เผยเคล็ดลับแก้อาการเมารถ จะไปเที่ยวทั้งที แต่ลูกน้อยดันเมารถ ควรรับมืออย่างไร ก่อนเดินทาง วันนี้เราจะมา เผยเคล็ดลับแก้อาการเมารถ เพื่อให้ลูกน้อยไปเที่ยวได้
อาการเมารถ
อาการเมารถ จัดเป็นหนึ่งใน ภาวะป่วยจากการเคลื่อนไหว (Motion sickness) หมายถึง อาการป่วยหรือความรู้สึกไม่สบาย ที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่ของยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ เช่น เมารถ เมาเรือ หรือเมาเครื่องบิน เป็นต้น
อาการเมารถนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศและทุกวัย ส่วนใหญ่แล้ว คนที่มีอาการ เมารถ มักจะมีอาการคลื่นไส้ เหงื่อออก น้ำลายไหล หายใจไม่อิ่ม และวิงเวียน นอกจากนี้ บางคนอาจจะมีอาการรู้สึกไม่สบาย ปวดหัว และง่วงนอนร่วมด้วย ในกรณีรุนแรงอาจถึงขั้นมีอาการอาเจียนร่วมด้วย
เผยเคล็ดลับแก้อาการเมารถ แก้เมารถอย่างไรโดยไม่พึ่งยา
หากรู้สึกว่ากำลังมีอาการ เมารถ หรือต้องการที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอาการเมารถในขณะที่กำลังเดินทาง สามารถใช้วิธีป้องกันการเมารถที่สามารถทำได้ง่าย ๆ และเห็นผลลัพธ์จริง ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- มองออกไปข้างนอกหน้าต่าง หรือมองตรงไปข้างหน้า
พยายามมองไกล ๆ ไปยังเส้นขอบฟ้า มองตรงไปข้างหน้า หรือมองออกนอกหน้าต่างในขณะที่อยู่บนยานพาหนะ การทำแบบนี้อาจจะช่วยลดความขัดแย้งของสัญญาณที่ได้จากหูชั้นในและสัญญาณจากการมองเห็นได้
- พยายามลดการเคลื่อนไหว
พยาพยามหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหว หรือการอยู่ในจุดที่มีการสั่นมาก ๆ เช่น หากนั่งอยู่ส่วนเบาะหลังของรถ อาจย้ายไปนั่งที่ข้างหน้า หรือหากอยู่ส่วนท้ายของเรือ ให้ย้ายไปอยู่ส่วนหัวเรือ ก็อาจช่วยลดอาการ เมารถ เมาเรือ ได้อย่างชะงัก
- เปลี่ยนท่า
บางคนอาจจะรู้สึกว่ามีอาการดีขึ้นหากได้นอนลง หรือยืนขึ้น ซึ่งวิธีนี้จะขึ้นอยู่กับประเภทของยานพาหนะนั้น ๆ ควรลองนั่งในท่าทางที่ทำให้รู้สึกสบายที่สุด หรืออาจใช้การพิงเบาะรองหัวบนเก้าอี้นั่ง ก็อาจจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้เช่นกัน
- เคี้ยว
ไม่ว่าจะเป็นการเคี้ยวหมากฝรั่ง เคี้ยวขนม หรือเคี้ยวอาหาร ก็อาจช่วยลดอาการคลื่นไส้ และอาการป่วยเบา ๆ จากการ เมารถ ได้ เพราะการเคี้ยว จะช่วยลดความขัดแย้งของสัญญาณจากการมองเห็นและการทรงตัวได้ คุณแม่ควรเตรียมขนมขบเคี้ยวที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ไม่มีน้ำตาล และเหมาะสมสำหรับการเดินทาง สามารถที่จะพกพาติดตัวได้อย่างสะดวก หรืออาจจะเลือกใช้เป็นหมากฝรั่งแบบไม่มีน้ำตาล เพื่อเคี้ยวในช่วงที่มีอาการเมารถได้ อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีความมัน อาหารที่ทำให้รู้สึกเลี่ยน หรือเป็นกรดสูง เพราะจะทำให้อาการคลื่นไส้รุนแรงมากยิ่งขึ้น
- เปิดรับอากาศ
การเปิดกระจกรับอากาศที่บริสุทธิ์จากภายนอกตัวรถ แทนที่จะทนอยู่กับอากาศจากเครื่องปรับอากาศ อาจช่วยลดอาการเมารถให้ดีขึ้นได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงอากาศที่มีกลิ่นเหม็น เพราะจะกลายเป็นตัวกระตุ้นให้อาการเมารถรุนแรงยิ่งขึ้นกว่าเดิม
- ดื่มน้ำ
การดื่มน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำเปล่า น้ำผลไม้รสเปรี้ยว ๆ หรือโดยเฉพาะน้ำขิง จะสามารถช่วยลดอาการคลื่นไส้ได้เป็นอย่างมาก แต่ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากดื่มในขณะที่ท้องว่าง
- เบี่ยงความสนใจ
การเบี่ยงความสนใจ เช่น เปิดเพลงฟัง หรือพูดคุย จะช่วยให้สามารถเบี่ยงเบนความสนใจไปจากอาการ เมารถ ที่กำลังเป็นอยู่ และทำให้รู้สึกดีขึ้นได้ การฟังเพลงสามารถช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ และอาการทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับอาการเมารถอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ดมยาดมหรือใช้น้ำมันหอมระเหย
ยาดมนั้นมีสรรพคุณในการลดอาการวิงเวียน ปวดหัว และคลื่นไส้ นอกจากนี้กลิ่นบางอย่าง เช่น น้ำมันหอมระเหยจากขิงบริสุทธิ์ ดอกลาเวนเดอร์ หรือมินต์ ก็สามารถช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้และวิงเวียนจากการ เมารถ ได้เช่นกัน แต่เพื่อการลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง ควรใช้แค่เพียงครั้งละหนึ่ง – สองหยดเท่านั้น
- ไม่ปล่อยให้ท้องว่าง
ควรรับประทานอาหารตามปกติ อย่ารีบร้อน รับประทานช้า ๆ และควรเว้นระยะพักสักครึ่งชั่วโมงก่อนออกเดินทาง เรื่องนี้มีหลายคนเข้าใจผิดว่า ถ้ารับประทานอาหารเข้าไป อาจทำให้อาเจียนกลางทาง ความจริงแล้ว ยิ่งท้องว่างก็จะทำให้เมาเร็วยิ่งขึ้น
- มีประสาทการทรงตัวผิดปกติ ไม่ควรดำน้ำ
ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม ถ้าเคยตรวจมาแล้วว่าประสาทการทรงตัวที่อยู่ในหู 2 ข้าง ทำงานไม่สมดุล ขอเตือนว่าว่ายน้ำได้ แต่ไม่ใช่ดำน้ำ เพราะเวลาดำน้ำ เราจะเห็นแต่น้ำอยู่รอบ ๆ ตัวเรา ความรู้สึกสัมผัสรอบ ๆ ตัวเราจะไม่มี เพราะน้ำอยู่ล้อมรอบกายเราทั้งหมด ดังนั้น เราจึงต้องใช้ประสาทการทรงตัวจริง ๆ ถ้าประสาทการทรงตัวของเราเสื่อม เราจะไม่สามารถรับรู้ทิศทางได้ และอาจจมน้ำได้ เป็นเรื่องที่ควรระวัง
เมารถเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
อาการเมารถ เมาเรือ หรือเมาเครื่องบิน เกิดขึ้นเมื่อประสาทรับรู้การเคลื่อนไหวของหูชั้นในทำงานไม่ประสานกับภาพที่ดวงตามองเห็น สมองจึงได้รับสัญญาณที่ขัดแย้งกันจนมีอาการเมารถตามมา โดยอาจเกิดจากการโดยสารรถที่ขับเหวี่ยงไปมา หรือขับบนถนนที่คดเคี้ยวนานเกินไป การนั่งเรือที่โคลงเคลงตามลูกคลื่น การโดยสารเครื่องบิน หรือแม้แต่ระหว่างเล่นเครื่องเล่นผาดโผนต่าง ๆ ในสวนสนุกอย่างรถไฟเหาะก็อาจทำให้มีอาการได้เช่นกัน
ทั้งนี้ บุคคลในกลุ่มต่อไปนี้ อาจเสี่ยงเกิดอาการเมารถได้มากกว่าคนทั่วไป
- ผู้ที่มีประสาทรับรู้การเคลื่อนไหวเร็ว
- ผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงรับการบำบัดด้วยฮอร์โมน
- ผู้ป่วยไมเกรน
- เด็กอายุ 2-12 ปี
- ผู้ที่กำลังใช้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคหืด ยาต้านอาการซึมเศร้า ยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน เป็นต้น
- ผู้ที่มีพฤติกรรมใช้สารเสพติด
หากจำเป็นต้องกินยา ยาแก้เมารถมีแบบไหนบ้าง
นอกจากการปฏิบัติตามคำแนะนำต่าง ๆ ผู้ที่เมารถเป็นประจำอาจรับประทานยาแก้เมารถ หรือแปะพลาสเตอร์ยาแก้เมารถ ดังต่อไปนี้
- ยาต้านฮิสตามีน เป็นยาที่มีสรรพคุณช่วยป้องกัน หรือบรรเทาอาการเมารถที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เช่น ยาไซไคลซีน ยาไดเมนไฮดริเนต เป็นต้น แต่ยาเหล่านี้อาจส่งผลข้างเคียง ทำให้รู้สึกง่วงนอนได้
- เด็กอายุ 8-12 ปี รับประทานครั้งละ ½ เม็ด ก่อนการเดินทางเป็นเวลา 30 นาทีหรือ 1 ชั่วโมง
- เด็กอายุ 12 ปี ขึ้นไป และผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 เม็ด ก่อนการเดินทางเป็นเวลา 30 นาทีหรือ 1 ชั่วโมง
- ยาสโคโปลามีน มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการเมารถ โดยตัวยาจะอยู่ในรูปของพลาสเตอร์สำหรับแปะลงบนผิวหนัง ใช้แปะไว้ด้านหลังใบหูตั้งแต่ก่อนเดินทางประมาณ 2-3 ชั่วโมง
ข้อควรระวัง
- ไม่ควรใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ยกเว้นกรณีได้รับคำแนะนำจากแพทย์
- ยานี้อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม ควรระมัดระวังในการขับขี่ยานพาหนะ
ทั้งนี้ ผู้ใช้ยาควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หรือตามฉลากยาอย่างเคร่งครัด รวมทั้งปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนให้เด็กรับประทานยาต้านฮิสตามีน หรือใช้พลาสเตอร์ยาสโคโปลามีน เพราะเด็กอาจเสี่ยงได้รับผลข้างเคียง จากการใช้ยามากกว่าคนในช่วงวัยอื่น
ที่มา : (pobpad),(2),(hellokhunmor)
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง :
วิธีแก้อาการเมาสำหรับเด็ก ถ้าลูกเมารถ เมาเรือ ต้องทำยังไงดี?
ชวนลูกฟังเพลง กิจกรรมกระชับสัมพันธ์ ที่ง่าย สนุก แถมพัฒนาทักษะการฟังได้อย่างดี
อาการปวดท้องขณะตั้งครรภ์ แบบไหนที่ต้องเจอ 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 9