เผยความจริง ไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ ที่พ่อแม่ส่งไลน์กันรัวๆ

ความจริงจากไลน์กรุ๊ปของผู้ปกครองเรื่อง ไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ ทำให้เกิดโรคกิลแลงเบอร์เรหรือ โรค GBS ความจริงแล้วเป็นยังไงกันแน่ แม่ๆ ต้องรู้!!!

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ ที่พ่อแม่ส่งไลน์กันไม่เกี่ยวกับ โรค GBS

ในช่วงนี้ มีข่าวที่แชร์กันแพร่หลายใน line group ของผู้ปกครองเรื่อง ” ไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ น่ากลัวมากๆ เพราะทำให้เกิดโรคกิลแลงเบอร์เร โรค GBS หรือการอักเสบของเส้นประสาทจนเกิดกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง ” ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจที่ผิดอย่างมากในสังคมวงกว้าง เพราะจริงๆแล้ว ไม่ได้มีเชื้อไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ แต่อย่างใด การติดเชื้อหลายชนิดก็สามารถทำให้เกิดอาการของโรคนี้ได้ แต่พบได้น้อย
หมอขออธิบายเรื่องโรค GBS โดยเน้นที่อาการในเด็ก เพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง แบบสรุปโดยย่อนะคะ

GBS คืออะไร?

กลุ่มอาการกิลแลงบาร์เร์ (Guillan Barre syndrome-GBS) เป็นกลุ่มอาการผิดปกติของเส้นประสาทส่วนปลาย และรากประสาท ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงของแขนขา และอาจเป็นมากขึ้นเรื่อยๆจนเกิดภาวะหายใจล้มเหลว จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตตามมาได้
โรคนี้จัดว่าพบได้ไม่บ่อย ประมาณ 0.5-1.5 รายในประชากร 100,000 ราย พบมากในเด็กโตและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะ ช่วงอายุ 15-35 ปี และ 50-75 ปี พบได้น้อยที่สุดในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี หากไม่นับโรคโปลิโอแล้ว GBS ก็จัดว่าเป็นสาเหตุที่สำคัญของอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลันในเด็ก

GBS เกิดจากอะไร?

สาเหตุที่ทำให้เกิด GBS ยังไม่ทราบชัดเจน แต่สันนิษฐานว่า เกิดจากสาเหตุใหญ่ๆ คือ ภาวะภูมิคุ้มกันแปรปรวน โดยมีการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด หรือภายหลังจากการได้รับวัคซีนบางชนิดเป็นตัวกระตุ้นทำให้ร่างกายจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานขึ้นมาผิดปกติ ซึ่งมาทำร้ายระบบประสาทส่วนปลาย

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอาการคล้าย GBS ที่ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน แต่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น จากการติดเชื้อโรคเองโดยตรง หรือสารพิษบางชนิด ที่ทำให้เกิดความผิดปกติของเส้นประสาท

ในที่นี้ขอกล่าวถึง GBS ที่เกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันแปรปรวนโดยตรง เป็นหลักค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

อาการของ GBS ในเด็กเป็นอย่างไร?

ผู้ป่วยเด็กโรค GBS จะมีอาการกล้ามเนื้อขาและแขนอ่อนแรงทั้ง 2 ข้าง เท่าๆกัน อาการเกิดขึ้นรวดเร็วในเวลาเป็นชั่วโมง หรือเป็นวัน อาจมีอาการชาร่วมด้วย มีกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง หลับตาไม่สนิท พูดไม่ค่อยชัดกลืนลำบาก เส้นประสาทสมองผิดปกติ โดยอาการต่างๆมักเกิดหลังจากการติดเชื้อ หรือฉีดวัคซีนภายใน 2-4 สัปดาห์

อาการที่พบในเด็กได้บ่อยกว่าผู้ใหญ่คือ การปวดกล้ามเนื้อ และปวดท้อง ผู้ป่วยที่มีอาการหนักมากทั้งเด็กและผู้ใหญ่อาจมีภาวะหายใจล้มเหลวต้องใส่ท่อช่วยหายใจเป็นระยะเวลานาน

การวินิจฉัย GBS ทำได้อย่างไร?

คุณหมอสามารถวินิจฉัย GBS ได้จากอาการดังกล่าวข้างต้น หลังจากการติดเชื้อ หรือฉีดวัคซีน ภายใน 2-4 สัปดาห์ก่อนเกิดอาการ ร่วมกับการตรวจร่างกายพบอาการอ่อนแรงของแขนขาและกล้ามเนื้อใบหน้า หากสงสัยโรคนี้ คุณหมอจะพิจารณาเจาะน้ำไขสันหลัง ตรวจคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อ หาความผิดปกติที่เข้าได้กับ GBS เพื่อการวินิฉัยที่ถูกต้อง

การรักษา GBS ทำอย่างไร?

หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง กล้ามเนื้ออ่อนแรงจนเดินไม่ได้ หายใจเองไม่ได้ คุณหมอจะพิจารณาให้ยา immunoglobulin ทางเส้นเลือด แต่หากอาการไม่รุนแรง ก็เพียงแค่รักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด และรอเวลาที่โรคจะหาย ซึ่งโดยทั่วไปผู้ป่วย GBS จะหายเป็นปกติภายใน 6-12 เดือน โดยผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงอาจหายได้เร็วกว่า 6 เดือน ส่วนผู้ป่วยที่อาการรุนแรงมาก อาจจะเสียชีวิตจากภาวะหายใจล้มเหลวได้

จะเห็นได้ว่า GBS ในเด็กแม้จะเป็นโรคที่พบได้น้อย แต่ก็อาจทำให้มีอาการรุนแรงอย่างรวดเร็ว หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงที ดังนั้นหากลูกมีอาการแขนขาอ่อนแรง ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุ และจะได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุดนะคะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ทารกเป็นหวัด พ่อแม่ควรรับมือยังไง

น้องอายุ 2 เดือน หายใจครืดคราดตลอดเวลา พบว่าเป็น ภาวะกล่องเสียงอ่อนยวบ

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา