คุณแม่อาจจะกำลังคิดอยู่ว่า ก็บ้านฉันมีสองชั้น และห้องนอนก็อยู่ด้านบน แล้วจะให้ทำอย่างไร แบบนี้แสดงว่าแม่ท้องจะขึ้นลงบันไดไม่ได้กันเลยอย่างนั้นเหรอ??
คำตอบก็คือ คุณแม่ท้องขึ้นลงบันไดได้ แต่!! ไม่แนะนำค่ะ เพราะการขึ้นลงบันไดนั้นสามารถเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ ทั้งยังเสี่ยงต่อการมีเลือดออกในระหว่างตั้งครรภ์และการแท้งลูกอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ที่กำลังท้องอยู่ในไตรมาสแรก ที่จะต้องระวังให้มากโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณแม่มีอาการดังต่อไปนี้ ควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง
1. เคยมีเลือดไหลในขณะที่ตั้งครรภ์ช่วงไตรมาสแรก
2. มีความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดสูง
3. เคยมีประวัติการแท้งลูกมาก่อนหน้านี้
4. อายุเกินกว่า 35 ปี
5. มีอาการแพ้ท้องมาก และชอบเป็นลม
6. ตั้งท้องแฝดสองคนขึ้นไป
7. เป็นโรคความดันต่ำหรือความดันสูง
แต่ใช่ว่า คุณแม่ท้องในช่วงไตรมาสสองและสามจะปลอดภัยนะคะ ยังไงก็เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์อยู่ดี เพราะคุณแม่อาจพลัดลื่นล้ม ตกบันได ก้นกระแทกได้ง่าย ดังนั้น ถ้าหากเลี้ยงได้ก็ควรเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้าหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จริง ๆ แล้วละก็ แนะนำว่า ควรเดินช้า ๆ จับราวบันไดทุกครั้ง และพยายามเดินขึ้นลงบันไดให้น้อยที่สุดค่ะ
คนท้องยืนนานๆ คนท้องเดินเยอะได้ไหม
ไม่ได้เรื่องมาก แต่รักและห่วงลูกในท้องต่างหาก ใครปากว่าง ชอบบ่นชอบว่า ก็อย่าได้แคร์ เพราะตัวเราเองเท่านั้น ที่จะรู้ว่าต้องระมัดระวังตัวแค่ไหน ซึ่งคำถามที่พบบ่อยของแม่ ๆ ก็คือ คนท้องยืนนานๆ คนท้องเดินเยอะได้ไหม หรือแม้กระทั่่ง คนท้องห้ามนั่งท่าไหน คนท้องนอนท่าไหน ถึงจะดีกับลูกในท้อง เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างปลอดภัย เรามาดูท่า นั่ง ยืน นอน ที่เหมาะกับแม่ท้องกันดีกว่า
คนท้องยืนนานๆ อันตรายไหม
ท่ายืนคนท้องที่ดีกับแม่ท้อง ต้องเป็นท่ายืนตัวตรง โดยให้เท้าแยกออกจากกันเล็กน้อย คุณแม่ควรทิ้งน้ำหนักตัวไว้ที่กลางเท้าและส้นเท้า แล้วปล่อยไหล่ตามสบาย ไม่ต้องเกร็ง สำหรับท่ายืนคนท้องที่ถูกต้อง ให้คิดง่าย ๆ ว่า พื้นฐานการยืนจะต้องมั่นคง
สำหรับคนท้องยืนนานๆ จะด้วยการทำงาน หรือมีความจำเป็นด้านอื่น ๆ ที่ทำให้ต้องยืนเป็นเวลานาน มักจะมีอาการปวดเมื่อย เนื่องจากเลือดไหลกลับจากน่อง และเท้าช้าลง บางรายมีอาการเท้าบวม เป็นตะคริว และเส้นเลือดขอดได้ค่ะ
ฝึกปฏิบัติท่ายืนสำหรับแม่ท้อง
แม่ท้องลองยืนหันหลังชนผนังหรือพิงกำแพง โดยให้ส้นเท้าทั้งสองข้าง ห่างจากผนังราว ๆ 2-3 นิ้ว พิงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายคนท้องให้ชิดผนังหรือกำแพง พิงศีรษะ ไหล่ สะโพก ส่วนแขนให้ห้อยข้างลำตัว กดทุก ๆ ส่วนให้แนบติดกับผนัง กดส่วนโค้งที่คอ หลังที่แอ่นให้ราบชิดผนัง ท่านี้ยังสามารถลดอาการปวดหลังได้ โดยให้ทำตามที่บอกมา แล้วนิ่งสักครู่ ค่อย ๆ ยกแขนทั้งสองข้างเหยียดขึ้นไปแตะผนังไว้ให้ต้นแขนชิดใบหู สักครู่ก็ลดลงมาที่ระดับไหล่ช้า ๆ แล้วค่อย ๆ ลดลงสู่ข้างลำตัวตามเดิม ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง จะช่วยยืดกล้ามเนื้ออก ทำให้มีบุคลิกภาพที่ดูดี สง่างามเวลายืนอีกด้วย
ทางที่ดี อย่ายืนนิ่งเฉย ๆ นะคะ แม่ท้องควรจะขยับตัวเปลี่ยนท่าบ่อย ๆ ก้าวขาไปข้างหน้า หรือแยกขาเล็กน้อย ลองโยกตัวไปมาเพื่อถ่ายน้ำหนักตัวสลับกัน หรือยืนเขย่งเท้าบ้าง ยืนบนส้นเท้าบ้าง วิธีนี้ยังสามารถเป็นท่าออกกำลังกาย คนท้อง แบบง่าย ๆ ช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณขาและน่องแข็งแรง เลือดไหลเวียนสะดวก เป็นตะคริวน้อยลง เส้นเลือดขอดน้อยลงอีกด้วย
คนท้องเดินเยอะได้ไหม
ด้วยหน้าที่การงานของแม่ท้องหลายคน จำเป็นต้องยืนนาน ๆ เดินเยอะ จนเริ่มกังวลว่า คนท้องเดินเยอะได้ไหม จริง ๆ แล้ว การเดินเยอะอาจไม่เป็นอันตรายเท่ากับการเดินผิดวิธี ดังนั้น แม่ท้องต้องรู้ถึง ท่าเดินที่เหมาะกับคนท้อง โดยให้เดินยืดหน้าท้องขึ้น ไหล่ตรง จะช่วยดึงกระดูกหน้าอกและไหล่ให้ขยายออก เมื่อยืนถูกวิธีแล้ว ค่อย ๆ ก้าวเท้าเดินไปข้างหน้า
สิ่งที่ต้องระวังสำหรับคนท้อง
การเดินลงบันไดหรือขึ้นบันได ต้องวางเท้าให้เต็มขั้นบันได เวลาขึ้นบันไดต้องใช้กล้ามเนื้อขายกตัวในขณะที่ตัวตั้งตรง ไม่เอนไปข้างหน้า
รองเท้าคนท้อง : ส้นสูงที่เคยใส่เฉิดฉายก่อนตั้งครรภ์ ต้องขอเก็บไว้ก่อน แล้วเลือกรองเท้าส้นเตี้ยมาใส่ เลือกรองเท้าที่นุ่มสบาย สามารถรองรับน้ำหนักตัวคนท้องและลูกในครรภ์ได้ เพื่อให้ทุกย่างก้าวที่เดินมั่นคงปลอดภัย ไม่หกล้มง่าย ๆ เพราะการหกล้ม โดยเฉพาะเวลาล้มไปข้างหน้าแล้วเอาท้องลงนั้น สามารถเกิดอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์
อ่านคนท้องห้ามนั่งท่าไหน คนท้องนอนท่าไหน ปลอดภัยกับลูกในท้อง หน้าถัดไป
คนท้องนั่งท่าไหน สบายแม่ ไม่ลำบากลูก
ท่านั่งคนท้อง ก็เป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจเช่นกัน สำคัญตั้งแต่การเลือกนั่งเก้าอี้แล้วค่ะ ซึ่งต้องเลือกเก้าอี้ที่พอดิบพอดี ไม่สูงไป เพราะเก้าอี้ที่สูงไปจะทำให้เท้าคุณแม่ลอยเหนือพื้น ถ้าที่บ้านมีเก้าอี้ทรงนี้อยู่ ก่อนนั่ง ลองหาเก้าอี้เตี้ย ๆ มาวางรองใต้เท้า หรือหากเก้าอี้นั้นเตี้ยเกินไป ขาก็จะพับลงไปมาก ก็ไม่ดีเช่นกัน ต้องหาเบาะแน่น ๆ ที่มีความทนทานมารองนั่ง จะดีสำหรับคนท้องที่สุด
นอกจากการเลือกเก้าอี้ที่สำคัญแล้ว ท่านั่งแม่ท้องก็ต้องถูกวิธีด้วยนะคะ คุณแม่ควรนั่งหลังตรง ไหล่และสะโพกชิดเก้าอี้ วางแขนบนตัก หรือที่วางแขน เท้าวางบนพื้นได้พอดี เมื่อได้ท่านั่งที่เหมาะสมแล้ว เวลานั่งนาน ๆ ลองนั่งยกเท้าพาดบนเก้าอี้อีกตัวหนึ่ง ให้ปลายเท้าสูงระดับลำตัว การนั่งท่านี้จะช่วยให้เลือดไหลกลับสู่หัวใจได้สะดวก โดยเฉพาะช่วงใกล้คลอด จะช่วยลดอาการเท้าบวมได้ดี
คนท้องห้ามนั่งท่าไหน
ท่านั่งต้องห้ามของคนท้อง ยังไม่ค่อยมีท่านั่งที่ห้ามนั่งอย่างเด็ดขาด เพียงแค่ต้องเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการนั่งท่าใดท่าหนึ่งนาน ๆ ทั้งการนั่งพับเพียบ นั่งชันเข่า หรือนั่งยอง ๆ เพราะนอกจากท่านั่งเหล่านี้จะทำให้แม่ท้องไม่สบายตัวแล้ว ยังทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เท้าเย็น เกิดเส้นเลือดขอด และเป็นตะคริวได้ง่ายอีกด้วย
นอกจากนี้ คนท้องต้องลุก ยืน เดิน สลับไปมา เพราะการลุกเดินจะช่วยในเรื่องการไหลเวียนของโลหิต ซึ่งท่าลุกขึ้นจากเก้าอี้สำหรับคนท้อง ก็ต้องระวัง แม่ ๆ ควรเลื่อนเก้าอี้ออกเล็กน้อยพร้อมกับใช้มือช่วยพยุงตัวและลุกขึ้นช้า ๆ อย่าลุกพรวดพราดนะคะ
คนท้องนอนท่าไหน ไม่ทับลูก
ท่านอนคนท้องที่ดีที่เหมาะสม ต้องช่วยลดอาการปวดหลัง ปวดเอว แต่แม้ว่าคนท้องจะมีหมอนกี่ใบ พลิกตัวกี่ที ก็ยังอึดอัดไม่สบายตัวจริงไหมคะ นอกจากความเมื่อยเนื้อเมื่อยตัวแล้ว สิ่งที่คนท้องกลัวมาก ๆ คือ ท่านอนนี้จะทับลูกหรือไม่ ปลอดภัยกับลูกในท้องหรือเปล่า
คนท้องนอนคว่ำ : คนท้องมักไม่กล้านอนคว่ำ เพราะกลัวว่าจะทับลูกในท้อง แต่จริง ๆ แล้ว แม่ท้องนอนคว่ำได้นะคะ ลองใช้หมอนรองบริเวณต้นขา และคอ แล้วให้ศีรษะตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง การนอนของแม่ท้องนอนได้ไม่นานหรอกค่ะ เดี๋ยวก็พลิกตัวไปมา ดังนั้น เลือกท่านอนที่สบาย ๆ ก็พอ
คนท้องนอนหงาย : ท่านอนหงายไม่ใช่ท่านอนต้องห้ามของแม่ท้องนะคะ ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ถ้าแม่ท้องรู้สึกนอนไม่สบายตัวก็สามารถนอนหงายได้ แต่เมื่อผ่านพ้น 20 สัปดาห์แรก แม่ท้องควรหลีกเลี่ยงท่านอนหงาย เพราะจะทำให้น้ำหนักของมดลูกกดลงบนเส้นเลือดใหญ่ในช่องท้อง โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้าย ส่งผลให้รู้สึกอึดอัดไม่สบาย ความดันโลหิตต่ำ อาจมีอาการหน้ามืด จะเป็นลมได้ ตัวช่วยระหว่างนอนหงาย ควรเพิ่มหมอนหนุนศีรษะ หาหมอนมารองปลายเท้าให้สูงขึ้นเล็กน้อย เพื่อให้หน้าท้องหย่อนตัวและหลังราบกับพื้น ช่วยลดอาการปวดหลัง และเลือดที่คั่งตามเท้าสามารถไหลกลับสู่หัวใจได้สะดวกขึ้น ทั้งยังช่วยลดอาการเท้าบวมในช่วงใกล้คลอดได้ด้วย
คนท้องนอนตะแคงขวา : คนท้องมักกังวลเรื่องท่านอนตะแคง ใคร ๆ ก็ว่า คนท้องนอนตะแคงขวาไม่ดีจะกดทับเส้นเลือดใหญ่ แต่จริง ๆ แล้ว ไม่ควรกังวลเกินไป ลองนอนสลับไปสลับมา ถ้านอนในท่าไหนแล้วสบายตัว ก็นอนท่านั้นไปเถอะค่ะ
คนท้องนอนตะแคงซ้าย : ท่านอนตะแคงซ้าย เป็นท่านอนที่ลดแรงกดดันเส้นเลือดใหญ่ได้ดีกว่าท่านอนตะแคงขวา ช่วยให้คนท้องนอนสบาย นอนหลับได้ดีขึ้น
สำหรับท่านอนตะแคง น้ำหนักของท้องส่วนหนึ่งตกลงที่เตียง ทำให้ไม่มีแรงกดบนเส้นเลือดใหญ่ในช่องท้อง ป้องกันเลือดคั่งบริเวณขาส่วนล่างได้ดี ลองใช้หมอนรองไว้ระหว่างขาทั้งสองข้างบริเวณใต้เข้า หรือนอนกอดหมอนข้างจะช่วยให้คุณแม่นอนสบายและนอนได้นานขึ้นด้วย
ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง ยืน นอน เดิน ก็ควรเปลี่ยนท่าทางบ่อย ๆ และทำให้ถูกวิธี จะช่วยให้แม่สบายตัว ลูกน้อยปลอดภัย หากคนท้องยืนนานๆ ก็อย่ายืนนิ่ง ๆ ขยับตัวไปมาบ้าง หากจำเป็นต้องเดินเยอะก็เดินให้ถูกท่า เพียงเท่านี้ ก็ไม่มีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันแล้วค่ะ
ที่มา: Momjunction