ครม. มีมติเห็นชอบ ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ให้ผู้หญิงที่ยัง ไม่พร้อมมีครรภ์ สามารถทำแท้งได้ และอายุครรภ์ต้องไม่เกิน 12 สัปดาห์ จึงจะสามารถ พิจารณาเพื่อทำแท้งได้ คุ้มครองสิทธิของผู้หญิง ไม่พร้อมมีครรภ์ และชีวิตของทารกในครรภ์
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษก ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงหนึ่ง ถึงเรื่องกฎหมายการทำแท้ง ว่า ครม. เห็นชอบ ปรับแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานทำให้แท้งลูก ประกอบด้วย มาตรา 301 และมาตรา 305
ซึ่งที่มาของการปรับแก้ครั้งนี้ มาจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2563 ว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่กำหนดให้หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก มีความผิดอาญา เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงเกินจำเป็น ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 28 ที่ว่าด้วยบุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพ ในชีวิตและร่างกาย โดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จะมีผลบังคับใช้ 1 ปี นับจากวันที่มีคำวินิจฉัยออกมาโดยปริยายหากไม่สามารถแก้ไขให้แล้วเสร็จได้ทัน
ทั้งนี้ จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ครม. มีมติตั้งแต่ 3 มี.ค. ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ดำเนินการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา ในเรื่องนี้ ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ล่าสุดวันนี้ (18 พฤศจิกายน 2563 ) คณะกรรมการกฤษฎีกา นำร่างที่มีการปรับปรุงแก้ไข มาเสนอต่อที่ประชุม ครม. ซึ่งทาง ครม.มีมติเห็นชอบ สำหรับสรุปเหตุผลในการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวมี 2 เรื่องหลัก ดังนี้
1. กำหนดอายุครรภ์ สำหรับความผิดฐานใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ มีความผิด และต้องรับโทษ เพื่อคุ้มครองสิทธิของหญิงตั้งครรภ์ และทารกในครรภ์ให้เกิดความสมดุลกัน กล่าวคือหากอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถทำแท้งได้โดยไม่มีความผิด
2. เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด ฐานทำให้แท้งลูก ให้ครอบคลุมกรณีต่าง ๆ ที่จำเป็น และสมควรต้องทำแท้ง หรือยุติการตั้งครรภ์ให้กับหญิง และกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องทำตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา เพื่อความปลอดภัยของหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ
แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 301 “ให้หญิงที่มีอายุครรภ์ ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถทำแท้งได้” จากเดิมที่ห้ามหญิงตั้งครรภ์ทำแท้งโดยเด็ดขาด ซึ่งการกำหนดอายุครรภ์ดังกล่าว เป็นไปตามความเห็นของแพทยสภา และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ปลอดภัยที่สุด ในการทำแท้ง ไม่มีความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ทำแท้งเกิดอาการแทรกซ้อน และเป็นอันตรายแก่ชีวิต นอกจากนี้ได้มีการแก้ไข ลดอัตราโทษเพื่อให้เหมาะสมกับการที่ผู้ทำแท้ง ต้องได้รับความเจ็บปวดทางร่างกายอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดโทษสูงอีก โดยมีรายละเอียดดังนี้
“มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” จากเดิมที่กำหนดให้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับมาตรา 305 มีการแก้ไข เพิ่มเหตุยกเว้น ความผิดฐานทำให้แท้งลูก ให้ครอบคลุมกรณีที่จำเป็น และสมควรต้องทำแท้ง หรือยุติการตั้งครรภ์ให้กับหญิง คือ
“มาตรา 305 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 301 หรือมาตรา 302 เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้กระทำไม่มีความผิด (1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจาก หากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกาย หรือจิตใจของหญิงนั้น (2) จำเป็นต้องกระทำ เนื่องจากหากทารกคลอดออกมา จะมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะได้รับผลกระทบจากความผิดปกติทางกายหรือจิตใจ ถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง (3) หญิงมีครรภ์ เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ (4) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์”
ทั้งนี้ ในลำดับต่อไป จะส่งร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าว ให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาแล้วเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาโดยด่วน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ก่อนวันที่ 12 ก.พ. 2564
การปรับปรุงแก้ไข กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง เป็นการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิง และชีวิตของทารกในครรภ์ อย่างมีดุลยภาพ อีกทั้งสร้างความมั่นใจ ต่อบุคลากรทางการแพทย์ ในการให้บริการยุติการตั้งครรค์โดยสมัครใจ ลดแรงจูงใจของผู้หญิง ในการไปหาหมอเถื่อนเพื่อทำแท้ง ซึ่งผิดกฎหมาย และไม่ปลอดภัยต่อชีวิต และในส่วนที่กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งทารกในครรภ์ ที่มีความเสี่ยงที่จะคลอดออกมาแล้วพิการแต่กำเนิด จะช่วยลดภาวะตึงเครียด ให้กับครอบครัวที่ไม่มีความพร้อมที่จะเลี้ยงดูบุตรที่มีสภาพพิการได้
theAsianparent Thailand เว็บไซต์และคอมมูนิตี้อันดับหนึ่งที่คุณแม่เลือก นอกจากสาระความรู้ที่เรามอบให้คุณแม่ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ การวางแผนมีลูกแล้ว เรายังมีแอพพลิเคชั่นรวมถึงสื่อมัลติมีเดียหลากหลายที่ช่วยตอบโจทย์ทุกความต้องการของคุณแม่ยุคใหม่ ที่ต้องทำงานและดูแลลูกไปพร้อมกัน ให้มีความมั่นใจและพร้อมในการดูแลลูกทุกช่วงเวลา ตั้งแต่การให้นมบุตร การดูแลตนเองหลังคลอด ท่าออกกำลังกายหลังคลอดเพื่อให้หุ่นของแม่หลังคลอดกลับมาฟิตแอนเฟิร์มอีกครั้ง theAsianparent Thailand ขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนคุณพ่อคุณแม่ในเรื่องการดูแลลูก ความรู้แม่และเด็กที่เต็มเปี่ยม และตอบทุกข้อสงสัยในแอพพลิเคชั่นที่เป็นสื่อกลาง และกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัวไทย
ที่มา : www.thairath.co.th
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ :
ท้องในวัยเรียน ท้องไม่พร้อม แต่ไม่อยากทำแท้ง ต้องทำยังไง
เพศสัมพันธ์ระหว่างใช้ยาคุม กินยาคุมแล้วมีเซ็กส์ได้ไหม? ปลอดภัยรึเปล่า?
อย่าปล่อยผ่านความ ซึมเศร้า เมื่อสูญเสียลูก รวมรายชื่อหน่วยงานรัฐฟื้นฟูจิตใจแม่แท้งบุตร