เชื้อราในช่องคลอด เป็นโรคที่พบได้บ่อยสำหรับผู้หญิงทั่วไป ซึ่งอาการติดเชื้อนี้ เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดการอักเสบภายในช่องคลอด นอกจากนี้ ยีสต์หรือเชื้อราประเภทนี้ มักเกิดขึ้นได้ในสภาพอบอุ่น อับชื้น เช่น ภายในช่องปาก ช่องคลอด อวัยวะเพศ หรือตามข้อพับต่างได้อีกด้วย
เชื้อราในช่องคลอด ตอนท้อง มีอาการอย่างไร
ก่อนอื่นเรามารู้จักโรคเชื้อราในช่องคลอด (Vaginal Candidiasis) กันก่อนค่ะ แน่นอนว่า เป็นอาการที่เกิดได้กับผู้หญิงทุกคน ไม่เฉพาะแต่คุณแม่ท้องเท่านั้น โดยอาการดังกล่าวนี้ เกิดจากการติดเชื้อรา บริเวณปากช่องคลอดลุกลามเข้าไปภายในช่องคลอด อาการโดยทั่วไปคือความคัน ระคายเคืองไม่สบายตัว สำหรับผู้หญิงเรา อาการเชื้อราในช่องคลอดจะสังเกตได้อย่างไรและเป็นนานเท่าไร
อาการ เชื้อราในช่องคลอด สามารถสังเกตได้ดังนี้
- คันช่องคลอด รู้สึกคันยิบ ๆ บริเวณปากช่องคลอด บางทีคันรุนแรงจนหงุดหงิด (แต่ห้ามเกาเด็ดขาด)
- เวลามีเพศสัมพันธ์จะรู้สึก แห้ง ๆ แสบ ๆ ที่เกิดจากการเสียดสี บางคนมีอาการแสบร้อนร่วมด้วย
- สังเกตดูตรงกางเกงในจะมีตกขาว ข้น ๆ จับตัวเป็นก้อนคล้ายแป้งเปียก
- บริเวณปากช่องคลอดมีอาการบวมแดง จะรู้สึกได้ถึงความปวดตุ่ย ๆ บวม ๆ ตรงช่องคลอด
- หากเป็นมาก จะรุนแรงลุกลามไปยังภายในและภายนอกช่องคลอด รวมไปถึงหัวหน่าวอวัยวะเพศอีกด้วย
โรคเชื้อราในช่องคลอด จะมีอาการนานเท่าไร
- ผู้หญิงและสตรีมีครรภ์สามารถมีอาการนี้เพียง 1 วันไปจนถึง 1 สัปดาห์
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้อาจมีอาการเป็นเดือนก่อนจะตัดสินใจไปรักษา ทั้งนี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ
- ผู้ป่วยบางคนเป็นเชื้อราทุกเดือนก่อนมีประจำเดือนมา หรือเป็นหลังมีเพศสัมพันธ์
- บางคนเป็นโรคนี้เรื้อรัง มีอาการติดเชื้ออย่างรุนแรง คัน บวม เจ็บปวด ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ บางคนอาจเป็นเชื้อราในช่องคลอด 4-6 ครั้งต่อปี
บทความที่เกี่ยวข้อง: ตกขาวระหว่างตั้งครรภ์ อันตรายไหม? เรื่องของ “ตกขาว” ที่แม่ท้องต้องรู้
สาเหตุที่ทำให้มีภาวะเชื้อราในช่องคลอด
ตามปกติแล้วในช่วงตั้งครรภ์ภายในช่องคลอดจะเกิดการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนหลายตัว ส่งผลให้ช่องคลอดจะมีสารคัดหลั่งมากกว่าปกติ ซึ่งภายในช่องคลอดจะมีเชื้อแบคทีเรียที่ เป็นแบคทีเรียชนิดดี เพื่อทำหน้าที่ดักจับสิ่งแปลกปลอมและปรับภาวะแวดล้อมในช่องคลอดให้สมดุล แต่ถ้าช่วงใดที่ความสมดุลของช่องคลอดลดลง ความอับชื้นจะทำให้เชื้อโรคเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการตกขาวผิดปกติ เช่น มีกลิ่นเหม็น มีสีที่ผิดปกติส่วนใหญ่แล้วเชื้อรามักจะมาจากอุจจาระหรือจากการมีเพศสัมพันธ์
สำหรับเชื้อราที่เพิ่มจำนวนมากกว่าปกติจนทำให้สภาพภายในช่องคลอดเสียสมดุล พบว่ามีติดเชื้อในช่องคลอดจากเชื้อราที่ชื่อว่า แคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida Albicans) ซึ่งการที่เชื้อราตัวนี้มีการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วเนื่องมาจาก
- คนที่ใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน แล้วยาไปลดปริมาณแบคทีเรีย แลคโตบาซิลลัส ทำให้ภาวะความเป็นด่างในช่องคลอดเสียสมดุล
- เกิดจากการตั้งครรภ์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและความอับชื้นได้ง่าย
- โรคเรื้อรังอย่าง โรคเบาหวาน
- คนที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ซึ่งจะมีภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลงมาก
- โรคผิวหนังอักเสบ หลาย ๆ ประเภท
- คนที่เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเยอะ เนื้อจะเสียดสีเกิดความอับชื้นได้ง่าย
- มีการเพิ่มระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น การรับประทานยาคุมกำเนิดบางยี่ห้อ
- ผู้หญิงที่ชอบสวนล้างช่องคลอดบ่อย ๆ ซึ่งจะสร้างความบอบช้ำ และไม่ควรใช้ น้ำยาล้างจุดซ่อนเร้น แพทย์แนะนำว่าให้ใช้น้ำเปล่าล้างเท่านั้น
ทราบหรือไม่ว่า ผู้หญิงสามารถเป็นโรคเชื้อราในช่องคลอดถึง 3 ใน 4 คนเลยทีเดียว เพราะโรคนี้เกิดง่าย โดยเฉพาะช่วงก่อนและหลังมีประจำเดือน เนื่องจากช่องคลอดจะมีอุณหภูมิสูงและอับชื้น 3-7 วัน บางคนอาจเป็นเพราะมีเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้ต้องเตือนให้ฝ่ายชายทำความสะอาดเจ้าหนูก่อนมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง เพราะเราอาจได้รับเชื้อรา แบคทีเรียจากฝ่ายชายก็เป็นได้
วิธีรักษาเชื้อราในช่องคลอดคนท้อง
ก่อนอื่น หากคุณผู้หญิงหรือคุณแม่ตั้งครรภ์สงสัยว่ากำลังเป็นโรคเชื้อราในช่องคลอด ควรไปหาแพทย์เพื่อทำการรักษาและวินิจฉัยถึงสาเหตุเพื่อป้องกันโรคนี้ต่อไป ซึ่งโรคนี้จะมีการรักษาแตกต่างกันไปคนละกรณีแล้วแต่ระดับอาการ
- คุณหมออาจจ่ายยารักษาเชื้อราในช่องคลอด เช่น ยาทาช่องคลอด
- เลือกใช้ผ้าอนามัยที่ถูกกับผิวเราค่ะ หลีกเลี่ยงผ้าอนามัยแบบสอด
- อย่าเอาเกา อย่าเอานิ้วไปสวนล้าง เพราะนิ้วมือเรามีเชื้อแบคทีเรีย
- คุณหมออาจแนะนำเรื่องการใช้สารหล่อลื่นสำหรับการมีเพศสัมพันธ์เพื่อลดอาการแห้ง และแสบร้อน
- คุณหมออาจให้นั่งแช่น้ำอุ่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการบวมหรือ เอาผ้าชุบน้ำอุ่น บิดหมาด ค่อยประคบตรงช่องคลอดแล้วซับให้แห้ง
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตกขาวเป็นน้ำ มีน้ำใส ๆ ไหลออกมามีกลิ่น ขณะท้อง อันตรายหรือไม่ ?
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อราในช่องคลอด
เชื้อราในช่องคลอดห้ามกินอะไรบาง
สุขอนามัยคือสิ่งสำคัญค่ะ ความสะอาด ความอับชื้น การสวมเสื้อผ้า ก็มีผลต่อโรคเชื้อราในช่องคลอด แต่จะมีวิธีป้องกันอย่างไร
- สวมเสื้อผ้า อย่างกางเกงใน กางเกง อย่ารัดแน่นเกินไปนัก รวมถึงควรเลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่สบายในช่วงตั้งครรภ์
- อย่าอยู่ในสภาพอับชื้นเป็นเวลานาน เช่นหลังออกกำลังกาย ควรอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันที
- ไม่ควรใช้น้ำยาทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น เพราะบางคนอาจแพ้เกิดอาการระคายเคือง
- รับประทานโยเกิร์ตหรืออาหาร เครื่องดื่มที่มี แบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส
- อย่าสวมผ้าอนามัยนาน ๆ ควรเปลี่ยนทุก 3-4 ชั่วโมงและไม่ควรใช้ผ้าอนามัยแบบสอด
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหมักดอง
เป็นเชื้อราในช่องคลอด ห้ามกินอะไร
- อาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น ขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม ไอศกรีม เพราะน้ำตาลเป็นอาหารชั้นดีของเชื้อรา
- แป้งขัดขาว เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว เส้นก๋วยเตี๋ยวขาว เพราะแป้งขัดขาวจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคสได้ง่าย
- อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน อาหารกระป๋อง เพราะมักมีน้ำตาล เกลือ ไขมันอิ่มตัวสูง
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ ไวน์ เหล้า เพราะแอลกอฮอล์ไปรบกวนสมดุลของแบคทีเรียในช่องคลอด
- ผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น นม เนย ชีส เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ
- อาหารหมักดอง เช่น ผักดอง กิมจิ เพราะมีฤทธิ์เป็นกรด อีกทั้งยังมีปริมาณเกลือสูง
- อาหารที่มีรสเผ็ดจัด เพราะอาจทำให้ระคายเคืองช่องคลอด
ตกขาว อาการที่บอกว่ากำลังมีเชื้อรา
- ตกขาวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มักจะมีกลิ่นคล้ายคาวปลา หรือบางครั้งเหม็นจนเหมือนปลาเน่า ตกขาวจะมีสีเหลือง แต่มีปริมาณมาก
- ตกขาวที่เกิดจากเชื้อรา มีกลิ่นเหมือนนมบูด เป็นก้อนเละมีกลิ่นอับ ทำให้เกิดอาการแสบคันบริเวณช่องคลอด เพราะมักจะเกาจนเกิดแผลเพราะตกขาวชนิดนี้จะมีอาการคันมาก
- ตกขาวที่เกิดจากเชื้อพยาธิ สีของตกขาวจะมีสีเหลืองปนเขียว มีลักษณะเป็นฟอง มีกลิ่นเหม็น
เชื้อราในช่องคลอด เป็นอันตรายต่อทารกหรือไม่?
คุณแม่ที่อยู่ในระหว่าง ตั้งครรภ์ จำไว้เสมอว่า เป็นช่วงที่ร่างกายของเราจะมีภูมิต้านทานน้อยกว่าปกติ และมักจะภาวะอับชื้นบริเวณอวัยวะเพศและช่องคลอดได้ง่าย เนื่องจาก ตกขาว ปัสสาวะเล็ด เหงื่อออก อาการอับชื้นเหล่านี้ ทำให้เกิดอาการติดเชื้อบริเวณช่องคลอดได้ง่าย อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนดังนี้
- สิ่งที่น่ากังวล คือ เชื้อบางชนิดมีผลทำให้คลอดก่อนกำหนดได้ เช่น เชื้อแบคทีเรียวาจิโนสิส แต่ถ้ามีการติดเชื้อ จากเชื้อราจะทำให้เกิดอาการคัน หรือ มีตกขาวออกมามากกว่าปกติ แต่ไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดหรือความเสี่ยงแก่ทารกแต่อย่างใด
- หากมีการติดเชื้อราภายในช่องคลอด ซ้ำแล้วซ้ำอีก คุณแม่ต้องดูแลสุขอนามัยบริเวณช่องคลอดให้ดี สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศ หากใช้ผ้าอนามัยชนิดแผ่นบางควรเปลี่ยนใหม่ทุก 3 – 4 ชั่วโมง ที่สำคัญควรไปพบคุณหมอเพื่อนำยาสอด หรือยามารับประทาน ไม่ควรซื้อยามาสอดเองเพราะอาจไม่ตรงกับชนิดของเชื้อที่เป็น ซึ่งปกติแล้วการรักษาอาการเชื้อราที่ช่องคลอดจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ อาการจะดีขึ้น
หากคุณแม่มีอาการตกขาวจากเชื้อราโดยเป็นบ่อยครั้งและอาการไม่ดีขึ้น ต้องตรวจเลือดดูว่ามีภาวะเบาหวานร่วมด้วยหรือไม่ เพราะการรักษาจะต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดควบคู่กันไปด้วยเพื่อสุขภาพที่ดีการรักษาความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องมีตกขาวไหม ตกขาวคนท้องสีอะไร ตกขาวแบบไหนผิดปกติ
คนท้องคันจิมิ คันช่องคลอด เป็นเชื้อรา? หรือเรื่องธรรมดาของแม่ท้อง
ท้องอ่อน ๆ มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม จะเสี่ยงแท้งหรือเปล่า?
ที่มา : pobpad