คุณแม่ Kwang Piyarin จากสมาชิกเฟสบุ๊คและเพจคนท้องคุยกัน ได้แชร์เรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้นกับลูกสาววัยเพียง 1 เดือน 11 วันว่า เกือบสูญเสียลูกสาวไปด้วยภาวะรองกลั้น และสำลักนม
โดยคุณแม่เล่าว่า ปกติแล้ว น้องฟ้าใส จะเป็นเด็กอารมณ์ดี กินนมเก่ง มีงอแงบ้างตามปกติเวลาที่หิว และเป็นเด็กที่ตกใจง่าย และเมื่อตกใจจะชอบทำสะดุ้ง
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อกลางดึกวันหนึ่ง ที่น้องตื่นกินนมตามปกติ กินไปหลับไป เสร็จแล้วก็อึ แต่คืนนั้น แม่ไม่ได้จับเรอ เลยวางน้องลงบนที่นอน เพื่อที่จะทำการเปลี่ยนผ้าอ้อมสำเร็จรูปให้ พอดีกับตอนนั้น น้องฟ้าใสแหวะนมออกมาพอดี คุณแม่เลยต้องหันไปหยิบสำลีชุบน้ำเช็ดปากก่อน และเมื่อสำลีถูกปากน้อง ๆ ก็มีท่าทีสะดุ้งและงอแงนิดหน่อย
คุณแม่ก็เลยเช็ดจากปากไล่ลงมาถึงที่คอ จากจุดนั้นเอง ทำให้น้องจากกำลังหลับอยู่กลับกลายเป็นตื่นขึ้นทันที และร้องไห้ดังมากจนคุณแม่ตกใจ ไม่นานสิ่งไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อจู่ ๆ น้องก็หลับตา ตัวเกร็ง ปากปิด จมูกไม่มีลม และไม่หายใจ!! ตอนนั้นคุณแม่ตกใจมากเรียกชื่อน้องอย่างไร น้องก็ไม่ยอมตื่น เลยพยายามตั้งสติ จึงเอานิ้วแหย่เข้าไปในปาก ตบหน้าอกและหลังน้องเบา ๆ พร้อมทั้งเป่าปาก ได้ผล!! น้องร้องไห้ออกมาอีกครั้ง
และสิ่งที่ออกมาพร้อมกับเสียงร้องก็คือ การมีนมออกมาจากทางปาก มีน้ำมูกออกมาจากทางจมูก พร้อมกับมีเสมหะและเศษนมออกมาด้วย ไม่นานน้องก็หายใจได้ดีขึ้น ซึ่งในระหว่างที่กำลังรอรถพยาบาล คุณแม่ก็เลยหยิบลูกยางมาดูดจมูกซ้ำอีกครั้ง และสิ่งที่ได้ก็คือ ก้อนขี้มูกที่มีขนาดใหญ่มาก สำหรับเด็กอายุเท่านี้ คุณแม่จึงคิดว่า เป็นเพราะสิ่งนี้นี่เองที่ไปอุดการหายใจน้อง
เมื่อถึงโรงพยาบาล น้องก็มีอาการสลึมสลือ ครึ่งหลับครึ่งตื่น มีอ้อแอ้คุยกับแม่บ้าง แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อน้องมีอาการซ้ำกับก่อนหน้านี้ แต่โชคดีที่อยู่ในมือหมอแล้ว หมอจึงรีบทำการช่วยเหลือได้ทันท่วงที โดยคุณหมอก็ได้มีซักถามประวัติต่าง ๆ เกี่ยวกับโรคทางพันธุกรรม และแนะนำว่าจะต้องเอาน้องนอนรักษาตัวที่นี่
น้องฟ้าใส ถูกนำตัวเข้าห้องไอซียูของเด็กทันที โดยให้งดนม ในตอนนั้นคุณแม่ต้องอยู่รอหน้าห้อง ได้ยินแต่เพียงเสียงร้องของลูก ตอนนั้นใจของแม่เหมือนจะขาดไปเสียให้ได้
ไม่นาน คุณหมอก็อนุญาตให้เข้าไปดูลูกได้ ตอนนั้นเอง น้ำตาของแม่ไหลโดยไม่รู้ตัว เพราะภาพที่เห็นตรงหน้านั้นคือ ลูกสาวของตัวเองมีสายระโยงระยางเต็มไปหมด น้องร้องด้วยความเจ็บปวด หิวนมก็ทานไม่ได้ พยายามอ้าปากเพื่อหานมกินตลอด
เก้าโมงเช้าของวันต่อมา หมอถึงอนุญาตให้น้องทานนมได้ แต่ให้ทานในปริมาณที่กำหนด เพราะสาเหตุที่น้องมีอาการเช่นนี้นั้น เนื่องมาจากนมล้นกระเพาะ เป็นเหตุให้มีอาการสำลักนม และเกิดภาวะร้องกลั้น หมอได้ส่งน้องไปตรวจเอ็กซเรย์ ตรวจโรคหัวใจ และตรวจปอด เพื่อดูว่าที่น้องสำลักนั้นมีอะไรย้อนลงเข้าไปในปอดหรือเปล่า แต่น้องปกติดีทุกอย่าง หมอจึงอนุญาตให้นำน้องกลับบ้านได้ โดยแนะนำว่าอย่าให้นมน้องถี่จนเกินไป เพราะอาจจะทำให้น้องแน่นกระเพาะได้
“อยากฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ทุกคนค่ะว่า อย่าประมาทกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ จงมีสติให้มาก เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นกับลูกของเรา” คุณแม่ Kwang Piyarin กล่าว
คลิกเพื่ออ่านสาเหตุการสำลักนมได้ที่หน้าถัดไปค่ะ
สาเหตุการสำลักนม
แบ่งออกเป็นปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก
ปัจจัยภายใน
-เด็กแรกเกิดที่มีปัญหาเกี่ยวกับอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการดูดกลืน ได้แก่ ปากแหว่งเพดานโหว่ ทำให้ช่องต่อระหว่างทางเดินอาหารกับระบบทางเดินหายใจมีปัญหาหรือภาวะหูรูด ทางเดินอาหารยังปิดไม่สมบูรณ์
-ทารกที่มีปัญหาเรื่องปอดและหัวใจ ทำให้ต้องหายใจเร็วขึ้นในขณะที่ดูดนม จึงมีโอกาสสำลักนมมากกว่าเด็กปกติทั่วไป
-เด็กที่มีปัญหาพัฒนาการที่ล่าช้า หรือเคยมีประวัติชักก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะสำลักนมได้ง่าย
ปัจจัยภายนอก
-วิธีการให้นม ถ้าเด็กดูดนมแม่มักจะไม่เกิดปัญหาสำลักนมหรือมีโอกาสน้อยเพราะน้ำนมแม่จะไหล ก็ต่อเมื่อลูกดูดเท่านั้น แต่ถ้าเป็นนมชงจากขวด ไม่ว่าลูกจะดูดนมหรือไม่ดูดนมก็ตามนมจะไหลออกมาตลอด ถ้าคุณแม่อุ้มลูกในท่าที่ไม่ถูกวิธี เช่น ป้อนนมในขณะที่ลูกกำลังนอน ป้อนนมในขณะที่ลูกกำลังร้องไห้ หรือการให้ลูกนอนกินนมล้วนเป็นสาเหตุให้ลูกสำลักนมได้
-ความเข้าใจผิดของคุณแม่ เวลาที่ลูกร้องก็ป้อนนมอาจเพราะเข้าใจผิดว่าลูกหิว ซึ่งอาจทำให้ปริมาณนมในกระเพาะอาหารเกินความต้องการ ส่งผลให้ทารกสำลักนมออกมา การร้องไห้ของลูกนั้นควรหาสาเหตุที่แท้จริงเสียก่อน เช่น ร้องเพราะอยากให้อุ้ม ร้องเพราะไม่สบายตัว ร้องเพราะอึหรือฉี่ เป็นต้น
-การใช้จุกนมขวดที่ผิดขนาด และไม่เหมาะสมกับช่วงวัย ทำให้ปริมาณนมไหลออกมามากกว่าปกติ ทำให้เด็กสำลักนมได้
วิธีป้องกันไม่ให้เด็กสำลักนม
1.ควรให้นมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกและเริ่มต้นให้อาหารเสริมตามวัยที่เหมาะสม คือ 6 เดือนเป็นต้นไป เพราะในช่วงนี้อวัยวะการดูดกลืนจะทำงานได้ดีกว่าในช่วงแรกเกิด และสามารถชันคอตั้งตรงได้ทำให้โอกาสในการสำลักมีน้อยลง
2.จับเรอทุกครั้งหลังจากดูดนมเสร็จแล้ว วัยแรกเกิด – 2 เดือน ที่คอยังไม่แข็ง ควรใช้วิธีอุ้มลูกนั่งตัก ใช้มือประคองช่วงขากรรไกรเพื่อประคองศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างลูบหลังโดยการลูบขึ้นเบา ๆ
3.สำหรับเด็กทารกที่คอแข็งดีแล้ว สามารถใช้วิธีอุ้มพาดบ่าใช้มือประคอง ลูบหลังขึ้นเบา ๆ
วิธีช่วยเหลือเมื่อลูกสำลักนม
จับเด็กนอนตะแคง โดยให้ศีรษะเด็กต่ำลง เพื่อป้องกันไม่ให้นมหรืออาหารที่ติดค้างในปากไหลย้อนกลับไปที่ปอด
ข้อควรระวัง ไม่ควรอุ้มเด็กขึ้นทันทีที่เกิดการสำลัก
ที่มา: เพจคนท้องคุยกัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
อันตรายถึงชีวิต!! ถ้าลูกสำลักนมแม่
ทำไมเด็กแรกเกิดต้องการนมแม่เร็วที่สุด?