อุ้มท้องลูกไม่สมบูรณ์
เมื่อหมอตรวจพบว่า ครรภ์ของ แอ๊บบี้ เอเฮิร์น คุณแม่วัย 34 ปี มีความผิดปกติที่ร้ายแรง เนื่องจากทารกในครรภ์มีการพัฒนาของกระโหลกศีรษะไม่สมบูรณ์ ซึ่งหากเด็กเกิดออกมาแล้ว ก็จะมีชีวิตอยู่บนโลกได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งส่วนใหญ่คุณแม่ที่ประสบกับปัญหานี้มักจะจบลงด้วยการยุติการตั้งครรภ์ แต่ แอ๊บบี้ กลับเลือกที่จะทำในสิ่งตรงกันข้าม คือการ อุ้มท้องลูกไม่สมบูรณ์
แอ๊บบี้ตัดสินใจอย่างกล้าหาญที่จะเดินหน้า อุ้มท้อง นี้ต่อ โดยมี โรเบิร์ต สามีคอยให้กำลังใจอยู่เคียงข้าง แอ๊บบี้ ผ่านการมีลูกสาวมาแล้วสองคน เธอกล่าวว่า การอุ้มท้องลูกคนนี้ เป็นสิ่งที่อยากที่สุดในชีวิตที่ผ่านมา เธอและสามีไม่รู้เลยว่า เมื่อถึงเวลา จะมีโอกาสได้ใช้เวลาอยู่กับลูกคนนี้ได้นานแค่ไหน แต่เธอก็เลือกที่จะเดินหน้าต่อ เพราะเธอต้องการที่จะบริจาคอวัยวะของลูกให้กับชีวิตอื่น ๆ ที่ต้องการ
ไม่นาน แอ๊บบี้ก็ให้กำเนิดลูกสาว โดยตั้งชื่อลูกว่า “แอนนี่” พวกเขาทุกคนได้ใช้ชีวิตร่วมกันอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาในครอบครัวเป็นระยะเวลาเพียง 14 ชั่วโมง 54 นาทีเท่านั้นก่อนที่ แอนนี่ จะจากไปอย่างสงบ แต่น่าเสียดาย ที่อวัยวะของแอนนี่ ไม่สามารถนำไปปลูกถ่ายให้กับผู้อื่นได้ เนื่องจากได้รับออกซิเจนน้อยเกินไป แต่อย่างน้อยลิ้นหัวใจและเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ก็สามารถบริจาคเพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยได้ เพราะเซลล์จากเนื้อเยื่อที่มีอายุน้อยจะสามารถเพาะให้เจริญเติบโตได้ดีกว่าเซลล์จากผู้ใหญ่ และการบริจาคเช่นนี้นั้น ก็ไม่ได้มีมากนัก
“แอนนี่ไม่ใช่ของของเราที่จะเก็บเอาไว้คนเดียวได้ เรื่องราวของเธอจะต้องถูกแบ่งปันให้คนได้รู้ และฉันจะทำแบบนั้นต่อไป” แอ็บบี้กล่าว
สภาวะที่ทารกไม่มีกะโหลกศีรษะ เกิดขึ้นจากความผิดปกติของพัฒนาการในขณะตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลให้ร้อยละ 75 ของทารกที่มีภาวะนี้เสียชีวิต เรามาดูกันก่อนว่า ภาวะนี้เป็นอย่างไร
ภาวะทารกไม่มีกะโหลกศีรษะ
เกิดจากมีความผิดปกติพัฒนาการท่อประสาท ไม่มีการปิดท่อประสาทส่วนบน ส่งผลให้ทารกไม่มีกะโหลก ไม่มีสมองส่วนหน้า สมองส่วนที่เหลือ มีรายงานพบอุบัติการประมาณ 1/1,000 ของทารกที่คลอด
ทารกมักจะตาบอด หูหนวก ไม่รับรู้ความเจ็บปวด ไม่รู้สึกตัว อาจมีตาโปนออกมาจากเบ้าตาได้ ร้อยละ 75 มักจะตายคลอด ที่เหลืออาจมีชีวิตอยู่ได้เป็นชั่วโมง เป็นวัน หรือเป็นสัปดาห์ แล้วเสียชีวิตในระยะเวลาอันสั้น พบในบุตรเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
สาเหตุที่แท้จริงนั้นไม่ทราบ เชื่อว่าเป็นจากการขาดสารอาหารบางชนิด เช่น โฟเลท วิตามินบี 6 บี 12 และธาตุสังกะสีหรือปัจจัยทางพันธุกรรม มารดามีโรคเบาหวาน ยาบางชนิดที่มีผลต่อโฟลิคเช่น ยากันชัก (valproic acid, antimetabolic drugs)
การวินิจฉัยระหว่างตั้งครรภ์
- การเจาะตรวจน้ำคร่ำหรือตรวจเลือดมารดาเพื่อวัดระดับ Alpha fetoprotein ซึ่งจะสูงขึ้นในทารกที่เป็นโรคนี้
- ตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง ตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 14 สัปดาห์เป็นต้นไป
การป้องกันภาวะทารกไม่มีกะโหลกศีรษะ
สามารถทำได้โดยรับประทานธาตุโฟลิคทดแทน ขนาด 0.4 มิลลิกรัมต่อวันเพื่อป้องกันโรคเกิดใหม่(ลดได้ร้อยละ 58) และในขนาด 4 มิลลิกรัมต่อวันเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำในรายที่มีบุตรเป็นโรคในครรภ์ก่อน (ลดได้ ร้อยละ 95)
ความผิดปกติของทารกในครรภ์นั้น มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่ก็มีสามารถที่จะป้องกัน หรือลดความเสี่ยงได้เช่นกัน โดยการดูแลครรภ์ของคุณแม่ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดความเสี่ยง เช่น
- การดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์
แม่ท้องที่ติดเหล้าหรือดื่มเหล้ามากขณะตั้งครรภ์ จะทำให้เสี่ยงเกิดการแท้งได้มาก และเด็กตายระหว่างคลอดเพิ่มขึ้น เด็กในครรภ์เกิดอาการที่เรียกว่า ฟีตอลแอลกอฮอล์ซินโดรม (Fetal alcohol syndrome) คือ มีความพิการของส่วนศีรษะ, หน้า, แขน, ขา, และหัวใจ การเจริญเติบโตในครรภ์ช้าผิดปกติ อาจเป็นเด็กปัญญาอ่อน (Mental retardation) เด็กแรกคลอดบางรายจะแสดงอาการขาดเหล้า (Alcohol withdrawal) เช่น มีการร้องกวน ดิ้นและกระวนกระวายตลอดเวลา
- แม่ท้องสูบบุหรี่
แม่ท้องที่สูบบุหรี่หรือได้รับสารเคมีในบุหรี่ จะทำลายโครโมโซมของทารก ทำให้ทารกตายแรกคลอด หรือทำให้ทารกเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ มีน้ำหนัก ส่วนสูง รอบอกและรอบศีรษะต่ำกว่าเกณฑ์ ระบบประสาท ระบบการหายใจและหลอดเลือด พบว่า มีปัญหาในระบบทางเดินหายใจ ภายหลังคลอดทันทีและมีแนวโน้มจะเป็นโรคหอบหืดเมื่อโตขึ้น มีอาการปวดท้อง โคลิก (colic) อาเจียน ท้องเสีย ลำไส้อักเสบ กระสับกระส่าย นอนหลับพักผ่อนน้อย มีอาการเหมือนคนขาดยา มีความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะแต่กำเนิดและเมื่อโตขึ้นเด็กอาจเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งในระบบต่าง ๆ ภายหลังคลอดทารกยังได้รับสารเคมีผ่านทางน้ำนมแม่อีกถ้าหากแม่ยังไม่เลิกสูบบุหรี่
- การได้รับยาบางชนิดที่มีผลต่อทารก
ระหว่างที่ตั้งครรภ์แม่ท้องอาจเจ็บป่วย และจำเป็นต้องใช้ยาบางอย่างรักษา ยานั้นอาจเป็นพิษต่ออวัยวะของทารกในครรภ์ได้ เช่นคาควินิน ยาแอสไพริน ยาสเตร็ปโตมัยซิน และยาเพนนิซิลิน เป็นต้น แม่ท้องควรระมัดระวังในการใช้ยาให้มากที่สุด เพราะยาสามารถซึมผ่านรก ไปยังทารกในครรภ์ได้โดยง่าย อันตรายที่ร้ายแรงมากในแม่ท้อง การรับประทานยาที่มีผลทำให้ทารกในครรภ์พิการ โดยเฉพาะระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ และใกล้คลอด นอกจากนี้ยังมียาอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงต่อทารก ได้แก่ ยาแก้อาเจียน แพ้ท้อง พวกธาลิโดไมด์ จะมีผลทำให้ทารกคลอดออดมาพิการ แขนขากุด มีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ยากันชักพวกไฮแดนโทอิน มีผลทำให้ทารกที่คลอดออกมาหน้าแปลก ตัวเล็ก สติปัญญาอ่อน
- สารเคมีอันตราย
การได้รับสารเคมีบางชนิดขณะตั้งครรภ์ สามารถทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น แม่ท้องควรหลีกเลี่ยงการสูดดม หรือกินสารใด ๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะสารที่ได้รับเข้าไปในร่างกายอาจมีผลทำให้ทารกเกิดมามีอาการผิดปกติได้ เช่น
1. แม่ท้องที่ได้รับสารดีบุกจำนวนมากจะมีอัตราการแท้งสูง
2. การได้รับสารปรอทมีผลทำให้ทารกมีอาการพิการทางสมอง มีศีรษะลีบเล็ก ไม่เจริญเติบโต เป็นต้น
3. การที่ได้รับรังสีเอ็กซ์ (X – ray) มากเกินไป จะก่อให้เกิดการเจริญที่ผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น หากต้องมีการตรวจรักษาด้วยการเอ็กซ์เรย์ (X – ray) ต้องแจ้งคุณหมอทราบทุกครั้งว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่เพื่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์
ที่มา: Work Point TV
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ทารกในครรภ์โตช้า อันตรายที่แม่ท้องต้องระวัง
7 สิ่งที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
คู่มือคุณแม่ตั้งครรภ์ เรื่องอะไรบ้างที่คนท้องต้องรู้?