เรื่องน่ารู้ “ของเล่น”
ศ.เกียรติคุณ ชนิกา ตู้จินดา ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ ศิริราช กล่าวว่า “เราสามารถแบ่งกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองได้เป็นสองกลุ่ม ในกลุ่มพ่อแม่ที่เห็นความสำคัญของการเล่น ของเล่นที่ซื้อให้ลูกก็จะช่วยสร้างพัฒนาการให้กับเด็ก แต่ในกลุ่มพ่อแม่ที่เห็นของเล่นเป็นเพียงเรื่องเล่น ๆ ของเล่นที่ซื้อให้ลูกก็จะเป็นของเล่นที่ไม่มีคุณภาพ”
จากสถิติ พบว่า ของเล่นสำหรับเด็กอายุ 1-3 ขวบ ที่มีอยู่ในบ้าน ส่วนใหญ่เป็นของเล่นที่เน้นการพัฒนาการทางด้านร่างกายมากกว่าของเล่นที่เน้นการพัฒนาสมอง ของเล่นที่พบว่ามีอยู่ในบ้านมากที่สุด ได้แก่ ของเล่นที่ใช้ออกกำลังแขนขา ซึ่งมีมากถึง 86.9% รองลงมา ได้แก่ ของเล่นฝึกนิ้วมือ ซึ่งมีมากถึง 71.2% และจากการศึกษาวิจัยดังกล่าว พบว่า ของเล่นสำหรับเด็กอายุ 3-6 ขวบ ที่มีอยู่ในบ้านมากที่สุดก็ยังคงเป็นของที่ฝึกการเคลื่อนไหวแขนขาซึ่งมีมากถึง 90% รองลงมาได้แก่ของที่ใช้ขีดเขียนซึ่งมีมากถึง 84.4%
เลือกของเล่นให้ลูกที่ได้มากกว่าความสนุก
อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัย และกรรมการบริหารสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย ให้คำแนะนำในการเลือกของเล่นให้เกิดประโยชน์แก่ลูก ไว้ดังนี้
1. ความฉลาดเกิดจากการเล่น
PQ (Play Quotient) หรือความฉลาดที่เกิดจากการเล่น เชื่อว่า เด็กสามารถพัฒนาความสามารถได้อย่างรอบด้านผ่านการเล่น ทั้งทางด้านร่างกาย การทำงานอย่างสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญา การเล่นเป็นกิจกรรมที่ลูก ๆ ชอบอยู่แล้วการเรียนรู้และการพัฒนาผ่านการเล่นจึงเกิดขึ้นง่ายและรวดเร็ว
2. การเลือกของเล่น
สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ลูกพัฒนามากกว่าการได้เล่นเพียงแค่ความสนุกสนาน การเลือกของเล่น นอกจากจะต้องปลอดภัยและเหมาะสมกับวัยแล้ว ของเล่นควรมีหลากหลายให้ลูกได้เลือกเล่น
– การเล่นเพื่อให้แขนขาแข็งแรง ฝึกการทรงตัว การกะระยะ เช่น เล่นฟุตบอล เล่นปีนป่าย ถีบจักรยาน เป็นต้น
– ของเล่นที่ใช้มือและตาประสานกัน เช่น ภาพตัดต่อ ร้อยลูกปัด ต่อบล็อก เล่นบทบาทสมมติ จินตนาการกับตุ๊กตา สัตว์จำลอง บ้านจำลอง เครื่องครัว เครื่องแต่งกาย
– ของเล่นพัฒนาสติปัญญาและทักษะการคิด เช่น เกมฝึกคิดต่าง ๆ ของเล่นที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหา ส่งเสริมให้เด็กคิดเชื่อมโยง การสังเกตและความจำ
3. ของเล่นที่พัฒนาความคิดสร้างสรรค์
ของเล่นประเภทนี้ควรเป็นของเล่นที่ทำให้ลูกมีอารมณ์สงบ ฝึกความอดทนในการประดิษฐ์หรือประกอบของเล่นขึ้นมา ของเล่นแบบนี้ ได้แก่ ต่อบล็อก ตัวต่อพลาสติก ตัวต่อแม่เหล็ก แป้งโดว์ ประกอบชิ้นส่วนไดโนเสาร์ ชิ้นส่วนเครื่องบิน ต่อบ้าน ประดิษฐ์ของใช้จากวัสดุต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีการเล่นที่ฝึกให้ลูกได้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ได้แก่ เกมฝึกความจำ เกมโดมิโน เป็นต้น ของเล่นที่หลากหลายเปรียบเสมือนกับลูกได้เรียนหลายวิชาผ่านการเล่น
4. สนุกไปกับการเล่นของลูก
ขณะที่ลูกกำลังเล่นของเล่น คุณพ่อคุณแม่ควรหาโอกาสเล่นกับลูกด้วย เพราะจะได้สังเกตพฤติกรรมการเล่นของลูกไปด้วย จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้เห็นความสามารถ วิธีคิด วิธีแก้ปัญหาและพัฒนาการของลูก ชวนลูกหาวิธีเล่นใหม่ ๆ เปิดโอกาสให้ลูกเป็นผู้นำการเล่น ชวนให้สังเกตและทดลอง ควรให้มีบรรยากาศการเล่นที่สนุกสนาน
ข้อดีของ “ของเล่น”
ของเล่นเป็นเครื่องมือฝึกฝนที่ดีในเรื่องความรับผิดชอบ ความมีระเบียบวินัย การยอมรับและการปฏิบัติตามกฎกติกา ฝึกความอดทน ความเพียรพยายาม สุดท้ายเมื่อลูกเล่นของเล่นเสร็จแล้วฝึกให้เก็บของเล่นเข้าที่ให้เรียบร้อย เพียงเท่านี้ก็เป็นการฝึกวามรับผิดชอบให้ลูกได้ตั้งแต่เยาว์วัย
มาเลือกของเล่นที่มีประโยชน์ต่อพัฒนาการของลูกกันค่ะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ว้าว! 10 ไอเดียเจ๋งๆ ทำของเล่นให้ลูกจากกล่องรองเท้า
เสริม IQ และ EQ ให้ลูกน้อย ด้วยของเล่นง่ายๆจำนวนน้อยชิ้น