คุณแม่ตูนได้ติดต่อมายังทีมงาน เพื่อขอแชร์ประสบการณ์ที่เพิ่งเกิดกับลูกชายวัย 6 ปี ที่เพิ่งหายจากอาการป่วยโรคอีดำอีแดง … โรคแปลกอีกโรคหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต่างหวาดหลัว
คุณแม่เล่าว่า อาการแรกเริ่มนั้น เริ่มจากน้องชินมีอาการเจ็บคอ ปวดหัว มีไข้ต่ำ น้ำมูกเริ่มข้น คุณแม่จึงไปซึ้้อยาฆ่าเชื้อให้ลูกทาน และจะให้ทานยาแก้ไข้ก็ต่อเมื่อน้องมีไข้ หลังจากที่น้องทานยาฆ่าเชื้อไปก็ดูเหมือนจะดีขึ้น ในตอนนั้น คุณแม่เข้าใจว่าอาการของลูกน่าจะเป็นอาการเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ และเจ็บคอแบบปกติทั่วไป เพราะอาการเป็น ๆ หาย ๆ แต่ผ่านไปไม่กี่วันจู่ ๆ ก็มีผื่นแดงขึ้นตามตัวของน้องชิน
โดยผื่นที่ว่านี้เป็นผื่นนูน ๆ คล้ายกับเวลาเราขนลุก เมื่อใช้มือลูบก็จะสาก ๆ คุณแม่จึงรีบพาลูกชายไปโรงพยาบาล และทำการแอ็ดมิทวันนั้นเลย แต่ตอนที่แอ็ดมิทก็ยังไม่มีอาการอะไรหนัก ไข้ก็มีแบบต่ำ ๆ คอเริ่มแดง แต่หลังจากนั้นผ่านไป 8 ชั่วโมง จู่ ๆ น้องชินก็มีไข้ขึ้นสูงถึง 39 องศา เจ็บคอมาก
คุณหมอได้เอาไฟส่องเข้าไปในปาก ก็พบว่ามีจุดหนองบริเวณต่อมทอมซิล เพดานปาก และเยื่อบุปาก ลิ้นก็กลายเป็นสีชมพูแดงคล้ายกับลูกสตอเบอร์รี่ น้องต้องนอนโรงพยาบาลถึง 3 คืนกว่าที่อาการทั้งหมดจะหายสนิท คุณแม่สงสารลูกมาก และไม่อยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับครอบครัวไหนอีก
จากประสบการณ์ดังกล่าว คุณแม่จึงอยากฝากถึงผู้ปกครองท่านอื่นว่า อย่าวินิจฉัยโรคเอง หากพบอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับโรค ไม่ว่าจะเล็กน้อย ก็ควรพาไปพบแพทย์ เพราะสมัยนี้โรคแปลก ๆ เกิดขึ้นเยอะ บางโรคก็จะไม่แสดงอาการให้เราเห็น แต่ในขณะเดียวกันก็กำลังเพาะเชื้ออยู่ภายในร่างกายของลูกเรา และควรปลูกฝังให้ลูกรักสะอาด ล้างมือให้เป็นนิสัย เพราะอย่างน้อยก็ช่วยลดเปอร์เซ็นการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้บ้าง
มาทำความรู้จักกับโรคอีดำอีแดงกันค่ะ
ไข้อีดำอีแดง หรือ Scarlet fever เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ สเตรปโตคอคคัส กรุ๊ปเอ (Group A streptococcus) ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมบวกที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจตอนบน เช่น คออักเสบ ร่วมกับมีผื่นจากพิษของเชื้อโรค ที่มีลักษณะจำเพาะเจาะจงกับโรค ซึ่งผื่นนี้เป็นที่มาของชื่อว่า”โรคไข้อีดำอีแดง” นั่นเองค่ะ โรคนี้พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียน อายุประมาณ 5-15 ปี
คลิกอ่านอาการของโรคได้ที่หน้าถัดไปค่ะ
อาการของโรคไข้อีดำอีแดงเป็นอย่างไร?
ผู้ป่วยโรคไข้อีดำอีแดงจะมีอาการติดเชื้อของระบบทาง เดินหายใจส่วนบน เจ็บคอ ต่อมทอนซิลบวมแดงหรือมีจุดหนอง มีไข้สูง ร่วมกับผื่นที่มีลักษณะเฉพาะของโรค เป็นเม็ด คลำดูจะหยาบๆ สากคล้ายกับกระดาษทราย โดยเริ่มขึ้นที่บริเวณรอบคอ แล้วกระจายไปทั่วตัวและแขนขา และอาจมีเส้นสีแดงขึ้นที่บริเวณข้อพับด้านใน เช่น ใต้วงแขน หรือ ขาหนีบ หลังผื่นขึ้น 3-4 วัน จะลอกออก จากลำคอ ลงมาเรื่อยๆ จากนั้น มือ เท้า ปลายมือ ปลายเท้า และเล็บจะลอก อาจพบลักษณะแก้มแดง และรอบปากซีด ลิ้นแดงมาก ลักษณะลิ้นเป็นฝ้าหนาขึ้นและมีสีออกชมพูคล้ายผลสตรอเบอรี่ อาจมีต่อมน้ำเหลืองโต มีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ด้วยนะคะ
โรคไข้อีดำอีแดงติดต่อได้ทางไหน?
การติดต่อของโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อเชื้อสเตรปโตคอกคัส กรุ๊ปเอ ผ่านทางเดินหายใจ โดยเด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้จะสามารถแพร่กระจายเชื้อผ่านทางน้ำลาย น้ำมูก โดยการไอ จาม ทำให้ติดต่อไปยังผู้ที่ใกล้ชิด เช่น ที่โรงเรียน ที่บ้าน หรือในที่ชุมชนอื่นๆ โรคนี้มีระยะฟักตัวของเชื้อโรคประมาณ 1-3 วัน จึงแสดงอาการออกมาค่ะ
คุณหมอจะสามารถวินิจฉัยโรคไข้อีดำอีแดงได้อย่างไร?
คุณหมอจะวินิจฉัยโรคนี้โดยอาศัยการประวัติอาการที่เข้าได้กับโรค และการตรวจร่างกายเป็นหลัก โดยดูจากลักษณะผื่นผิวหนัง ลิ้น และคออักเสบ นอกจากนี้หากอาการไม่ชัดเจนคุณหมออาจทำการเพาะเชื้อจากในคอส่งตรวจทางห้อง ปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อสเตรปโตคอกคัส กรุ๊ปเอได้ค่ะ
การรักษาโรคไข้อีดำอีแดงทำได้อย่างไร?
โรคไข้อีดำอีแดง สามารถรักษาได้ไม่ยากโดยการรับประทานยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนนิซิลิน และรักษาตามอาการโดยพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ เช็ดตัวลดไข้ รับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล โดยผู้ป่วยควรรับประทานยาปฏิชีวนะให้ครบตามที่คุณหมอสั่งเพื่อผลการรักษาที่ ดี ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรค เช่น หูชั้นกลางอักสบ ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบติดเชื้อ รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น โรคไข้รูมาติก ติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อที่กระดูกและข้อ ติดเชื้อในสมอง หลังรับประทานยาฆ่าเชื้อครบอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ก็ลดโอกาสในการแพร่เชื้อไปได้มากแล้วค่ะ
การป้องกันโรคไข้อีดำอีแดงทำได้อย่างไร?
เนื่องจากโรคนี้สามารถติดต่อได้ทางการสัมผัสใกล้ชิดหรือหายใจเอาละอองฝอยที่ติดเชื้อเข้าทางระบบทางเดินหายใจ การป้องกันจึงทำได้โดย การสอนเด็กๆ ให้ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสเสมหะหรือน้ำลายของผู้ป่วย และที่สำคัญคือไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับเพื่อนที่ป่วยนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
เริ่มระบาดอีก! โรคเฮอร์แปงไจน่า โรคน่ากลัวกลุ่มเดียวกับมือเท้าปาก
เมื่อมีตุ่มขาวในปากทารกต้องทำอย่างไร