แม่เครียด มีผลต่อลูก ลึกถึงยีนในสมอง

คุณพ่อคุณแม่รู้ไหมคะว่า เด็กนั้นเปรียบเหมือนฟองน้ำ ที่สามารถซึมซับความเครียดของพ่อแม่ โดยสามารถสะท้อนผ่านแววตา พฤติกรรมของเขา การที่แม่เครียด และยังส่งผลต่อความผิดปกติทางอารมณ์ของลูก อาจนำไปสู่ โรคสมาธิสั้น และออทิสติกได้ด้วย

เดวิด โค้ด (David Code) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Kids Pick Up On Everything: How Parental Stress Is Toxic To Kids ได้รวบรวมข้อมูลจากผลการวิจัยทั่วโลกที่ยืนยันว่า ระดับความเครียดของพ่อแม่ส่งผลต่อพัฒนาการของลูกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความเครียดเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสมองของเด็กไปจนถึงยีนส์ในสมองเลยทีเดียว

ปฏิกิริยาในมดลูกของแม่ท้อง

พบความเชื่อมโยงความเครียดในแม่ท้องนำไปสู่ปัญหาพัฒนาการเด็กหลายด้าน รวมถึงโรคเครียด โรคสมาธิสั้น และโรคในกลุ่มออทิสติก ความผิดปกติทางพัฒนาการและระบบประสาทของลูกนั้น มีความเป็นไปได้ว่ามาจากปัจจัยทางสภาพแวดล้อม เช่น ปฏิกิริยาต่าง ๆ ภายในมดลูก ระดับฮอร์โมนความเครียดที่เรียกว่า คอร์ติซอล ในแม่ท้องมีผลต่อการพัฒนาสมองของตัวอ่อนในครรภ์ที่แตกต่างกัน


โค้ด อธิบายว่า เมื่อแม่ท้องเกิดความเครียด ฮอร์โมนความเครียดจะส่งไปยังทารกในครรภ์ เมื่อลูกน้อยได้รับสัญญาณความเครียดก็จะตีความว่าจะต้องมีความเครียดรุนแรงอยู่ในสภาพแวดล้อมข้างนอกแน่นอน สมองจึงสั่งการให้ทารกเตรียมพร้อมเพื่อตอบสนองต่อความเครียดเหล่านั้น ซึ่งหากสมองของทารกมีการตอบสนองที่มากเกินไปก็อาจเสี่ยงต่อความผิดปกติ เช่น โรคสมาธิสั้น หรือโรคในกลุ่มออทิสติก ได้

ระดับความเครียดหลังคลอด

ความเครียดไม่ได้ส่งผลต่อฮอร์โมนเท่านั้น ยังส่งผลต่อยีนส์ หรือ การเปลี่ยนแปลงปริมาณของดีเอ็นเอด้วย มีการศึกษาหนึ่งพบว่า พ่อแม่ที่มีความเครียดในช่วง 2-3 ขวบปีแรกของลูกน้อย จะส่งผลต่อยีนส์บางตัวของเด็ก เช่น ยีนส์ที่มีส่วนในการสร้างอินซูลิน และการพัฒนาสมองของเด็ก ต่อเนื่องไปจนแม้ว่าลูกเข้าสู่วัยรุ่นแล้วก็ตาม

ดังนั้น การตั้งครรภ์จึงไม่ใช่แค่ช่วงเวลาเดียวที่ความเครียดจะส่งผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้ แต่ยังต่อเนื่องไปจนถึงวัยเด็กเลยทีเดียว การศึกษาในสัตว์ทดลองก็ให้ผลที่คล้ายกัน โดยพบว่า ความเครียดของแม่ส่งผลต่อพฤติกรรมและความสามารถในการจัดการความเครียดของลูกและลงลึกไปถึงยีนส์ในสมองของลูก

มีงานวิจัยที่มีชื่อเสียงชิ้นหนึ่งของ Michael Meaney มหาวิทยาลัยแมกกิล พบว่า แม่หนูที่มีความเครียดน้อย เป็นแม่ที่ให้เวลากับการเลียขนให้ลูก ลูกหนูจะสงบกว่า และกล้าที่จะสำรวจสิ่งรอบตัวมากกว่าลูกหนูที่แม่เอาใจใส่เลียขนให้น้อยกว่า และความแตกต่างเช่นนี้จะติดตัวไปจนตลอดชีวิตของลูกหนู

แม่จำลองที่ทำจากขดลวด

มีการทดลองของ Harry Harlow เมื่อ 50 ปีก่อน เขาได้ทดลองให้ลูกลิงกลุ่มหนึ่งอยู่กับแม่ลิงจำลองที่ทำจากขดลวดและมีผ้านุ่มๆ ห่อหุ้มไว้ อีกกลุ่มหนึ่งอยู่กับแม่ลิงที่ทำจากขดลวดเปลือยเปล่า พบว่า ถ้ามีตัวเลือกระหว่างแม่ลิงที่ห่อด้วยผ้ากับแม่ลิงที่ไม่ห่อด้วยผ้า ลูกลิงที่อยู่กับแม่ลิงที่ห่อด้วยผ้ามาก่อนจะเลือกที่จะอยู่กับแม่ที่ไม่ได้ห่อด้วยผ้า แม้ว่าจะมีขวดนมอยู่กับแม่ที่ไม่ได้ห่อด้วยผ้าก็ตาม ส่วนลูกลิงที่อยู่กับแม่ที่ไม่ได้ห่อด้วยผ้ามาก่อน จะไม่พยายามหาความอบอุ่นจะแม่ แต่จะนอนขดตัวลงกับพื้นและกอดตัวเองแทน เหมือนว่าพวกมันไม่เคยมีแม่มาก่อน

การค้นพบนี้ทำให้ Harlow สรุปได้ว่า ความรักเป็นเรื่องของความรู้สึก ความรักเกิดจากแม่ที่ให้ความอบอุ่น มากกว่าแม่ที่ป้อนนม หรือป้อนอาหารแก่ลูกแต่ไม่ได้ให้ความอบอุ่น มนุษย์ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยนมที่ปราศจากความรัก

ที่พูดมาทั้งหมดนี้หมายความว่าอย่างไร

โค้ดพยายามจะบอกว่า สิ่งที่พ่อแม่จะให้กับลูกไม่ใช่การบอกรักลูกทุก 6 นาที แต่เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้ลูกรู้สึกอบอุ่น สงบ ปราศจากความเครียด และปลอดภัย เมื่อพ่อแม่มีความสุข สมองของลูกก็จะสั่งว่า ไม่จำเป็นต้องสูบฉีดฮอร์โมนความเครียด หรือเปิดยีนส์ความเครียดใดๆ ที่จะมีผลต่อพฤติกรรมและพัฒนาการของลูกในระยะเริ่มต้น ไปจนตลอดชีวิตของลูก

ในโลกใบนี้ไม่มีใครเป็นแม่ท้องที่เพอร์เฟ็กต์ หรือเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ แต่เราสามารถมอบสิ่งดีที่สุดเท่าที่เราจะให้แก่เขาได้ ความเครียดไม่ใช่สิ่งที่ดี หากเรารู้ตัวอยู่เสมอ เราก็จะไม่หยิบยื่นความเครียดให้กับลูกโดยที่เราไม่ตั้งใจค่ะ

ที่มา www.forbes.com

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ

การบริหารสมอง: วิธีรับมือกับความเครียดระหว่างตั้งครรภ์

อาหารคลายเครียด ที่คุณหาได้ง่าย ๆ