โรคจากยุง เรียกได้ว่าเป็นโรคร้ายที่อันตรายถึงชีวิต เพราะปัจจุบันก็มีโรคหลายชนิดที่สามารถส่งผ่านจากยุงและนำมาสู่คนได้ ซึ่งคนที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อไวรัสจากยุงก็สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ดังนั้น บทความวันนี้เราจึงจะพาไปทำความรู้จักกับโรคที่มียุงเป็นต้นเหตุ จะมีโรคอะไรบ้าง และมีวิธีการป้องกันอย่างไร ไปดูกันเลยค่ะ
3 โรคจากยุงที่ต้องระวัง
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระวังป่วย 3 โรคจากยุง เผยข้อมูลปี 2561 พบผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายกว่า 3.5 พันราย ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ แนะประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”
- โรคไข้เลือดออก
- โรคติดเชื้อไวรัสซิกา
- โรคไข้ปวดข้อยุงลาย
บทความที่เกี่ยวข้อง : แนะนำ 10 เครื่องดักยุง ยี่ห้อไหนดี คุณภาพดี ใช้งานง่าย กำจัดยุงได้ดี!
โรคจากยุงไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้ในภาคใต้ของประเทศไทยยังคงมีฝนตกในบางพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำขังในภาชนะต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย เป็นสาเหตุให้ประชาชนเสี่ยงเป็นโรคไข้ปวดข้อยุงลาย จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า สถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลายของปี 2561 พบผู้ป่วยจำนวน 3,551 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยผู้ป่วยเกือบทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ (3,524 ราย)
อาการโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา
โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาที่มียุงลายสวน และยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค พบได้ทุกกลุ่มอายุ จะมีอาการคล้ายไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อก โดยลักษณะอาการคือ
- มีไข้
- ออกผื่นและมีอาการปวดข้อ
- ข้อบวมแดง เริ่มจากบริเวณข้อมือ ข้อเท้า และข้อต่อแขนขา
ทั้งนี้ อาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา หากประชาชน มีอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว
โรคจากยุงไข้ซิกา
ไวรัสซิกา (Zika Virus) เป็นเชื้อไวรัสในตระกูลเฟลวิไวรัส (Flavivirus) ลักษณะคล้ายคลึงกับไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ซึ่งเป็นสาเหตุของไข้เลือดออก รวมทั้งไวรัสเวสต์ไนล์ที่เป็นสาเหตุของไข้สมองอักเสบ และเชื้อไข้สมองอักเสบจีอี ทั้งหมดเกิดจากยุงลายเป็นพาหะเชื้อไวรัสซิกาถูกค้นพบครั้งแรกจากในน้ำเหลืองของลิงวอกที่ถูกนำมาจากป่าซิกาในประเทศยูกันดาเพื่อใช้ศึกษาไข้เหลือง เมื่อปีพ.ศ.2490 และในคนเมื่อพ.ศ.2511 ในประเทศไนจีเรีย เชื้อไวรัสซิกาพบได้ในแถบประเทศแอฟริกา ทวีปอเมริกา ทวีปเอเชียใต้ และหมู่เกาะในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก
อาการของโรคไข้ซิกา
ระยะฟักตัวเฉลี่ย 4 – 7 วัน สั้นที่สุด 3 วัน อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ ปวดบวม ปวดหลัง อาจมีอาการอื่น ๆ ได้ เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต และอุจจาระร่วง ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ยกเว้นในหญิงตั้งครรภ์ที่ส่งผลต่อทารกในครรภ์ทำให้มีสมองเล็ก (Microephaly) หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์
ทั้งนี้ โรคไข้ซิกา ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยารักษาเฉพาะโรค เพียงแต่รักษาตามอาการ ห้ามรับประทานยาแอสไพรินหรือยากลุ่มลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ (NSAIDs) เนื่องจากยาบางชนิดเป็นอันตรายสำหรับโรคนี้ โดยอาจทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น
โรคไข้เลือดออกเกิดจากอะไร?
โรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อว่าเดงกี่ (Dengue) ซึ่งมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ด้วยกัน โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค คือ เมื่อยุงลายไปกัดคนที่เป็นไข้เลือดออกก็จะดูดเชื้อโรคไว้ และเพิ่มจำนวนในตัวของยุง จากนั้นยุงไปกัดคนอื่นก็จะถ่ายทอดเชื้อเดงกี่ให้ต่อไป
อาการของไข้เลือดออกเป็นอย่างไร?
อาการของโรคไข้เลือดออก คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตได้ง่าย ๆ ตามชื่อโรคคือ มีไข้ และมีเลือดออก นอกจากนั้นคือมีอาการร่วมอื่น ๆ และอาจมีอาการรุนแรงได้
- ไข้ จะเป็นลักษณะไข้สูงลอย ทานยาแล้วไข้ไม่ค่อยลด มีอาการปวดศีรษะเวลามีไข้
- เลือดออก คือ มีอาการเลือดออกตามอวัยวะต่าง ๆ ที่สังเกตได้ชัดเจนเช่นจุดเลือดออก เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ
- อาการร่วมอื่น ๆ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร
- และบางคนอาจมีอาการรุนแรง ได้แก่ ช็อกหมดสติ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ไข้เลือดออก คืออะไร มีอาการอะไรบ้าง เป็นภัยร้ายหน้าฝนที่ควรระวัง!!
หากลูกเป็นไข้เลือดออกคุณพ่อคุณแม่ควรให้การดูแลอย่างไร?
เนื่องจากโรคนี้ไม่มียาต้านไวรัส การรักษาจึงต้องใช้การรักษาตามอาการ หากลูกมีอาการรุนแรงคุณหมอจะแนะนำให้สังเกตอาการในโรงพยาบาลทันที แต่หากอาการไม่รุนแรงคุณหมออาจแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ดูอาการลูกที่บ้าน ให้ทานยาลดไข้เมื่อมีไข้สูง เช็ดตัวลดไข้ ทานยาแก้คลื่นไส้อาเจียน จิบน้ำเกลือแร่ งดอาหารและเครื่องดื่มที่มีสีแดง ดำ หรือน้ำตาลเพื่อมิให้เข้าใจผิดหากมีอาการอาเจียนว่ามีเลือดปนออกมา และคอยสังเกตอาการที่ต้องรีบมาพบคุณหมอ ได้แก่ ทานไม่ได้ คลื่นไส้อาเจียนมาก มีเลือดออกผิดปกติ ปัสสาวะออกน้อย มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงเช่น ซึมมากหรือร้องกวน โวยวายมากผิดปกติ นอกจากนี้คุณหมออาจนัดมาดูอาการและเจาะเลือดเป็นระยะก็ควรจะมาทุกครั้ง
วิธีป้องกัน 3 โรคจากยุงตัวร้าย
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ขอให้ประชาชนเตรียมความพร้อมในการป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลาย โดยการทายากันยุง นอนในมุ้ง กำจัดยุงตัวเต็มวัยด้วยสเปรย์ ไม้ช็อตไฟฟ้า พร้อมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในภาชนะที่มีน้ำขัง เช่น ถาดรองขาตู้ ยางรถยนต์เก่า และกระถางต้นไม้ นอกจากนี้ ขอเน้นย้ำให้ประชาชนยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ
- เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
- เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
- เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่
ทั้งนี้ จะสามารถป้องกันได้ 3 โรคจากยุงในคราวเดียวกัน คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย สำหรับประชาชนที่มีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แนะนำ 10 ยาจุดกันยุง คุณภาพดี ปลอดภัย ยี่ห้อไหนน่าใช้มาดูกัน!
โรคชิคุนกุนยาระบาด โรคติดต่อที่มากับยุง เตือนพ่อแม่ให้ระวังลูกน้อยในช่วงนี้!!
กำจัดยุงอย่างไรให้ลูกปลอดภัย แต่ยุงร้ายตายเรียบ มาฟังคำแนะนำจากคุณหมอกัน
ที่มา : moph.go.th