เดือนแรก หนูร้องไห้วันละ 2 ชั่วโมง ถือเป็นเรื่องปกติไหม
เดือนแรก หนูร้องไห้วันละ 2 ชั่วโมง ถือเป็นเรื่องปกตินะจ๊ะ ด้วยความที่ทารกแรกเกิดนั้น ยังไม่สามารถพูดเพื่อสื่อสารได้ การร้องไห้จึงเป็นวิธีเดียวที่จะสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งในช่วงที่เด็กน้อยจะร้องไห้งอแงมากที่สุด มักจะเป็นช่วงเย็น ตอนก่อนหรือหลังมื้อนมไม่นานนัก บางครั้งก็อาจจะชอบร้องตอนกลางคืน
อย่างไรก็ตาม เด็กทารกแต่ละคนก็จะมีความแตกต่างกันออกไป บางคนร้องไห้ง่าย บางคนร้องไห้ครั้งละนาน ๆ หรือบางคนอาจจะไม่ร้องไห้เลยก็มี
อุ้มลูกทุกครั้งที่ร้อง ลูกจะเสียนิสัยหรือไม่
การร้องไห้ของเด็กส่วนใหญ่ มักจะแสดงถึงอาการที่ทารกต้องการความสบายอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยตอบสนองความต้องการนั้นในช่วง 2 – 3 เดือนแรก และการตอบสนองต่อเสียงร้องของทารก จะทำให้เขาได้เรียนรู้ว่ามีคนคอยอยู่ใกล้ ๆ เสมอ
คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกลัวนะครับว่า การอุ้มปลอบโยนเมื่อลูกร้องไห้ทุกครั้ง จะเป็นการสร้างนิสัยที่ไม่ดีกับลูก หรือเป็นการตามใจมากเกินไป การอุ้มเมื่อลูกร้องไห้ ไม่ถือเป็นการสปอยล์ลูก แต่การปล่อยให้ลูกร้องโดยไม่อุ้มปลอบต่างหาก ที่เป็นการทำลายพัฒนาการเด็ก ด้วยการปล่อยให้เขาร้องไห้
สิ่งที่พ่อแม่ทำในช่วงแรกของชีวิตลูก จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของสมองลูกน้อยไปจนตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นการอุ้ม โอบกอด สัมผัส และโยกไกว คือสิ่งที่ลูกน้อยคาดหวังจากคุณ แต่หากคุณปล่อยให้ลูกร้องไห้นาน สมองของลูกจะเกิดความเครียดได้ครับ
ทำไมลูกถึงร้องไห้
การร้องไห้ของทารก เป็นการบ่งบอกว่าทารกมีความต้องการอะไรบางอย่างหรืออยู่ในภาวะที่ไม่สุขสบาย ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ มีดังนี้
1. หิว: วิธีแก้ไขก็ง่าย ๆ เลย คือรีบป้อนนมครับ
2. ต้องการการปลอบโยน: ด้วยความที่อยู่ใกล้ชิดกับคุณแม่มาตลอด 9 เดือน ทำให้บางครั้ง เมื่อลูกคลอดออกมาแล้ว ลูกก็ต้องการรับรู้ว่าคุณแม่อยู่ใกล้ ๆ
3. เบื่อหน่าย: การร้องไห้ของเด็ก อาจเป็นเพียงการเรียกร้อง และอยากนอนในอ้อมอกแม่เท่านั้น
4. ตัวชื้น และสกปรก: นี่ก็เป็นอีกสาเหตที่ทำให้ลูกน้อยร้องไห้ได้เช่นกัน
สัญญาณอันตราย เมื่อลูกร้องไห้
นายแพทย์กฤษณ์ ศรีธิหล้า ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับข้อควรระวังเมื่อลูกร้องไห้ไว้ดังนี้ครับ
ส่วนใหญ่แล้ว ทารกจะหยุดร้องไห้ไปเองในเวลาไม่นาน แต่หากทารกร้องไห้ติดต่อกันไม่หยุด พร้อมกับมีอาการอื่น ๆ เช่น
- เสียงร้องไห้ฟังดูแปลก ๆ
- น้ำหนักไม่ขึ้น ทารกดูตัวเล็กกว่าที่ควรเป็น
- ท้องเสีย อาเจียน หรือท้องผูก หรือมีเลือดปนออกมาพร้อมกับการขับถ่าย
- ไม่ดูดนม หรือดูดน้อยมาก
- มีไข้ หรือมีผื่นขึ้นตามตัว
หากมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย ควรพาทารกไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของความเจ็บป่วยทางกายจะดีที่สุดครับ
ทำอย่างไร ลูกถึงจะหยุดร้องไห้?
เมื่อลูกน้อยร้องไห้ คุณพ่อคุณแม่ควรพยายามหาสาเหตุที่เป็นไปได้ และแก้ไขภาวะที่อาจทำให้ลูกน้อยรู้สึกไม่สุขสบาย ได้แก่
- ตอบสนองต่อเสียงร้องไห้ด้วยสัมผัสทางกายที่เหมาะสม
- คิดถึงสาเหตุเบื้องต้น เช่น หิว หนาว หรือร้อนเกินไป เสื้อผ้าหรือผ้าที่ห่อหุ้มแน่นเกินไป มีสิ่งกระตุ้นเช่นเสียงหรือแสงที่มากเกินไป
- เปลี่ยนวิธีการให้นม
- อุ้มเรอหลังมื้อนม โดยการอุ้มพาดบ่าด้วยความระมัดระวัง หรือให้นั่งบนตัก แล้วลูบหลังเบา ๆ อาจจะนวดท้องเบา ๆ วนตามเข็มนาฬิกา สำหรับทารกที่ดูดนมจากขวดนม ควรปรับท่าทางให้ลูกดูดนมได้สะดวกโดยไม่ดูดลมเข้าไป
- มีผู้เชี่ยวชาญ แนะนำว่า ให้เปิดเครื่องดูดฝุ่น หรือไดร์เป่าผมพอให้ทารกได้ยิน เนื่องจากเป็นการเลียนแบบเสียงที่ทารกได้ยินขณะอยู่ในครรภ์ มีส่วนช่วยให้ลูกน้อยผ่อนคลายได้
ร้องไห้แบบไหนเรียกว่าโคลิค
อาการโคลิค เป็นอาการที่มักเกิดขึ้นได้กับเด็กแรกเกิดอายุประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ ไปจนถึง 3 เดือน โดยเด็กจะร้องไห้มาก และร้องนานกว่า 3 ชั่วโมงภายในวันเดียวโดยไม่มีสาเหตุ หรือบางครั้งเด็กอาจร้องไห้ในลักษณะนี้ติดต่อกันหลายวันเป็นสัปดาห์ แต่จู่ ๆ ก็มักหยุดร้องทันทีทันใด คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องสังเกตด้วยว่าการร้องไห้ของลูกน้อยนั้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากเรื่องอื่น ๆ เช่น หิวนม ไม่สบายตัว อากาศร้อนหรือเย็นเกินไปครับ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง obgyn.pmk.ac.th
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
แม่เล่า! ลูกร้องไห้ไม่หยุด ร้องโดยปราศจากสาเหตุ อย่าลืมตรวจเช็คฝ่าเท้าลูก!
อาการผิดปกติของทารก ที่แม่ชอบคิดว่าไม่เป็นไร กว่าจะพาลูกมาหาหมอก็เกือบสายเกินแก้
โรคไหลตาย (SIDS) มัจจุราชเงียบคร่าชีวิตลูกน้อย