เลย์ลา เด็กหญิงวัยเพียง 2 ขวบ ป่วยเป็นโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาว และเคยได้รับการรักษาด้วยการทำคีโมบำบัดและการปลูกถ่ายไขกระดูกเพื่อฟื้นฟูระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย แต่เป็นที่น่าเศร้าที่การช่วยเหลือในครั้งนั้นไม่เป็นผลสำเร็จ ร่างกายของเธอไม่ตอบสนองต่อการรักษาและไม่สามารถต้านทานมะเร็งในตัวของหนูน้อยได้
แม่ของเลย์ลา ตัดสินใจพาเธอไปเข้ารับการรักษาที่ University College London ทำให้มีโอกาสได้พบกับศาสตราจารย์ Waseem Qasim โดยศาสตราจารย์แนะนำให้รักษาชีวิตของหนูน้อยด้วยการแก้ไขยีนใหม่ “แน่นอนว่าพวกเราอยากลอง เพราะลูกสาวของฉันป่วยหนัก ฉันจึงต้องยอมทุกวิถีทางที่จะทำให้เธอหายดี” แม่ของเลย์ลากล่าว
“การผ่าตัดยีนที่ว่านี้ เป็นการนำเอาเซลล์ T ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในระบบภูมิคุ้มกันของผู้บริจาคที่มีสุขภาพดีมาปรับปรุง เพื่อใช้สำหรับการผ่าตัดแก้ไขยีน” ศาสตราจารย์กล่าว
เลย์ลา ได้รับยีนใหม่ ที่มาจากเซลล์ภูมิคุ้มกันของผู้บริจาคในหน่วยรับบริจาคที่กรุงลอนดอน ซึ่งภายหลังการผ่าตัดได้ 18 เดือน เธอก็มีอาการดีขึ้นอย่างน่าเหลือเชื่อ
เรียกได้ว่า ผลจากการักษาในครั้งนี้ เป็นผลที่ออกมาได้อย่างน่าพึงพอใจทั้งกับครอบครัวของตัวหนูน้อยเองรวมถึงวงการแพทย์ ส่งผลให้วงการศัลยแพทย์พูดถึงการรักษาโรคต่าง ๆ ด้วยการตัดต่อแก้ไขยีนกันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขตั้งแต่เซลล์ไข่ สเปิร์ม หรือกระทั่งระยะตัวอ่อน ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันโรคทางพันธุกรรม
มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย (Leukemia) คือ ภาวะที่ไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (stem cell) ทำงานผิดปกติ โดยไขกระดูกจะผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ผิดปกติออกมาจำนวนมาก ทำให้ระบบการทำงานของเม็ดเลือดผิดปกติ
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ ชนิดเรื้อรังและชนิดเฉียบพลัน โดยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน (Acute leukemia) เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็ก และพบมากที่สุดในเด็กอายุ 3 – 8 ปี
นพ.ปิยะ รุจกิจยานนท์ กุมารแพทย์ เวชศาสตร์โลหิตวิทยา โรงพยาบาลเวชธานี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งเม็ดเลือดขาวดังนี้
มะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็ก คิดเป็นร้อยละ 25-30 ของมะเร็งทั้งหมดในเด็ก สำหรับในประเทศไทย โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน หรือ Acute leukemia พบได้ร้อยละ 38.1 ของมะเร็งทั้งหมดในเด็ก
สาเหตุของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก
ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ปัจจัยที่พบว่ามีความสัมพันธ์ได้แก่
1. การได้รับหรือสัมผัสกับรังสี 2. สารเคมีบางชนิด 3. ยาเคมีบำบัดบางชนิด 4. พันธุกรรม
เด็กที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวจะมีอาการอย่างไร
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการ อ่อนเพลีย ซีด มีไข้ เลือดออกง่าย มีจ้ำเลือด จุดเลือดออกตามตัว หรือเลือดออกตามไรฟัน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ท้องอืด ตับโต ม้ามโต บางรายอาจมีอาการปวดกระดูกร่วมด้วย
เด็กที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวมีโอกาสหายไหม
แพทย์หญิง ชลศณีย์ คล้ายทอง วว. รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา กล่าวว่า ผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม มีโอกาสเข้าสู่ภาวะโรคสงบ ประมาณ 70-85% โดยมีอัตรารอดที่ 5 ปี ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค ขึ้นอยู่กับ
- อายุของผู้ป่วย – เด็กทารก และผู้ใหญ่ จะมีความรุนแรงโรคสูง
- จำนวนเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดเมื่อแรกวินิจฉัย – หากมีความผิดปกติมาก ความรุนแรงโรคก็จะสูงตามไปด้วย
- ความผิดปกติทางพันธุกรรม – ความรุนแรงโรคสูง เมื่อมีความผิดปกติทางพันธุกรรม
หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีอาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาวตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ให้รีบพาไปพบคุณหมอโดยด่วน เพราะหากเป็นในระยะแรกเริ่มสามารถรักษาให้หายได้ค่ะ
ที่มา: BECTERO thaiclinic.com, haamor.com, bangkokbiznews.com,leukemiadiary.blogspot.com และ Mirror
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
11 สัญญาณเสี่ยง ลูกอาจเป็นมะเร็ง
มะเร็งหลังโพรงจมูก ภัยเงียบคร่าชีวิตผู้คน