ทารกที่คลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 36 สัปดาห์ถือว่าเป็นทารกคลอดก่อนกำหนด มีหลายเหตุผลเลยทีเดียวที่ทำให้เด็กคลอดก่อนกำหนด ไม่ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์ที่มีทารกหลายคน เช่น ครรภ์แฝด คุณแม่เป็นโรคเบาหวาน หรือการติดเชื้อ
ความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาแทรกซ้อนขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ที่เด็กเกิด เนื่องจากอวัยวะส่วนใหญ่จะยังคงพัฒนาอยู่ในช่วง 3 เดือนสุดท้าย ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเช่น ร่างกายไม่สามารถรักษาระดับอุณหภูมิได้ เด็กอาจจะดูดหรือกลืนไม่ได้ นอกจากนี้ ปอดอาจยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ซึ่งจะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ทั้งยังเป็นไปได้ว่าจะมีภาวะดีซ่านหรือเลือดออกในสมอง เด็กคลอดก่อนกำหนดมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อได้ง่าย รวมถึงอาจมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจเช่น หลอดเลือดหัวใจปิดไม่สนิทที่เรียกว่า PDA
การดูแลเด็กคลอดก่อนกำหนดคือการทำวิธีการต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อช่วยให้เด็กพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ จนสมบูรณ์และจะต้องอยู่ในตู้อบจนกว่าจะควบคุมอุณหภูมิร่างกายเองได้
ทารกคลอดก่อนกำหนด เสี่ยงเสียชีวิตตั้งแต่เด็ก
ทารกคลอดก่อนกำหนด เสี่ยงเสียชีวิตตั้งแต่เด็ก โดยรายงานขององค์การอนามัยโลก พบว่า ในภูมิภาคอาเซียน สาเหตุการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ร้อยละ 72 มาจากการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งมักมีภาวะพิการแต่กำเนิดร่วมด้วย
คลอดก่อนกำหนดเสี่ยงเสียชีวิต
นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยในแต่ละปีมีทารกเกิดใหม่ปีละ 700,000 คน ในจำนวนดังกล่าวเป็นทารกเกิดก่อนกำหนดประมาณ 100,000 คน และยังพบภาวะพิการแต่กำเนิดถึง 3% อาทิ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ภาวะแขนขาพิการ ปากแหว่งเพดานโหว่ กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม และภาวะน้ำคั่งในสมองแต่กำเนิด เป็นต้น นับเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิต ซึ่งทารกกลุ่มนี้ต้องเข้ารับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดภายในควบคุมอุณหภูมิร่างกายทารกเรียกสั้น ๆ ว่า “ตู้อบ”
ตั้งครรภ์แล้วต้องรีบฝากครรภ์
แม้ว่าความเจริญทางการแพทย์จะสามารถช่วยให้เด็กที่คลอดออกมาก่อนกำหนดมีชีวิตอยู่รอดได้มากขึ้นกว่าในอดีต แต่ก็ยังพบว่า มีทารกอีกจำนวนมากที่มีความพิการหรือเสียชีวิต จึงมีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันไว้ก่อน ด้วยการส่งเสริมสุขภาพของคุณแม่ให้ดีก่อนการตั้งครรภ์ และเมื่อตั้งครรภ์แล้วควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อฝากครรภ์และปฏิบัติตนตามที่ได้รับคำแนะนำ รวมถึงไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนพ.สมเกียรติ แนะนำว่า แม่ท้องควรปฏิบัติตัว ดังนี้
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง
อาทิ งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงความเครียด ลดการทำงานหนักหรือออกกำลังกายเป็นเวลานานๆ หรือยกของหนัก และไม่เดินทางไกลโดยไม่จำเป็น
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างสมดุล
เพราะจากการศึกษาที่พบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์น้อยหรือมีภาวะขาดสารอาหาร และมีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวน้อยตลอดการตั้งครรภ์ จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการคลอดก่อนกำหนด
- เสริมแคลเซียม
เพื่อช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูงและอาการแทรกซ้อนจากภาวะครรภ์เป็นพิษได้แล้ว การได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอในแต่ละวันยังช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนดในผู้หญิงที่มีประวัติหรือมีความเสี่ยงสูง
- ดื่มน้ำให้ได้วันละ 8 แก้วเป็นอย่างต่ำ
เพื่อรักษาความชุ่มชื่นของร่างกาย รับประทานวิตามินที่จำเป็นระหว่างตั้งครรภ์
- ป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
ไม่อั้นปัสสาวะเพราะการอั้นปัสสาวะบ่อย ๆ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะได้
- ระวังเรื่องน้ำหนักตัว
น้ำหนักตัวของคุณแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ที่เพิ่มมากเกินไปหรือน้อยเกินไป อาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงให้คุณแม่คลอดลูกก่อนกำหนดและลูกที่มีน้ำหนักตัวน้อยได้ คุณแม่จึงควรมีการเพิ่มน้ำหนักขึ้นในระดับที่เหมาะสม พยายามหลีกเลี่ยงหรืองดการมีเพศสัมพันธ์ และการใช้ยาลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อมดลูกตามที่สูติแพทย์แนะนำ หรือตรวจคัดกรองเพื่อดูว่าคุณแม่มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดหรือไม่
ที่มา : thaihealth.or.th