พ่อแม่ต้องรู้! วิธี เสริมพัฒนาการเด็ก 3 เดือน เด็กวัยนี้ต้องมีพัฒนาการอะไรบ้าง?
เมื่อลูกอายุได้ 3 เดือน เราไม่เรียกเจ้าตัวน้อยว่าเด็กแรกเกิดแล้วนะ แต่เราจะเรียกว่า ทารก แทนค่ะ แม้ว่าลูกน้อยจะโตขึ้นมาอีกสเต็ปหนึ่งแล้ว แต่ลูกก็ยังต้องเรียนรู้อีกมากและมีอะไรที่ทำให้คุณแม่ทึ่งในพัฒนาการของเขาได้อีกเยอะเลยล่ะ เพราะพัฒนาการของลูกวัยนี้สำคัญมาก วันนี้ The Asian Parent จะพามาดูกัน พ่อแม่ต้องรู้! วิธี เสริมพัฒนาการเด็ก 3 เดือน เด็กวัยนี้ต้องมีพัฒนาการอะไรบ้าง?
พัฒนาการด้านร่างกาย
ร่างกายแข็งแรงขึ้นทั้งส่วนบนและส่วนล่าง
กล้ามเนื้อคอของลูกน้อยวัย 3 เดือนจะแข็งแรงขึ้นมาก และในเวลาที่ลูกนอนคว่ำ ลูกจะสามารถใช้แขนดันพื้นเพื่อยกหน้าอกและศีรษะขึ้นได้ แถมยังสามารถยืดขา และเตะได้อีกด้วย
ควบคุมกล้ามเนื้อคอได้ดีขึ้น
ลูกน้อยจะมีกล้ามเนื้อคอที่แข็งแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อคุณอุ้มลูกขึ้นมาตรงๆ จะสังเกตได้ว่าศีรษะลูกจะไม่โงนเงนอีกแล้วนะแม่จ๋า!
การประสานสัมพันธ์ดีขึ้น
ลูกน้อยสามารถกำมือ และแบมือได้ เอามือมาประสานกันได้ เอามือปัดของเล่นสีสันสดใส หรือ โมบาย ที่ห้อยอยู่ตรงหน้าได้ เป็นการสำรวจสิ่งต่างๆ ด้วยมือของลูกน้อยเอง!
เอามือเข้าปาก
ในช่วงนี้ ลูกน้อยจะชอบคว้าของเล่นเข้าปาก หรือเอามือเข้าปาก คุณแม่ต้องเลือกของเล่นที่ปลอดภัยกับลูก ระวังอย่าให้มีชิ้นส่วนเล็กๆ ที่ลูกอาจกลืนและติดคอได้ ต้องระวังนะคะ
พลิกคว่ำ
ลูกเริ่มพลิกคว่ำได้แล้ว ดังนั้น คุณแม่ต้องระวังในการเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือการเล่นกับลูกบนเตียงนะคะ ลูกวัยนี้จะไม่นอนนิ่งๆ แล้ว เผลอนิดเดียวอาจกลิ้งตกเตียง หัวกระแทกได้ค่ะ
พัฒนาการด้านประสาทสัมผัส
การสัมผัส
ลูกน้อยวัยนี้จะสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัว อยากจะสัมผัสและรู้สึกถึงผิวสัมผัสที่แตกต่างกัน และเริ่มจะแยกแยะสัมผัสต่างๆได้แล้ว
การได้ยิน
พ่อแม่จะสังเกตเห็นว่าลูกน้อยสามารถหันศีรษะและยิ้มตอบต่อเสียงของคุณ และเริ่มที่จะแสดงออกว่าชอบฟังเพลงแล้ว และ จะยิ้มหัวเราะกับเพลงที่ชอบ
การมองเห็น
ถ้าคุณจ้องมองลูก เขาก็จะจ้องตาคุณกลับ และลูกวัยนี้ยังมีความสุขกับการจ้องมองตัวเองในกระจกอีกด้วย เพราะฉะนั้นลูกในวัยนี้จะรักกระจกเป็นพิเศษ
พัฒนาการด้านสติปัญญา
เหตุและผล
เมื่อลูกน้อยตีของเล่นที่ห้อยอยู่ หรือ โมบาย ให้เคลื่อนไหว เขาจะเริ่มเข้าใจเหตุและผลของสิ่งต่างๆ จากนั้นสมองของลูกน้อยจะเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ด้วยกันเมื่อเขาได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น
มองตามวัตถุที่เคลื่อนที่
ตาทั้งสองของลูกจะทำงานประสานกันได้ดีในการเคลื่อนไหวและปรับโฟกัส โดยเฉพาะเมื่อมีวัตถุกำลังเคลื่อนที่ผ่านหน้าไป เช่น ของเล่น หรือมือของคุณแม่ ลูกน้อยจะโฟกัสได้ดีกว่าปกติ
ยิ้มเพื่อตอบสนองสังคม
ยิ้มหวานๆ ของลูกไม่ได้มีไว้เฉพาะคุณพ่อคุณแม่อีกต่อไป เพราะตอนนี้ลูกน้อยเริ่มเผื่อแผ่รอยยิ้มไปยังคนอื่นๆ ที่ยิ้มให้เขาก่อนด้วย ซึ่งน่าเอ็นดูน่ารักน่าชัง
เป็นมิตร
ลูกน้อยจะเริ่มสนใจทารกคนอื่นๆ รอบตัว รวมถึงภาพสะท้อนตัวเองในกระจกอีกด้วย
การเข้าใจอารมณ์
ลูกน้อยจะพยายามเข้าใจอารมณ์และการสื่อสาร ด้วยการเริ่มเชื่อมโยงสิ่งที่คุณพูดกับสีหน้าที่พ่อแม่แสดงออกมาให้เขาเห็น
พัฒนาการด้านภาษา
การสื่อสาร
ในวัยนี้ การร้องไห้จะไม่ใช่วิธีการหลักในการสื่อสารอีกต่อไป ลูกน้อยเริ่มแสดงความรู้สึกด้วยวิธีการอื่น เช่น การส่งเสียง อ้อแอ้ โอ้ อู้ อ้า เป็นต้น
ภาษาทารก
ยิ่งคุณคุยกับลูกมากเท่าไหร่ ลูกน้อยก็จะพัฒนาด้านการพูด โดยจะพยายามทำเสียง และท่าทางเพื่อสื่อสารกับคุณเร็วขึ้นเท่านั้น
กิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการลูกน้อยวัย 3 เดือน
โดยวันนี้ เรามีวิธีที่คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ให้กับลูกน้อยวัย 3 เดือนมาฝากค่ะ
อ่านนิทานแสนสนุก
ลูกน้อยของคุณอาจยังไม่เข้าใจคำพูดที่คุณพูด และยังอ่านหนังสือไม่ออก แต่การอ่านออกเสียงดังๆ ให้ลูกน้อยฟัง ไม่ว่าเขาจะอายุน้อยแค่ไหน จะช่วยให้เขาคุ้นเคยกับเสียง คำ ภาษาที่แตกต่าง และยังช่วยให้เขารู้จักคุณค่าและความสนุกจากหนังสือนิทานอีกด้วยนะคะ
สิ่งที่ต้องเตรียม : หนังสือนิทานภาพสีสันสดใส
พัฒนาการที่ได้: การมอง ภาษา การพูด
คว้าจับ ขยับมือ
ในช่วงนี้ลูกน้อยคอแข็งขึ้น และสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวศีรษะได้ดีขึ้น ต้องการการช่วยประคองน้อยลง เขาจะสนุกกับการเอื้อมคว้า และจับของเล่น และสิ่งต่างๆ เพื่อเรียนรู้โลกรอบตัวเขา
ลองยื่นของเล่นสีสดใส ที่เป็นห่วง หรือที่เขย่าได้ให้ลูกเอื้อมคว้า และดูเวลาที่เขายืดแขนเพื่อคว้าจับ
สิ่งที่ต้องเตรียม : ของเล่นที่เป็นห่วง ของเล่นที่เขย่าแล้วมีเสียง สีสันสดใสที่เหมาะกับวัย
พัฒนาการที่ได้: การเคลื่อนไหว การประสานสัมพันธ์มือและตา
พลังแห่งดอกไม้
ลูกน้อยวัย 3 เดือน จะพยายามใช้ประสาทสัมผัสด้านการดมกลิ่น เพื่อแยกแยะความแตกต่างระหว่างคนที่เขารู้จัก และคนแปลกหน้า
ลองนำของที่มีกลิ่นหลายๆ แบบมาให้ลูกลองดม เช่น กลิ่นดอกไม้ กลิ่นเครื่องเทศ กลิ่นคุกกี้ แล้วดูว่ากลิ่นแบบไหนที่ลูกชอบ
สิ่งที่ต้องเตรียม : ดอกไม้ เครื่องเทศ คุกกี้ หรือสิ่งอื่นๆ ที่มีกลิ่นหอม
พัฒนาการที่ได้: การดมกลิ่น
สัมผัสจับดู
ทักษะด้านการสัมผัสของลูกกำลังพัฒนา คุณจะเห็นว่าลูกสนุกกับการสำรวจทุกอย่างรอบตัวโดยการสัมผัสและรู้สึกด้วยมือ และนิ้ว
กระตุ้นให้ลูกรู้จักแบ่งประเภทผิวสัมผัสที่แตกต่างกัน เช่น ผ้ากำมะหยี่นุ่ม ผ้าฝ้ายขนปุย หนังผิวเรียบ ผิวสัมผัสขรุขระ และอื่น ๆ
สิ่งที่ต้องเตรียม : สิ่งต่างๆ ที่มีผิวสัมผัสแตกต่างกัน
พัฒนาการที่ได้: การสัมผัส การเคลื่อนไหว
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ :
จากเฮนน่าสีดำลวดลายสวยงาม เกือบกลายเป็น รอยแผลเป็นลายดอกไม้ ตลอดชีวิต
เหรียญติดคอลูก..แม่ใจจะขาด ประสบการณ์ที่เจอกับตัว
เหรียญติดคอลูก อย่าให้เด็กเล่นของชิ้นเล็ก อันตราย! เสี่ยงอุดตันทางเดินอาหาร