หยิบ จับ ฉับไว เรียนรู้ได้คล่อง เสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมือขวบปีแรก

ทารกในช่วงขวบปีแรกเป็นจุดเริ่มต้นการเรียนรู้และก้าวสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นเสริมสร้างพัฒนาการของลูกในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะพัฒนาการกล้ามเนื้อมือในการหยิบจับ หากพัฒนาการกล้ามเนื้อมือขวบปีแรกแข็งแรงดีพอ จะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ด้านอื่น ๆ อีกด้วย ติดตามอ่าน เสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมือในขวบปีแรก

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

เสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมือขวบปีแรก

กล้ามเนื้อมือเล็ก ๆ ของทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 1 ขวบ มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการเสริมพัฒนการ การหยิบ การจับ การถือ ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการฝึกฝน หากกล้ามเนื้อมือของเจ้าหนูในช่วงขวบปีแรกมีความแข็งแรง ย่อมส่งผลดีต่อการเรียนรู้ในด้านอื่น ๆ ต่อไป มาดูกันค่ะว่า จะมีวิธีเสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมือในช่วงขวบปีแรกเป็นอย่างไร

เสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมือ : ช่วงอายุ 0 - 3 เดือน

ทารก : การกำ การจับคว้า เป็นปฏิกิริยาที่มีติดตัวมาตั้งแต่แรกคลอด ทารกน้อยจะกำมือแน่นหากถูกสัมผัสที่ฝ่ามือ ขณะเดียวกันเจ้าหนูเรียนรู้คลายมือออกเมื่อรู้สึกตกใจ แต่แรงจับ คว้า ของมือน้อย ๆ แบบอัตโนมัตินี้ก็จะค่อย ๆ ลดลง พร้อม ๆ กับค้นพบว่า มือคือ เครื่องมืออันแสนวิเศษที่หนูจะใช้สำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว แม้ว่าเมื่อคลอดออกมาแล้วกล้ามเนื้อมือเล็ก ๆ นี้จะแข็งแรงขึ้นพยายามจะหยิบจับสิ่งของรอบตัว แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้ดั่งใจเจ้าหนูเท่าใดนัก เพราะกล้ามเนื้อมือยังไม่แข็งแรงดีพอ

คุณพ่อคุณแม่ : คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยเสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมือขวบปีแรกของทารกด้วยนิ้วมือค่ะ โดยสอดนิ้วเข้าไปในมือของลูก ลูกจะกำมือของคุณพ่อคุณแม่ไว้แน่นเชียวค่ะ สิ่งนี้คือปฏิกิริยาธรรมชาติของทารก เมื่อลูกบีบนิ้วของคุณพ่อคุณแม่แต่ละครั้ง ให้กล่าวชมลูกด้วยนะคะ ถึงลูกจะเป็นเบบี๋อยู่ก็ตามแต่เขาเห็นการแสดงออกทางสีหน้าและแววตาของคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง นอกจากนี้วิธีเสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมือเช่นนี้จะช่วยบริหารนิ้วแล้ว ยังสร้างสัมผัสอันอบอุ่นระหว่างพ่อแม่และลูกด้วยนะคะ

ของเล่น : เนื่องจากมือของทารกในช่วงนี้ยังไม่แข็งแรงพอ ตุ๊กตาผ้าที่มีน้ำหนักเบาจึงเป็นวิธีเสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมือที่เหมาะกับลูก ควรเลือกตุ๊กตาที่ทำมาจากผ้าหลากหลายรูปแบบ รวมถึงผิวสัมผัสที่แตกต่างกัน เช่น แบบนุ่ม หรือแบบแข็งขึ้นมาอีกนิดก็ดีค่ะ ได้เรียนรู้การสัมผัสไปด้วยในตัว

เสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมือ : ช่วงอายุ 3 - 6 เดือน

ทารก : ช่วงนี้ทารกเริ่มรู้จักใช้มือยันพื้น เริ่มไขว่คว้าของใกล้ตัวด้วยฝ่ามือและชอบที่จะสัมผัสพื้นผิวที่มีความแตกต่างกันอีกด้วย กล้ามเนื้อมือที่แข็งแรงมากขึ้นทำให้สามารถพลิกคว่ำและหงายด้วยตนเอง เจ้าหนูจะอยากรู้อยากเห็น อยากลองสัมผัสสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้น ด้วยความที่อยากสำรวจจึงมักจะชอบเอาของเข้าและของเล่นปาก เริ่มจับขวดนมได้เอง เริ่มถือของสลับมือได้ ทั้งถือมือซ้ายและมือขวาได้

คุณพ่อคุณแม่ : สามารถเสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมือขวบปีแรก คุณพ่อคุณแม่อาจทำได้โดยร้องเพลงและเคลื่อนไหวพร้อมกับทำท่าประกอบ เพื่อให้ลูกทำตาม เช่น ท่าจับปูดำขยำปูนา หรือบทเพลงที่เกี่ยวกับนิ้ว เพื่อฝึกให้นิ้วและมือมีการเคลื่อนไหว ผ่านสายสัมพันธ์แม่ลูก

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

คลิป เพลงนิ้วมือสำหรับเด็ก

ของเล่น : สามารถเสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมือขวบปีแรกด้วยของเล่น นอกจากโมบายส์หลากสีสัน คุณพ่อคุณแม่ลองใช้ลูกบอล หรือยางกัดที่มีสีสันสดใส หรือของเล่นที่มีเสียง แกว่งและล่อให้ลูกเอื้อมมือมาจับ คว้า ในระยะที่ลูกสามารถทำได้ พยายามให้ลูกเล่นสลับไปมาทั้งสองข้าง ไม่ว่าจะเป็นการโยน ดันไปมา หรือการเขย่าของเล่นให้เกิดเสียง เพื่อฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กให้แข็งแรง

บทความแนะนำ โมบายล์สีขาวดำดีต่อพัฒนาการมองเห็นของลูก

เสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมือ : ช่วงอายุ 6 - 9 เดือน

ทารก : ช่วงนี้เจ้าหนูจะซุกซนมากขึ้น แต่เป็นการซุกซนที่เกิดจากการเรียนรู้ เริ่มใช้มือหยิบจับสิ่งของ หยิบขนมและของเล่นชิ้นเล็ก ๆ เข้าปากได้ สามารถลุก - นั่งเองได้ คลานได้ดี บางคนเริ่มเกาะยืน เรียกว่าเป็นวัยที่สนุกสนานกับการคืบคลาน ไม่อยู่นิ่ง ชอบหยิบจับสิ่งต่าง ๆ มาสำรวจด้วยความอยากรู้อยากเห็น อยู่เสมอ มือน้อยของเจ้าหนูทั้งคว้า หยิบ จับ กำ เขย่า ปล่อย เคาะสิ่งต่าง ๆ การทำซ้ำ ๆ อย่างสนุกสนานจะช่วยเสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมือได้อย่างดี

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

คุณพ่อคุณแม่ : คุณพ่อคุณแม่เป็นของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับลูก อวัยวะในร่างกายของคุณพ่อคุณแม่ยังคงเป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นเลิศของทารกวัยซน ซึ่งจะเพลิดเพลินกับการใช้มือสัมผัสหยิบจับทุกสิ่งทุกอย่าง ลูกสามารถสำรวจความแตกต่างของใบหน้า ตา หู จมูก ปากของคุณพ่อคุณแม่ การจิ้มปาก จับจมูก บางทีก็ดึงเลยว่าจะเอาออกมาได้มั๊ย เจ้าหนูคงเกิดความสงสัยตามประสาทารกจอมซน !!! หรืออาจจะเล่นเกมโยนรับ - ส่งลูกบอลกับลูกก็ได้นะคะ

บทความแนะนำ ของเล่นที่ดีที่สุดของลูก คือพ่อแม่

ของเล่น : ฝึกใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กเพื่อกระตุ้นการทำงานของสมองและพัฒนาทักษะการใช้กล้ามเนื้อมือ ด้วยการโยนตุ๊กตา ลูกบอล หรือของเล่นมีเสียง เลือกที่หยิบง่าย ๆ นะคะ หรือการเอาพวกุญแจของเล่นใส่มือของลูก นับ 1 - 2 - 3 แล้วง้างนิ้วให้พวงกุญแจตกลงพื้น ลองทำสักครั้งสองครั้ง ลูกจะรู้ว่าของเล่นชิ้นนี้เป็นอย่างไร หลังจากนั้นลูกจะรู้แล้วค่ะว่าของเล่นชิ้นนี้เล่นอย่างไร หลังจากนั้นลูกจะโยนเล่นเองอย่างสนุกสนาน

เสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมือ : ช่วงอายุ 9 - 12 เดือน

ทารก : ช่วงนี้ทารกเริ่มปีนป่ายและลุกนั่งได้ด้วยตนเอง เกาะเดิน ก้าวเดิน ยืนเองได้เป็นครั้งคราว ความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมือเริ่มแข็งแรงขึ้นแล้ว การใช้นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ หยิบจับของเล็ก ๆ ได้ ถือของชิ้นเล็ก ๆ ได้ด้วยมือเพียงมือเดียว วัยนี้เริ่มจับดินสอได้แล้วนะคะ ลองหาสมุด ดินสอสีมาให้ขีด ๆ เขียน ๆ เล่นได้ค่ะ แต่ต้องดูแลความปลอดภัยนะคะเดี๋ยวเผลอเอาไปจิ้มหน้าจิ้มตาเข้าจะยุ่ง!! เจ้าหนูยังสามารถเปิดกล่องได้ด้วยนะคะ แข็งแรงไม่ใช่เล่นเลยนะเนี่ย

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

คุณพ่อคุณแม่ : การอาบน้ำให้ลูกสามารถช่วยฝึกทักษะความชำนาญของกล้ามเนื้อมือได้นะคะ วิธีการเสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมือทำได้ คือ การฟอกสบู่ เริ่มจากการฟอกสบู่ที่ตัวของลูกให้เห็นเป็นตัวอย่าง จากนั้นให้ลูกทำตาม การฟอกสบู่มีความลื่น ต้องอาศัยการควบคุมทิศทางมือเพื่อบังคับทิศทางมือให้เป็นไปตามที่ต้องการ เช่น ผลัดให้ลูกฟอกสบู่ที่มือ ที่แขนของคุณพ่อคุณแม่บ้าง

ของเล่น : ของเล่นที่เหมาะสม คือ บล็อกไม้ โดยต่อเรียงจากชิ้นเล็กไปชิ้นใหญ่ และต่อจากชิ้นใหญ่มาชิ้นเล็ก หรือวางแบบสลับขนาดกันก็ได้ อาจวางต่อสูง ๆ ขึ้นไปหรือจะเป็นของเล่นที่มีลักษณะเป็นห่วง ที่สามารถสอดนิ้วเข้าไปได้ จับเขย่าได้ โยนรับ - ส่งได้ แบบนี้ได้ทั้งความสนุกและเสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมืออย่างดี

เสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมือขวบปีแรก ทำได้ไม่ยากผ่านการเล่นสนุกสนาน เมื่อกล้ามเนื้อมือของลูกแข็งแรงและมีพัฒนาการดีขึ้นเรื่อย ๆ ย่อมส่งผลดีต่อการเรียนรู้ต่อไปในอนาคต

ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ

อ้างอิงข้อมูลจาก

หนังสือ คุณพร้อมหรือยังเพื่อลูกรัก พรรณี ศรีสุพัทพงษา ผู้เขียน

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

วิธีเลือกของเล่นให้ลูกอย่างสมวัย

4 กิจกรรมฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กให้ลูกวัยอนุบาล

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา