกว่า 1-5 ปี อัตราการหายใจตั้งแต่ 40 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป
ร่วมกับมีลักษณะอาการหายใจลําบาก มีหน้าอกบุ๋มขณะหายใจ ริมฝีปากเขียว คุณหมอตรวจร่างกายฟังได้เสียงปอดผิดปกติ นอกจากนี้ ในเด็กเล็กอาจแสดงอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ซึม หยุดหายใจเป็นพัก ๆ อาเจียน ไม่ยอมดูดนมหรือน้ำ
คุณหมอจากวินิจฉัยโรคปอดอักเสบในเด็กได้อย่างไร?
คุณหมอจะสงสัยโรคปอดอักเสบติดเชื้อในเด็กที่มีอาการดังกล่าวข้างต้น ร่วมกับการตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค และทราบเชื้อที่เป็ นสาเหตุ โดยการส่งตรวจเอกซเรย์ภาพรังสีทรวงอก ตรวจเลือดเพื่อดูจำนวนเม็ดเลือดขาว ส่งตรวจและเพาะเชื้อแบคทีเรียจากเสมหะ ส่งเพาะเชื้อในเลือดในผู้ป่วยที่มีไข้สูงที่สงสัยเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย การตรวจหาเชื้อไวรัสโพรงจมูก เช่น RSV, adenovirus, ไวรัสไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น
การรักษาโรคปอดอักเสบในเด็กทำได้อย่างไร?
เนื่องจากผู้ป่วยโรคปอดอักเสบในเด็กหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เชื้อลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น สมอง หรือเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้มีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ การรักษาโรคนี้อย่างรวดเร็วและทันท่วงทีจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
การรักษาที่จำเพาะขึ้นอยู่กับเชื้อสาเหตุของโรค ในกรณีที่สงสัยว่ามีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย คุณหมอจากพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะตามเชื้อที่น่าจะเป็นสาเหตุ ในกรณีที่สงสัยว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัส จะไม่มียารักษาที่จําเพาะเจาะจง นอกจากการให้การรักษาแบบประคับประคอง เช่น การให้ออกซิเจน การให้น้ำให้พอเพียงกับความต้องการของผู้ป่วย และการรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาขยายหลอดลม ยาแก้ไอละลายเสมหะ เป็นต้น หากมีอาการรุนแรง คุณหมอจะพิจารณารับไว้รักษาตัวและสังเกตอาการในโรงพยาบาล
การป้องกันลูกน้อยจากโรคปอดอักเสบทำได้อย่างไร?
คุณพ่อคุณแม่สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคปอดอักเสบของลูกได้ง่าย ๆ โดยสอนให้ล้างมือเป็นประจำ ใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปในที่ชุมชนคนเยอะ หากลูกมีอาการไข้ ไอ หอบ ควรรีบพามาพบคุณหมอโดยเร็วเพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ป้องกันภาวะแทรกซ้อน
นอกจากนี้ โรคปอดอักเสบจากเชื้อโรคบางชนิดสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน เช่น ไข้หวัดใหญ่, ฮิบ, นิวโมคอคคัส อีกด้วย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับเรื่องวัคซีนได้ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
สแกนสมองทารก พัฒนาการทางสมองของทารก ระหว่างชาย/หญิง ต่างกันตรงไหน?
วิธีห่อตัวทารก พร้อมคลิปสาธิต คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ฝึกกันหรือยัง
งูสวัด ทารก โรคงูสวัดในเด็กเล็ก อาการของทารกที่เป็นโรคงูสวัด แม่จะสังเกตได้ยังไง