ทั้งช่วงก่อนคลอด และหลังคลอด คุณแม่ต่างเป็นกังวลต่าง ๆ นานา ว่าอะไรทำได้บ้าง อะไรทำไม่ได้ จนบางครั้งก็ดูเหมือนจะทำให้วิตกเกินเหตุก็มี ในหลาย ๆ คำถามที่คุณแม่ต่างพากันสงสัย คือ แม่หลังคลอดห้ามแช่น้ำ จริงหรือไม่ นั่นเป็นเพราะช่วงที่คลอดลูกนั้น เป็นช่วงที่แสนจะยากลำบากสำหรับคุณแม่หลาย ๆ คน และแน่นอน การนอนแช่น้ำ นอกจากจะทำให้ตัวคุณแม่รู้สึกสะอาดแล้ว ยังช่วยให้เกิดความผ่อนคลายกับร่างกายอีกด้วย แต่สำหรับคุณที่เพิ่งคลอดนั้นควรทำหรือไม่? แม่หลังคลอดห้ามแช่น้ำ เป็นเพราะสาเหตุอะไร?
คุณแม่เพิ่งคลอดหลายคน คงอยากผ่อนคลายร่างกายด้วยการแช่น้ำ และขัดตัวให้สะอาด แต่รู้หรือไม่คะ ว่าการแช่น้ำในอ่างน้ำ ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ การลงเล่นน้ำในแม่น้ำ ลำคลอง เพราะเชื้อโรคในน้ำ อาจจะผ่านเข้าไปในโพรงมดลูก ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ นั่นเป็นเพราะ หลังคลอดใหม่ ๆ ปากมดลูกของคุณแม่ จะยังคงเปิดออกเพื่อที่จะระบายน้ำคาวปลาออกมา
การทำความสะอาดร่างกาย ที่คุณแม่หลังคลอดจะต้องคำนึงถึง
การดูแลแผลฝีเย็บ หลังการคลอดปกติทางช่องคลอด คุณแม่จะมีความรู้สึกปวดแผลฝีเย็บซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ ถ้าปวดมากหมอจะให้ยาแก้ปวดเพื่อระงับการปวดแผลที่ฝีเย็บหรือแผลผ่าตัดทั่ว ๆ ไปก็ใช้ยาพวกไทลินอล (Tylenol) หรือพาราเซตามอล (Paracetamol) 2 เม็ดทุก 4 – 6 ชั่วโมง อาการก็จะทุเลาลง ส่วนการอบแผลด้วยความร้อน และการอาบน้ำอุ่นก็จะช่วยให้อาการบวมที่แผลลดน้อยลง และช่วยบรรเทาอาการเจ็บแผลได้เช่นกัน
สำหรับยาแก้อักเสบนั้น หมอจะจ่ายให้เฉพาะผู้ที่ไม่ได้เตรียมการคลอดให้สะอาด หรือแผลฝีเย็บกว้างเท่านั้น เพื่อป้องกันการอักเสบของแผล (บางคนขอให้หมอสั่งยาดี ๆ ให้ แผลจะได้หายเร็ว ซึ่งในความเป็นจริงยาไม่ได้ช่วยให้แผลหายเร็วค่ะ ถ้าคุณแม่ดูแลร่างกายอย่างดี บำรุงอย่างดี ร่วมกับการคลอดที่ถูกวิธีก็จะช่วยให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น)
- การล้างแผลฝีเย็บนั้น ควรล้างด้วยน้ำต้มสุกอุ่น ๆ เมื่อล้างเสร็จแล้วให้ใช้ผ้าสะอาด หรือสำลีซับให้แห้งก็เพียงพอแล้ว (หากแผลโดนน้ำตอนอาบน้ำก็ไม่มีปัญหาค่ะ แค่ล้างด้วยน้ำเปล่าโดยปล่อยให้ไหลรินผ่านก็พอ ห้ามใช้หัวฉีดล้างชำระ หรือใช้ฝักบัวล้างโดยตรง เพราะแรงดันของน้ำอาจทำให้แผลเปิดแยกออกจากกันได้ และยังอาจทำให้เชื้อโรคเข้าไปสู่ส่วนลึก ๆ ของแผลได้อีกด้วย) หลังจากนั้น 5 – 6 วันแผลก็มักจะติดกัน และแห้งดี
- หลังปัสสาวะคุณแม่ควรใช้น้ำสะอาด หรือน้ำอุ่น ชำระล้างบริเวณแผลก็เพียงพอแล้ว ซึ่งจะช่วยลดอาการแสบคัน และป้องกันการอักเสบได้ ส่วนภายหลังการถ่ายอุจจาระเสร็จ คุณแม่ควรใช้กระดาษชำระเช็ดไปทางด้านหลัง ไม่ควรเช็ดออกมาทางด้านหน้า เพราะอาจจะทำให้เชื้อโรคเข้ามาปนเปื้อนบริเวณแผลจนเกิดการอักเสบได้
- ในช่วงหลังคลอดจะมีน้ำคาวปลาไหลซึมออกมาทางช่องคลอด คุณแม่ก็ต้องใส่ผ้าอนามัยเอาไว้ตลอด และเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ เพราะหากแผลแฉะอับชื้นก็จะทำให้เกิดการอักเสบได้
- สถานพยาบาลบางแห่ง นิยมอบแผลด้วยไฟฟ้า ซึ่งโดยปกติแล้วก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำ และไม่ค่อยได้ช่วยอะไร แต่ถ้าแผลบวมมาก การอบไฟฟ้า เช้าและเย็นครั้งละ 15 นาที เพื่อให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณปากช่องคลอดมากขึ้น ก็อาจจะช่วยให้หายเร็วขึ้นได้บ้างค่ะ
การรักษาความสะอาดของร่างกาย ถ้าเป็นการคลอดทางช่องคลอดปกติ คุณแม่สามารถอาบน้ำ สระผม ได้ตามปกติ อาบน้ำอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และสระผมได้สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เพราะในระหว่างรอคลอด และการคลอด นอกจากคุณแม่จะได้ใช้พลังงานในการเบ่งคลอดไปมากแล้วยังทำให้ร่างกายมีเหงื่อไคลซึ่งอาจหมักหมมได้
แต่สิ่งที่ควรระวังสำหรับการอาบน้ำก็คือ อย่าแช่น้ำนานเกินไป เพราะจะทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ง่าย เนื่องจากร่างกายในช่วงหลังคลอดยังอ่อนเพลียอยู่ ส่วนการเข้าห้องน้ำก็ต้องระวังเรื่องการลื่นล้ม เพราะร่างกายอ่อนเพลียที่อาจทำให้คุณแม่หน้ามืดเป็นลมได้ง่าย และควรล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสอวัยวะเพศ เพราะอวัยวะเพศจะมีแผลทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
การเปลี่ยนผ้าอนามัย ในช่วงหลังคลอดน้ำคาวปลาจะออกมาก 2 – 3 วันแรก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ คุณแม่ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ โดยให้เปลี่ยนทันทีที่รู้สึกว่าผ้าอนามัยมีเลือดชุ่มหรือเปลี่ยนบ่อย ๆ ทุก ๆ 3 ชั่วโมง เพื่อความสะอาดอยู่เสมอ อย่าให้เกิดการหมักหมมหรือมีกลิ่นเหม็น เพราะจะทำให้ฝีเย็บเกิดการอักเสบได้ง่าย และควรดึงจากทางด้านหน้าไปด้านหลังทั้งหมดเพื่อป้องกันการติดเชื้อภายในช่องคลอด ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายได้ (ไม่ควรใช้ผ้าอนามัยแบบสอด)
การมาของประจำเดือน และการคุมกำเนิดหลังคลอด ในช่วงหลังคลอด ระดับฮอร์โมนจะลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้คุณแม่มีการตกไข่ และเริ่มมีประจำเดือน คุณแม่จะเริ่มมีไข่ตกได้เร็วสุดในช่วง 3 สัปดาห์หลังคลอด และหลังจากนั้นอีกประมาณ 2 สัปดาห์ก็จะเริ่มมีประจำเดือน สำหรับคุณแม่ให้ลูกกินนมอาจมีผลทำให้ประจำเดือนมาช้ากว่าปกติ เนื่องจากระดับฮอร์โมนโปรแล็กตินที่กระตุ้นการสร้างน้ำนมจะมีผลกดการทำงานของรังไข่ทำให้ไข่ไม่สามารถตกได้
คุณแม่ที่ให้ลูกกินนมทุกวันอย่างสม่ำเสมอ มักจะไม่มีประจำเดือนในช่วง 6 เดือนแรก แต่สำหรับคุณแม่ที่ไม่ได้ให้ลูกกินนมแม่ ประจำเดือนอาจจะเริ่มมาตามปกติภายใน 4 – 8 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม แม้ประจำเดือนจะมาแล้วคุณแม่ก็ยังให้นมลูกได้ตามปกติ เพราะการมีประจำเดือนไม่ได้เปลี่ยนแปลงคุณค่าของน้ำนมแม่แต่อย่างใด และแม้ว่าประจำเดือนจะยังไม่มาก็ตาม คุณแม่ก็ควรคุมกำเนิดก่อนจะมีเพศสัมพันธ์หลังคลอด หรือเริ่มคุมกำเนิดหลังจากไปตรวจร่างกายเมื่อครบ 6 สัปดาห์หลังคลอด เพราะถ้าร่างกายมีไข่ตก คุณแม่ก็สามารถตั้งครรภ์ได้อีกในทันที
ในช่วงนี้หากคุณแม่ต้องมีเพศสัมพันธ์ก็ควรได้รับการคุมกำเนิดอย่างถูกวิธีด้วยค่ะ และถ้าจะให้ดีภายหลังการคลอด คุณแม่ควรเว้นการมีบุตรออกไปอย่างน้อย 2 ปี เพื่อคุณแม่จะได้มีเวลาในการดูแลบุตรอย่างเต็มที่ เพื่อให้ร่างกาย และอวัยวะภายในมีช่วงเวลาฟื้นตัวได้อย่างสมบูรณ์เหมือนเดิม
ซึ่งการคุมกำเนิด ก็มีทั้งแบบชั่วคราว และถาวร เช่น การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว การฉีดยาคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัย การฝังยาคุมกำเนิด การสวมถุงยางอนามัย เป็นต้น (คุณแม่ที่มีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด เช่น เป็นโรคครรภ์เป็นพิษ โรคความดันโลหิตสูง โรคตับอักเสบ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเม็ด ยาฉีด และยาฝังคุมกำเนิด แล้วใช้ห่วงคุมกำเนิดแทน)
การดูแลผิวพรรณหลังคลอด อาการท้องแตกลาย นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และป้องกันได้ยาก ส่วนรอยดำคล้ำตามบริเวณข้อพับต่าง ๆ นั้นจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งรอยดำเหล่านี้จะค่อย ๆ จางลงในช่วงหลังคลอด คุณแม่ไม่ต้องพยายามขัดหรือถูออก เพราะอาจจะทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนังได้ สำหรับรอยดำบางส่วนที่เห็นได้ชัด เช่น ลำคอ คุณแม่อาจใช้แป้งทาปกปิดได้บ้างก็ได้ค่ะ
อะไรบ้างที่คุณแม่หลังคลอดไม่ควรทำหลังคลอด
1. ห้ามยกของหนัก
ข้อนี้สำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ผ่าคลอด เพราะเวลาเรายกของหนัก เราจะต้องเกร็งหน้าท้อง อาจกระทบมดลูกและแผลผ่าคลอดได้ ช่วงนี้จึงต้องเลี่ยงการยกของหนักไปก่อน อ้อ ! แต่ยังอุ้มลูกเข้าเต้าได้อยู่นะคะ
2. ห้ามมีเพศสัมพันธ์
ในช่วงแรก ๆ หลังจากกลับจากโรงพยาบาล อยากให้คุณแม่เลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ไปก่อนนะคะ เพื่อรักษาแผลที่ฝีเย็บ และป้องกันการติดเชื้อในโพรงมดลูก ถ้าต้องการแบบเซฟ ๆ คุณหมอแนะนำให้งดการมีเพศสัมพันธ์ไปก่อนจนกระทั่งมาตรวจสุขภาพในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอดจะดีที่สุดค่ะ
3. ห้ามหักโหมออกกำลังกาย
การออกกำลังกายอย่างรุนแรงหักโหมในช่วงหลังคลอด จะทำให้มดลูกต่ำ ส่งผลกระทบกระเทือนต่อช่องคลอดและฝีเย็บได้นะคะ คุณแม่จึงไม่ควรออกกำลังกายหนักจนเกินไปในช่วงนี้ค่ะ
4. ห้ามอาบน้ำแบบแช่ในอ่าง
หลังคลอดใหม่ ๆ ปากมดลูกของคุณแม่จะเปิดออกเพื่อระบายน้ำคาวปลาออกมา การนอนแช่ในอ่างอาบน้ำ จึงอาจทำให้เชื้อโรคเข้าสู่โพรงมดลูก และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ เป็นอันตรายได้ค่ะ
5. ห้ามเครียด
เข้าใจค่ะว่าความเครียดเป็นสิ่งที่ห้ามกันได้ยาก โดยเฉพาะคุณแม่หลังคลอดที่อาจต้องเผชิญภาวะซึมเศร้าหลังคลอด แต่ความเครียดอาจทำให้น้ำนมลดลง และทำให้สุขภาพของคุณแม่แย่ลงได้ ลองหาวิธีบำบัดความเครียดให้น้อยลง จะช่วยได้ค่ะ
6. ห้ามกินยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม
คุณแม่หลังคลอดไม่ควรกินยาคุมกำเนิดประเภทฮอร์โมนรวม เพราะร่างกายจะได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้น้ำนมแห้ง และอาจมีนมไม่พอเลี้ยงน้องได้ค่ะ
ข้อห้ามเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณแม่หลังคลอดควรระวัง อย่างไรก็ตาม หากมีอะไรที่คุณแม่ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ไหม อันตรายหรือเปล่า แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยค่ะ
ที่มา : รพ. ธนบุรี . trueplookpanya
บทความที่น่าสนใจ :
100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 4 การทำความสะอาดร่างกายคุณแม่
การตรวจติดตามหลังคลอด – 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 68