ฮอร์โมนออกซิโตซินคือฮอร์โมนอะไร นพ.สุริยา ธีรธรรมากุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูล ฮอร์โมนออกซิโตซิน ว่า ออกซิโตซิน (Oxytocin) หรือฮอร์โมนออกซิโตซิน เป็นฮอร์โมนสำคัญที่ก่อให้เกิดความรักระหว่างหนุ่มสาว แต่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น คือหน้าที่ของฮอร์โมนออกซิโตซิน ทำให้คนเราเกิดความผูกพันที่มากกว่าความรัก ทำให้อยากใช้ชีวิตร่วมกัน แม้แต่การกอด สัมผัสอย่างเบา ๆ ก็ทำให้เกิดฮอร์โมนชนิดนี้ โดยเฉพาะการมีเซ็กส์ที่ทำให้สมองหลั่งออกซิโตซินมากขึ้น oxytocin คือ อะไรเรามีคำตอบมาให้แล้ว
oxytocin คือ หน้าที่ของฮอร์โมนออกซิโตซิน
- ลดความเครียด
- ทำให้รู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
- เพิ่มความโรแมนติก
และจากชีวิตคู่ ก็กลายเป็นชีวิตครอบครัว …ถึงตอนนี้ ฮอร์โมนออกซิโตซินก็ยิ่งต้องทำหน้าที่ให้หนัก เมื่อความรักความผูกพันก่อให้เกิดทารกตัวน้อยในครรภ์
เจ้าฮอร์โมนออกซิโตซินเป็นฮอร์โมนที่จำเป็นสำหรับการคลอดลูกและให้นมบุตร ทั้งยังสร้างสายใยรัก ถักทอความผูกพันระหว่างแม่และลูก
ออกซิโตซิน ฮอร์โมนแห่งความผูกพันมารดาและบุตร
นพ.อานนท์ เรืองอุตมานันท์ สูตินรีแพทย์ อธิบายถึงฮอร์โมนออกซิโตซิน ว่า หมอที่ร่ำเรียนมาทางด้านสูตินรีก็จะคุ้นเคยกับฮอร์โมนตัวนี้มาก เพราะเวลาคุณแม่เจ็บครรภ์คลอด ก็จะใช้ฮอร์โมน Oxytocin ตัวนี้แหละหยดเข้าทางสายน้ำเกลือเพื่อควบคุมการบีบตัวของมดลูก เพื่อให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดอย่างมีประสิทธิภาพ และยังใช้ตอนหลังคลอดเพื่อให้มดลูกบีบเกร็งตัวเต็มที่เพื่อป้องกันการตกเลือดในระยะหลังคลอดอีกด้วย
“ถ้าไม่มีฮอร์โมนตัวนี้ ความรักก็จะไม่มีในโลก”
ฮอร์โมนออกซิโตซินกับคนท้อง
Oxytocin เป็นนิวโรเปบไตด์ oxytocin คือ โปรตีนที่สร้างโดยระบบประสาท หลั่งออกมาจากต่อมใต้สมองส่วนหลัง ทำหน้าที่เป็นฮอร์โมนไปมีผลต่ออวัยวะหลายอย่างของร่างกาย ตอนคุณแม่ท้องแก่มดลูกก็จะมีความไวต่อฮอร์โมนนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อปากมดลูกมีการขยายตัวฮอร์โมนนี้ก็จะหลั่งเข้าสู่กระแสเลือดมากขึ้น มดลูกก็จะบีบตัวถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งปากมดลูกเปิดกว้างเท่าไหร่ มดลูกก็ยิ่งบีบตัวแรงขึ้น ถี่ขึ้นเรื่อย ๆ จนปากมดลูกเปิดหมดและคลอดลูกออกมาในที่สุด หลังคลอดฮอร์โมนนี้ก็ยังหลั่งออกมาเรื่อย ๆ ทำให้มดลูกหดตัวเล็กลงจนเข้าอู่เท่าเดิมใน 6 สัปดาห์หลังคลอด
ระหว่างการคลอด ในกระแสเลือดแม่ก็จะมีฮอร์โมน Oxytocin สูงขึ้นมาก เมื่อคลอดลูกออกมาแล้ว คุณแม่จึงรู้สึกผูกพันกับลูกทันทีที่เกิดมา เป็นความรักความผูกพันที่มากกว่าความรักธรรมดา เพราะมีฮอร์โมนตัวนี้ซึมซับเข้าไปในจิตใต้สำนึกทำให้ความรักของแม่ที่มีต่อลูกเป็นความรักที่ไม่มีอะไรมาเปรียบได้
ฮอร์โมนออกซิโตซินกับแม่หลังคลอด
หลังคลอดการที่ลูกดูดนมแม่ก็จะกระตุ้นให้เกิดการหลั่งฮอร์โมน 2 ตัว คือ มีการหลั่งฮอร์โมนโปรแลคตินจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า โปรแลคตินมีหน้าที่กระตุ้นทำให้ต่อมน้ำนมสร้างน้ำนม
ในขณะเดียวกัน การที่ลูกดูดนมแม่ก็กระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมน Oxytocin จากต่อมใต้สมองส่วนหลังด้วย ซึ่ง Oxytocin นี้ก็จะทำให้กล้ามเนื้อเล็ก ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ถุงน้ำนมมีการหดรัดตัวทำให้บีบน้ำนมออกมาจากต่อมน้ำนม ….ดังนั้น การที่ลูกดูดนมแม่ก็ทำให้มีการหลั่งฮอร์โมน 2 ตัวพร้อม ๆ กัน ทำหน้าที่ต่างกัน ตัวนึงกระตุ้นสร้างน้ำนม อีกตัวนึงก็ทำให้ต่อมน้ำนมบีบตัว
ทุกครั้งที่ลูกดูดนมแม่ ก็จะมีการหลั่ง Oxytocin ออกมาทุกครั้ง ดังนั้น คุณแม่จะรู้สึกได้เลยว่ามดลูกจะหดรัดตัวทุกครั้งที่ลูกดูดนม ลูกยิ่งกินนมแม่มดลูกก็จะบีบตัวเข้าอู่เร็วขึ้น
ขณะที่คุณแม่ให้นมลูก สมองจะหลั่ง Oxytocin ออกมาอย่างต่อเนื่อง คุณแม่ที่ให้นมลูกมักจะรู้สึกมีความสุขที่ได้เลื้ยงลูก มีความสุขที่ได้ให้ลูกดูดนม ลูกที่กินนมแม่ก็จะได้รับ Oxytocin จากนมแม่ด้วย เพราะในน้ำนมแม่มีฮอร์โมนนี้อยู่ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ลูกเกิดความรักและผูกพันกับแม่ด้วยในเวลาเดียวกัน
แม่เครียด น้ำนมไม่มา ฮอร์โมนออกซิโตซินก็น้อยลง
ฮอร์โมน Oxytocin มีผลต่อความรักความผูกพัน แต่ตัวมันเองก็จะไวต่ออารมณ์และความรู้สึกของคุณแม่ด้วย หากคุณแม่มีความเครียด มีความกังวล เหนื่อยอ่อนจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็จะทำให้สมองผลิตฮอร์โมน Oxytocin น้อยลง ทำให้ปริมาณน้ำนมน้อยลงไปด้วย
ในทางกลับกัน หากคุณแม่มีความสุข ฮอร์โมนนี้ก็จะหลั่งได้ดีขึ้น คุณแม่บางคนแค่คิดถึงลูกหรือได้ยินเสียงลูกฮอร์โมนก็จะหลั่ง นมก็สามารถไหลหยดออกมาได้เอง
ความผูกพันจากฮอร์โมนออกซิโตซิน Oxytocin สร้างสายใยรักระหว่างแม่และทารกในครรภ์ เป็นฮอร์โมนที่สำคัญมาก ๆ และไม่ได้มีแค่ในร่างกายผู้หญิงเท่านั้นนะ ฮอร์โมนออกซิโตซินยังมีอยู่ในร่างกายของผู้ชายด้วยค่ะ
ที่มา : https://www.facebook.com/notes และ https://www.bangkokhospital.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ธาลัสซีเมีย พ่อแม่เป็นพาหะธาลัสซีเมีย ผลกระทบของธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์เสี่ยงแค่ไหน
ฮอร์โมนคนท้อง มีอะไรบ้าง ฮอร์โมนสำคัญของคนท้อง ถ้าฮอร์โมนต่ำ มีผลกับลูกในท้องอย่างไร
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกในท้องแข็งแรง สมบูรณ์ สุขภาพดี คนท้องควรทำอย่างไร
ครรภ์เสี่ยง ภาวะเสี่ยงของหญิงตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง ความเสี่ยงตั้งครรภ์ คนท้องต้องระวัง ครรภ์เสี่ยง