โรคที่จะตามมาเมื่อ แม่ท้องเสี่ยงความดันโลหิตสูง
สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาเผย คุณแม่ท้องที่มีระดับความดันโลหิตในกลุ่มที่เสี่ยงจะเป็นความดันโลหิตสูง คือระดับความดัน systolic อยู่ระหว่างค่า 120-139 หรือความดัน diastolic อยู่ระหว่าง 80-89 มีโอกาสสูงที่จะพัฒนาไปสู่โรคทางคาร์ดิโอเมตาบอลิก ซึ่งได้แก่ โรคเบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด และภาวะอ้วน โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่าผู้หญิทั่วโลกเป็นโรคทางคาร์ดิโอเมตาบอลิก เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ความรู้เบื้องต้นในการอ่านค่าความดันโลหิต
การวัดความดันโลหิตทั้งของคุณแม่ท้องและบุคคลทั่วไปจะใช้เกณฑ์เดียวกันไม่มีการแบ่งแยกแต่อย่างใด โดยค่าความดันจะมี 2 ค่า
ค่าความดัน systolic (ตัวเลขบน)
เมื่อหัวใจเต้น จะมีการบีบตัวและดันเลือดออกมาจากหัวใจไปตามเส้นเลือดแดงทั่วร่างกาย แรงดันนี้ทำให้เกิดความดันในเส้นเลือดแดง ค่าความดันที่วัดได้นี้คือความความดัน systolic
- ค่าปกติของความดัน systolic นี้ควรจะต่ำกว่า 120
- ถ้าระดับที่วัดได้คือ 120-139 แปลว่าคุณเริ่มมีความเสี่ยงที่จะเป็นความดันโลหิตสูง Prehypertension หรือเรียกอีกอย่างว่า borderline hypertension ซึ่งแปลว่าคุณมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจมากขึ้น
- ความดัน systolic ที่สูงกว่า 140 ถือว่าเป็นความดันโลหิตสูง (hypertension)
ค่าความดัน diastolic (ตัวเลขล่าง)
แสดงถึงความดันในเส้นเลือดแดงในขณะที่หัวใจพักการบีบตัวแต่ละครั้ง
- ค่าปกติควรจะต่ำกว่า 80
- ค่าระหว่าง 80-89 แสดงว่าเริ่มมีความเสี่ยงที่จะเป็นความดันโลหิตสูง (Prehypertension)
- ค่าที่สูงกว่า 90 ถือว่าเป็นความดันโลหิตสูง (hypertension)
วิธีการวิจัย
นักวิจัยได้ทำการศึกษากับคุณแม่ชาวจีน 507 คนที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ไม่มีประวัติความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดและคอเลสเตอรอลอยู่ในระดับปกติ
ก่อนเข้าร่วมการวิจัย – คุณแม่เหล่านี้ได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด และคอเลสเตอรอล
ระหว่างตั้งครรภ์ – ได้รับการตรวจวัดค่าความดันโลหิตไม่ต่ำกว่า 7 ครั้ง รวมถึงการตรวจทั่วไป การชั่งน้ำหนัก และการอัลตร้าซาวนด์ทารกในครรภ์
ก่อนคลอด – ได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด และคอเลสเตอรอล
หลังคลอด – ได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด และคอเลสเตอรอลทุกสองสามเดือน ไปจนกว่าลูกจะมีอายุ 1.6 ปี
นักวิจัยได้แบ่งกลุ่มคุณแม่ออกเป็น 3 กลุ่มตามระดับความดันโลหิต
- กลุ่มแรก –ความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ขั้นต่ำของระดับปกติตลอดการตั้งครรภ์
- กลุ่มสอง – ความดันโลหิตอยู่ในตอนกลางของระดับปกติตลอดการตั้งครรภ์
- กลุ่มสาม – ความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ขั้นสูงของระดับปกติตลอดการตั้งครรภ์ หรือ สูงกว่าระดับปกติ
เมื่อคุณแม่ในกลุ่มที่สาม ทำการทดสอบสมรรถภาพการทำงานของหัวใจ พบว่าความผิดปกติของความดันโลหิต น้ำตาลในเลือด และคอเลสเตอรอลเข้าไปรบกวนการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดกลุ่มอาการทางเมตาบอลิก (metabolic syndrome) ในอีก 20-30 ปีหลังคลอดได้
จากการศึกษานี้ยังพบว่า คุณแม่ท้องที่มีความดันโลหิตในกลุ่มที่สาม จะมีโอกาสพัฒนาไปสู่กลุ่มอาการทางเมตาบอลิก หลังคลอดมากกว่าคุณแม่ท้องที่มีระดับความดันโลหิตปกติถึง 6.5 เท่า
กลุ่มอาการทางเมตาบอลิกจะเกิดเมื่อคุณมีอาการเหล่านี้ 3 ข้อขึ้นไป
- อ้วนลงพุง (รอบเอว 35 นิ้วขึ้นไปหรือสูงกว่า)
- ระดับไตรกลีเซอไรด์ 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรของเลือด (mg / dL) หรือสูงกว่า
- คอเลสเตอรอล HDL (ไขมันดี) น้อยกว่า 50 mg / dL
- ความดันโลหิต Systolic 130 มิลลิเมตรปรอทหรือมากกว่าหรือความดันโลหิต diastolic 85 มิลลิเมตรปรอทหรือมากกว่า
- น้ำตาลในเลือด 100 mg / dL หรือสูงกว่า
เมื่อคุณแม่ไปตรวจครรภ์จะได้รับการวัดความดันโลหิตและตรวจปัสสาวะเป็นประจำอยู่แล้ว ทั้งนี้หากคุณแม่ตรวจพบปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่เนิ่นๆ และมีการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตก็จะช่วยลดโอกาสการเป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด และภาวะอ้วนในอนาคตได้ค่ะ
วิธีป้องกันความดันโลหิตสูง
เมื่อคุณแม่วัดความดันโลหิตได้ในระดับ Prehypertension หมายความว่า ความดันโลหิตของคุณอาจจะมีปัญหา ควรปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ เพื่อควบคุมระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติ ดังนี้ค่ะ
- ลดอาหารรสเค็ม เลือกอาหารที่มีเกลือน้อย หากปรุงอาหารเองหลีกเลี่ยงการเติมเกลือ น้ำปลาหรือผงชูรส
- รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ ประกอบด้วยผัก ผลไม้ อาหารไขมันต่ำ ธัญพืช ปลา นมไขมันต่ำ ถั่ว หลีกเลี่ยงเนื้อแดง น้ำตาล เครื่องดื่มที่มีรสหวาน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการเดินหรือวิ่งเหยาะ ๆ ว่ายน้ำ เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน ประมาณ 3 – 4 วันใน 1 สัปดาห์ โดยใช้เวลาออกกำลังอย่างน้อย 20 -30 นาทีต่อครั้ง
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน (เช่น ชา กาแฟ โคล่า และเครื่องดื่มชูกำลัง)
- งดบุหรี่ บุหรี่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นกว่าปกติ และยังเป็นอันตรายต่อหลอดเลือดหัวใจและสมองอีกด้วย
การรักษาสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ไม่เพียงแต่เพื่อลูกในท้องเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อสุขภาพของคุณแม่ในระยะยาวด้วยค่ะ
ที่มา https://stylemagazine.com/
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
5 โรคแทรกซ้อนอันตรายสำหรับคนท้อง
ความสำคัญของการฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์