เฮอร์แปงไจน่า เป็นอย่างไร
ทุกวันนี้ โรคระบาดที่ติดต่อกันโดยเฉพาะในเด็กเล็กมีอยู่เต็มไปหมด บางโรคก็เป็นโรคที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี ในขณะที่อีกหลายโรคก็อาจจะไม่ค่อยคุ้นเคย อย่างเช่น เฮอร์แปงใจน่า ซึ่งโรคนี้เป็นโรคติดเชื้อจากไวรัส ชนิดเดียวกับโรคมือเท้าปาก ซึ่งเป็นกลุ่มของ เอนเตอโรไวรัส (Enterovirus)
อาการของโรคเฮอร์แปงไจน่านั้น คล้ายกับโรคมือเท้าปาก แต่มีอาการที่แตกต่างกันคือ จะมีแผลเฉพาะที่ปากเท่านั้น ขณะที่มือเท้าปาก นอกจากจะมีแผลที่ปากแล้วจะมีผื่นขึ้นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าด้วย และไข้จะไม่สูงเท่ากับโรคเฮอร์แปงใจน่า
กลุ่มเสี่ยงของโรคเฮอร์แปงไจน่าส่วนมากจะเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 10 ขวบ และมักจะพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กที่อยู่รวมกันในโรงเรียนอนุบาล มักเล่นของเล่นรวมกัน หยิบจับสิ่งของรวมกัน จึงมีโอกาสติดต่อได้ง่าย โดยตัวเชื้อจะอยู่ได้นานในอากาศเย็นและชื้น จึงระบาดมากในฤดูฝน แต่ก็สามารถพบได้ในทุกฤดู
อาการของโรค เฮอร์แปงใจน่า
เฮอร์แปงใจน่า เป็นโรคที่สามารถติดต่อได้ผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย ไอ จาม หรือจากการคลุกคลีกับผู้ป่วย แล้วสัมผัสกับน้ำลาย น้ำมูก อุจจาระ ของผู้ป่วย โดยมีอาการของโรค ได้แก่
- มีแผลในช่องปากบริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ ต่อมทอนซิล และในโพรงคอหอยด้านหลัง
- มีไข้สูงประมาณ 5-40 องศาเซลเซียส
- เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้ สามารถทานอาหารได้ทุกอย่าง แต่ถ้าเด็กคนไหนเป็นมาก จะไม่ยอมทาน ไม่ยอมกลืนอาหาร
โรคเฮอร์แปงใจน่า มีวิธีรักษาอย่างไร
รศ. พญ. รวีรัตน์ สิชฌรังสี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ให้คำแนะนำเกี่ยวกับโรคเฮอร์แปงใจน่าไว้ว่า เนื่องจากโรคเฮอร์แปงไจน่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัส จึงไม่มียาที่ใช้รักษาได้จำเพาะเจาะจง โดยการดูแลผู้ป่วยจะใช้การรักษาตามอาการ ได้แก่
- การเช็ดตัวลดไข้ ทานยาแก้ปวดลดไข้ เพื่อบรรเทาอาการไข้และการเจ็บแผลในปาก
- หยดยาชาในปากเพื่อลดอาการเจ็บแผลในปากก่อนทานอาหาร
- ทานอาหารอ่อน ไม่ควรทานอาหารร้อนจัดเพราะอาจกระตุ้นให้เจ็บแผลในปากได้
- อาจดื่มนมเย็น หรือไอศกรีมได้ เพราะเนื่องจากความเย็นทำให้ชา ไม่เจ็บเวลากลืนและควรดื่มน้ำมาก ๆ
หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง คือ ไข้สูงลอย กินอาหารไม่ได้ มีอาการขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ตาโหล ปัสสาวะออกน้อยและมีสีเข้มผิดปกติ ควรรีบไปพบคุณหมอ เพื่อรับการตรวจรักษาแยกจากโรคอื่น ๆ เช่น โรคมือเท้าปาก หรือการติดเชื้อแบคทีเรียในลำคอ
จะป้องกันไม่ให้ลูกเป็นโรคเฮอร์แปงใจน่าได้อย่างไร
เนื่องจากโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกับโรคมือเท้าปาก และวิธีการติดต่อก็เหมือนกัน การป้องกันโรคจึงใช้หลักการเดียวกัน ได้แก่
- พยายามให้อยู่ห่างคนที่มีเชื้อเอาไว้ หากลูกไม่สบายควรให้หยุดเรียน
- เมื่อมีการระบาดของโรคไม่ควรนำเด็กเข้าไปในที่แออัด
- ไม่ใช้ข้าวของเครื่องใช้ของเด็กแต่ละคนปะปนกัน
- ปลูกฝังนิสัยให้ลูกใส่ใจเรื่องสุขอนามัยอยู่เสมอ ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้งด้วยสบู่และน้ำสะอาด
นอกจากนี้แล้ว ทางโรงเรียนควรหมั่นทำความสะอาดของเล่นต่าง ๆ เพราะอาจปนเปื้อนน้ำลาย น้ำมูก หรือสิ่งขับถ่ายของเด็กจนอาจทำให้เกิดการติดต่อได้ อีกทั้งยังควรมีการสอบถามประวัติอาการเด็กรวมทั้งตรวจร่างกายเพื่อคัดกรองเด็กป่วยที่หน้าโรงเรียนทั้งอาการไข้ และตุ่มน้ำที่ปาก ผื่นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ในช่วงที่มีการระบาดของโรค
คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับลูกอยู่เสมอ หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นความผิดปกติต่าง ๆ ก็อย่านิ่งนอนใจ และหากมีความกังวล หรือสงสัย ให้รีบปรึกษาคุณหมอทันทีนะครับ
รูปภาพจาก diseasespictures.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
พ่อแชร์ สาเหตุที่เกือบต้องสูญเสียลูก เพราะ RSV ที่กำลังระบาด
มันมาอีกแล้ว โรคมือเท้าปาก ระบาดต่อเนื่อง ผู้ปกครองและครู ต้องระวัง
เกือบไปแล้ว! ลูกของฉันพัฒนาการถดถอย จนเกือบเป็นออทิสติก