เมื่อพ่อแม่ป่วยต้องทำอย่างไร ควรหลีกเลี่ยงอย่างไรบ้าง เพื่อไม่ให้ลูกป่วยหรือติดไปอีกคน เราไปดูกันค่ะว่า เมื่อพ่อแม่ป่วยต้องทำอย่างไร เพื่อไม่ให้ลูกติดไปด้วย
เมื่อรู้ว่าป่วยควรทำอย่างไร
- ทานอาหารต้านโรค
นอกเหนือจากการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ควรเสริมด้วยอาหารที่ช่วยสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งโดยมากจะอยู่ในผักผลไม้ที่มีเบต้าแคโรทีน วิตามินซี วิตามินอี วิตามินบี อาทิ ผักใบเขียวจัดหรือสีเหลืองส้ม เห็ดต่าง ๆ และแร่ธาตุซิลีเนียม หรือสังกะสีที่พบในเนื้อสัตว์ อาหารทะเล นม หรือถั่ว เป็นต้น
- ออกกำลังกาย
ช่วยกระตุ้นให้ระบบการไหลเวียนเลือดดีขึ้น แล้วทำให้เม็ดเลือดขาวในเนื้อเยื่อต่าง ๆ แข็งแรงเพื่อจัดการกับเชื้อโรคได้ง่าย อีกทั้งร่างกายจะหลั่งสารเอนดอร์ฟินออกมาหลังการออกกำลังกาย เพื่อช่วยทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด และความวิตกกังวล ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคภัยได้ โดยเราควรออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 30 นาที 3 – 4 วันต่อสัปดาห์
- พักผ่อนให้เพียงพอ
ควรนอนหลับให้สนิทและให้ได้อย่างน้อยวันละ 6 – 8 ชั่วโมง เพราะการเข้านอนเร็วจะช่วยให้ต่อมหมวกไตหลั่งฮอร์โมน DHEA (สารตั้งต้นของฮอร์โมนเพศหญิงและชายที่ทำหน้าที่ช่วยต้านความเครียดและกระตุ้นภูมิต้านทาน) ออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง
เราสามารถฝึกผ่อนคลายจิตใจตนเองได้ด้วยการกำหนดลมหายใจ หรือนั่งสมาธิ เป็นต้น เพราะมีงานวิจัยออกมาว่า การนั่งสมาธิสามารถช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมน DHEA ซึ่งนอกเหนือจากมีหน้าที่สำคัญช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันแล้ว ยังมีบทบาทในการต้านโรคมะเร็งอีกด้วย
เมื่อพ่อแม่ป่วยต้องทำอย่างไร ป้องกันไม่ให้ลูกติด
- อาการไข้
คือ อาการตัวร้อน อุณหภูมิของร่างกายสูงกว่า 37.8 องศาเซลเซียส สาเหตุที่พบบ่อย เกิดจากไข้หวัด ไข้ออกผื่น ไทฟอยด์ ไข้มาลาเรีย ถ้าหากอาการไม่ชัดเจน และมีไข้ไม่เกิน 7 วัน ให้ดูแลตนเอง คือ รักษาตามอาการ เพราะอาจจะเกิดจากไวรัส เป็นหวัด หรือสาเหตุอื่น ๆ ที่แสดงอาการในระยะแรกเริ่ม
- นอนพักผ่อนมาก ๆ
- ดื่มน้ำมาก ๆ
- ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อยๆ
- ห้ามอาบน้ำเย็น
- ถ้าเบื่ออาหาร ให้กินน้ำหวาน ข้าวต้ม
- ถ้าเจ็บคอให้ใช้น้ำเกลือกลั้วคอ
- กินยาลดไข้
- อาการไอ
มีอาการไอและอาการอื่น ๆ ไม่ชัดเจน ให้ดูแลตนเอง คือ รักษาตามอาการ เพราะอาจเกิดจากไวรัส เป็นหวัด หรือสาเหตุอื่น ๆ ที่แสดงอาการในระยะแรกเริ่ม
- พักผ่อน
- ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ
- กินยาแก้ไอหรือจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว
- กินยาแก้แพ้ ถ้าคัดจมูกและงดน้ำแข็ง บุหรี่ เหล้า อาหารทอด อาหารมันๆ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 2 สัปดาห์ ให้รีบพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือปรึกษาแพทย์
- ไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่ อาการป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยสามารถพบได้ในทุกฤดูกาล แต่ในฤดูหนาวจะมีโอกาสเสี่ยงสูงกว่าปกติถึง 2 เท่า ซึ่งสิ่งที่สำคัญอย่างมาก คือ การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ เพราะหากเกิดภาวะแทรกซ้อนอาจส่งผลให้เกิดอันตรายรุนแรง อย่าง การติดเชื้อทางเดินระบบหายใจได้
- ควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง หมั่นเช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น หรือน้ำธรรมดาเพื่อลดไข้ และพักผ่อนให้เพียงพอ
- สวมเสื้อผ้าหนา ๆ เพื่อให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ สวมผ้าปิดปากและจมูกเพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย
- ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นเป็นอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย และหากต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นควรใช้ช้อนกลาง
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือมีภูมิต้านทานต่ำ
- หากมีอาการหนัก อาจจะฝากคนที่บ้านช่วยเลี้ยงดูลูกแทน
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบมาพบแพทย์
- อาการไข้สูง ปวดเมื่อยเนื้อตัว และไอ ไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน (หลังจากกินยาแล้ว)
- เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก
- เจ็บหน้าอกเวลาไอหรือหายใจทุกครั้ง
- คลื่นไส้ อาเจียนมาก ไม่สามารถทานอาหารได้
โรคที่เด็กเสี่ยงเป็นมากที่สุด
- โรคมือเท้าปาก
เกิดจากเชื้อไวรัส (Enterovirus 71, Coxsackie) พบได้ประปรายตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในฤดูฝน สำหรับกลุ่มอาการของโรค เด็กจะมีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า แผลในปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น เหงือก บางรายอาจมีผื่นที่ขาและก้นร่วมด้วย พบมากในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี (อนุบาลถึงประถม) อาการมักหายได้เองภายใน 3 – 10 วัน สามารถติดต่อทางการไอ จาม น้ำลาย หรืออุจจาระ มีระยะฟักตัว 3 – 6 วัน พบเชื้อทางน้ำลาย 2 – 3 วัน ก่อนมีอาการ จนถึง 1 – 2 สัปดาห์หลังมีอาการ
- โรคไข้เลือดออก
เป็นโรคที่มี “ยุงลาย” เป็นพาหะนำโรค มีโอกาสเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด ถ้าได้รับเชื้อแล้วจะมีไข้สูงเกิน 3 วันขึ้นไป ตาและหน้าจะเริ่มแดง มีความรู้สึกอ่อนเพลียและปวดท้อง
- โรคอีสุกอีใส
หลายครอบครัวคงคุ้นเคยกับโรคนี้กันดี เพราะเป็นโรคที่เกิดขึ้นบ่อยและเป็นกันบ่อย แต่มักจะเป็นในบางช่วง เมื่อเป็นแล้วมักจะเป็นโรคติดต่อกันเป็นทอด ๆ โดยเฉพาะการติดต่อจากเพื่อนที่โรงเรียน กลุ่มอาการของโรค ผู้ป่วยจะมีไข้ เป็นผื่นแดง และมีตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นตามตัว โดยเริ่มจากบริเวณท้อง ลามไปตามต้นแขน ขา และใบหน้า หลังจากนั้นจะเกิดเป็นสะเก็ด และแผลเป็นขึ้นได้ มักหายได้เองประมาณ 2 – 3 สัปดาห์
- โรคท้องเสียหรืออุจจาระร่วง
โรคท้องเสีย เกิดขึ้นเพราะลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อโรต้าไวรัส ซึ่งมาจากของเล่น อาหาร หรือของใช้ใกล้ตัวเด็กที่ไม่สะอาด โดยเฉพาะเด็กเล็กที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไม่เข้าใจเรื่องของสุขอนามัย จึงมักนำของเล่นหรือของใช้ที่มีเชื้อนี้เข้าปากโดยไม่รู้ตัว จากนั้นจะถูกขับออกทางอุจจาระของผู้ป่วย เกิดการแพร่ระบาดได้ง่าย
- โรคไอพีดีและปอดบวม
โรคไอพีดี หรือที่เรียกว่า Invasive Pneumococcal Diseaseคือโรคติดเชื้อชนิดรุนแรงที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ “นิวโมคอคคัส” ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและที่เยื่อหุ้มสมอง ซึ่งมีความรุนแรงและอาจทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
ที่มา : (bangkokhospital),(phyathai),(bangkokhospital)
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง :
ระวังป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ คนท้อง ทารก เด็กเล็ก วัยเรียน กลุ่มเสี่ยงไข้หวัดใหญ่ โรคร้ายเสียชีวิตได้
โรคชิคุนกุนยาระบาด โรคติดต่อที่มากับยุง เตือนพ่อแม่ให้ระวังลูกน้อยในช่วงนี้!!
4 ขั้นตอนล้างมือให้สะอาด บ๊ายบายเชื้อโรค