อุทาหรณ์!! แม่วัยรุ่นปลิดชีพตนเองเหตุจากโรคซึมเศร้า
เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ที่น่าเศร้า เพราะไม่น่าจะเกิดขึ้นกับคุณแม่วัยรุ่นที่มีอายุเพียง 17 ปีเท่านั้น !!! หลังจากที่ซาร์ฟีตกลงใจแต่งงานแดเนียล สามีหนุ่มอายุเพียง 20 ปี แม้การแต่งงานครั้งนี้จะไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ใหญ่ แต่ทั้งสองก็ตัดสินใจร่วมชีวิตกันแล้ว เมื่อซาร์ฟีตั้งครรภ์และคลอดลูก ปัญหาครอบครัวเริ่มก่อตัวขึ้น เมื่อซาร์ฟีมีอาการเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด เธอได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคนี้จากการที่เธอไม่อาจรับมือกับการเป็นคุณแม่ที่ต้องเลี้ยงดูทารกน้อยได้ จนในที่สุดซาร์ฟีตัดสินใจกลับมาอยู่กับครอบครัวของเธอพร้อมกับลูกน้อย แล้ววันหนึ่งสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นจนได้ คือ เธอทิ้งโน้ตไว้ในสมุดบันทึกสีชมพู เขียนไว้ว่า “ลาก่อนทุกคน” หลังจากนั้นพี่ชายของเธอก็พบร่างไร้วิญญาณของซาร์ฟี
ตำรวจได้ตรวจสอบไดอารี่ของซาร์ฟี เพื่อค้นหาหลักฐานของโศกนาฏกรรมในครั้งนี้ พบว่า ซาร์ฟีได้บันทึกข้อความเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา บันทึกนี้เขียนขึ้นเพื่อบอกเล่าแก่คนที่เธอรัก เธอมีความสุขที่ได้รับของขวัญ คือ ลูกชายตัวน้อย เป็นของขวัญในวันเกิดในวัย 18 ปีของเธอ
แดเนียลสามีของซาร์ฟี กล่าวว่า “ผมพยายามอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อช่วยให้เธอที่จะเอาชนะโรคซึมเศร้า แต่แรงกดดันจากการมีลูก การไม่พร้อมเป็นคุณแม่ กดดันเธออย่างมาก ที่สำคัญซาร์ฟีมักเก็บความรู้นี้ไว้โดยไม่บอกใคร จนทำให้เธอเครียดมากจนตัดสินใจฆ่าตัวตายในที่สุด”
นี่คือเรื่องที่เป็นอุทาหรณ์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับใครเลย ดังนั้น คุณพ่อและสมาชิกในครอบครัว ควรช่วยกันดูแลคุณแม่หลังคลอดอย่างใกล้ชิด ด้วยความรักและความเข้าใจ เพื่อป้องกันปัญหาร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นได้
อ่าน โรคซึมเศร้าหลังคลอด คลิก
โรคซึมเศร้าหลังคลอด
ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าหลังคลอด มีดังนี้
โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) ถือว่าเป็นความเจ็บป่วย จะมีอาการที่รุนแรงโดยเฉพาะคุณแม่จะมีอารมณ์เศร้าอย่างมาก วิตกกังวลจนเกินเหตุ กลัวว่าจะเกิดอันตรายกับทารก หรือมีอาการย้ำคิดย้ำทำ บางรายถึงขั้นโทษตัวเอง หรือคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ ซึ่งอาการจะค่อย ๆ เริ่มเกิดหลังจากคลอดไปแล้วประมาณ 2-4 สัปดาห์
อาการ
– รู้สึกกังวลเรื่องสุขภาพ รู้สึกว่าตัวเองไม่สบาย ปวดหัว แน่นท้อง หายใจไม่ออก
– รู้สึกว่าคุณเป็นแม่หรือเป็นคนที่ไม่ดี
– รู้สึกหมดหวังตลอดเวลา
– ร้องไห้บ่อยๆ โดยไม่มีสาเหตุที่แท้จริง
– อยากนอนอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยรู้สึกว่าพักผ่อนเพียงพอ หรือ หลับยาก
– ไม่สามารถพูดถึงการคลอดลูกได้หรือพูดเรื่องนี้ไม่หยุดเพราะรู้สึกว่าควบคุมไม่ได้
– รู้สึกว่าชีวิตไม่มีค่า ไร้ค่า ตั้งแต่คลอดลูก
– คิดว่าคุณไม่ผูกพันหรือไม่มีความรู้สึกใดๆกับลูก
สาเหตุ
เรายังไม่ทราบสาเหตุของโรคซึมเศร้าหลังคลอดที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าน่าจะเกิดจากการสั่งการของสมองและการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนของร่างกาย บางกรณีอาจจะเกิดจากปัญหาและสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่คุณอาจจะรับมือไม่ไหวก็เป็นได้ เช่น คุณอาจจะเคยเป็นโรคซึมเศร้า มีปัญหาทางจิต หรืออาจจะเป็นโรคซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์ หรือคุณแม่บางคนที่ต้องเลี้ยงลูกตามลำพังโดยคุณพ่อและสมาชิกในครอบครัวไม่ให้ความช่วยเหลือเท่าที่ควร เป็นต้น
การรักษา
การรักษาต้องดูจากความรุนแรงของโรค แบ่งออกเป็น 3 ระดับ
ระดับ 1 และระดับ 2 เป็นอาการที่ไม่มียาอะไรที่จะรักษาได้ แต่จะดูแลเรื่องของการปรับสภาพจิตใจ ซึ่งพบว่าเพียงแค่นี้ก็จะดีขึ้นเอง คือ มีคนเข้าใจ ให้กำลังใจ แม้บางทีไม่ได้เข้ามาช่วยแต่การถามไถ่ ให้กำลังใจก็สามารถช่วยได้แล้วค่ะ ถ้ามีอาการนอนไม่หลับหรือกินอาหารไม่ได้จนอ่อนเพลียมาก ก็อาจต้องนอนพักในโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือ ให้สารอาหารบำรุงเพื่อไม่ให้สุขภาพคุณแม่แย่ลง
ระดับ 3 จะต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล เพราะถ้าอยู่บ้านอาจจะทำร้ายลูก หรือฆ่าตัวตาย การรักษาก็จะต้องใช้ยาทางจิตเวช
คุณหมอฝากเตือน
หากพบว่า คุณแม่หลังคลอดมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าหลังคลอด การดูแลอย่างใกล้ของสามีและสมาชิกในครอบครัว ที่ควรปฏิบัติ คือ
1. เป็นที่พึ่งทางใจ คุณแม่หลังคลอดที่มีมีอาการซึมเศร้ามักจะมีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ บ้างก็อยากร้องไห้ คุณพ่อควรเป็นที่พึ่งทางใจให้คุณแม่ได้ ด้วยการรับฟังความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และคอยให้กำลังใจ ชมคุณแม่อบ่อย ๆ ไม่ต่อว่า ไม่ทำให้เสียน้ำใจ ก็จะช่วยให้คุณแม่ผ่านพ้นช่วงเวลาเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น
2. ช่วยเธอทำสิ่งต่าง ๆ ตามต้องการบางครั้งคุณแม่อาจอยากทำสิ่งต่าง ๆ แต่ไม่สามารถทำได้เพราะต้องเลี้ยงลูก ดังนั้น คุณพ่อควรยื่นมือเข้ามาช่วยได้ โดยการทำตามรายการที่คุณแม่ร้องขอ
3. เป็นผู้ช่วยที่ดีแม่หลังคลอดต้องการผู้ช่วยอย่างมาก ไม่ควรปล่อยให้เลี้ยงลูกเพียงลำพัง คุณพ่อควรใช้โอกาสนี้ลาพักร้อนเพื่อมาช่วยเลี้ยงลูกตามสมควร หรือมองหาพี่เลี้ยงหรือผู้ช่วยมาอยู่เป็นเพื่อน
4. ให้แม่หลังคลอดได้มีเวลาส่วนตัวบ้าง บางครอบครัว อาจยกหน้าที่การเลี้ยงลูกให้เป็นของคุณแม่ที่ได้สิทธิลาคลอด 3 เดือนแต่เพียงผู้เดียว แต่จะดีมาก ๆ หากคุณพ่อรับอาสาดูแลเจ้าตัวเล็กแทนบ้างในบางโอกาส เพื่อให้ภรรยาได้มีเวลาเป็นของตัวเองบ้าง
5. ให้แม่เลี้ยงลูกอย่างมีความสุข กรณีนี้คุณพ่ออย่าพึ่งเรียกร้อง หรือคาดหวังว่าบ้านจะต้องสะอาด อาหารจะต้องพร้อมเหมือนเช่นสมัยยังไม่มีลูก เพราะจะทำให้คุณแม่วิตกกังวล และว้าวุ่นกับงานบ้าน งานเลี้ยงลูกมากจนเกินไป สุดท้ายอาจเครียดและไม่มีความสุขได้
หากคุณแม่ท่านใดมีประสบการณ์ที่อยากบอกเล่าถึงอาการต่าง ๆ หลังคลอดที่เกิดขึ้นกับตัวคุณแม่เอง ร่วมแชร์ประสบการณ์กันได้นะคะ อาจเป็นประโยชน์ต่อคุณแม่ท่านอื่น ๆ ด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง