เชื้อ Salmonella มีลักษณะอย่างไร และแบ่งเป็นกี่ชนิด? ไข้รากศาสตร์น้อย เชื้อ Salmonella เป็นเชื้อ แบคทีเรียรูปแท่งแกรมลบ สามารถแบ่งกลุ่มใหญ่ ๆ ตามอาการและความรุนแรงที่ก่อโรคได้เป็น
1. กลุ่มไทฟอยด์ ได้แก่ เชื้อ Salmonella typhi ทำให้เกิดอาการในระบบทางเดินอาหาร คือ ท้องเสีย มีอาการรุนแรง ไข้สูงยาวนาน ติดเชื้อในกระแสเลือดได้บ่อย ซึ่งเรียกกันว่า “โรคไข้รากสาด” และ เชื้อ Salmonella paratyphi A, B หรือ C ซึ่งทำให้เกิดอาการคล้ายกับ เชื้อ Salmonella typhi แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า จึงเรียกกันว่า “โรคไข้รากสาดน้อย”
2. กลุ่มไม่ใช่ไทฟอยด์ (Non-typhoidal Salmonella) แบ่งเป็นกลุ่ม A B C D ตามลักษณะทางปฏิกริยาของน้ำเหลืองต่อแบคทีเรีย และคุณสมบัติทางชีวเคมี มักทำให้เกิดอาการท้องเสียที่ไม่รุนแรง สามารถหายได้เองภายใน 3-7 วัน
ในที่นี้เราจะเน้นที่โรคไทฟอยด์ ซึ่งเกิดจากเชื้อ Salmonella typhi ที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงกว่านะคะ
โรค ไทฟอยด์คืออะไร
โรคไทฟอยด์สามารถติดต่อได้อย่างไร?
การติดต่อของโรคไทฟอยด์เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำปนเปื้อนเชื้อ Salmonella typhi อยู่ โดยเชื้อจะอยู่ในอุจจาระติดอยู่ที่มือของผู้ป่วยหรือผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อนี้ คือมีเชื้อโรคอยู่ในร่างกายแต่ไม่มีอาการ
โรคนี้พบได้ทุกช่วงอายุ แต่พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่นะคะ
อาการของโรคไทฟอยด์เป็นอย่างไร?
เมื่อได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการไข้สูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันเหมือนลักษณะขั้นบันได ไข้สูงได้ถึง 39-40 องศาเซลเซียส ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดท้อง เบื่ออาหาร อาจมีท้องผูกหรือท้องเสียก็ได้ เป็นประมาณ 7 วัน ต่อมาจึงมีอาการถ่ายเหลวมีมูกเลือดปน อาจมีผื่นแดงที่หน้าท้องหรือหน้าอก เชื้อโรคจะเข้าสู่กระแสเลือดได้บ่อย หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจมีไข้ ยาวนานถึงเป็นเดือนๆได้ และอาจมีอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร ลำไส้ทะลุและภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ไข้จะเริ่มลดลงและหายไปภายในระยะเวลาประมาณ 1 เดือน จากนั้นอาการโดยทั่วไปจะดีขึ้น แต่ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเหนื่อยอ่อนเพลียเรื้อรังอยู่อีกหลายเดือนได้
หากลูกมีอาการท้องเสียสงสัยการติดเชื้อโรคไทฟอยด์ควรทำอย่างไร?
หากลูกมีอาการท้องเสียยืดเยื้อเป็นสัปดาห์ อุจจาระมีมูกเลือดปน มีไข้สูง ซึมลง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาที่ถูกต้อง โดยต้องทำการตรวจอุจจาระ ทำการเพาะเชื้อในอุจจาระและเลือด จึงจะทราบว่าเกิดจากการติดเชื้อชนิดใด แต่หากลูกมีท้องเสียไม่รุนแรง ไม่มีไข้ หรือมีไข้ต่ำๆ ทานได้ ไม่ซึม คุณพ่อคุณแม่อาจให้จิบน้ำเกลือแร่ เช็ดตัว หรือทานยาลดไข้ และสังเกตอาการก่อนได้
ไม่ควรทานยาที่ออกฤทธิ์ทำให้หยุดถ่าย เพราะจะทำให้มีเชื้อโรคหลงเหลืออยู่ในลำไส้ไม่สามารถขับออกจากร่างกายได้ ส่งผลให้อาการแย่ลงและเกิดภาวะแทรกซ้อน เป็นอันตรายอย่างมากนะคะ
เราจะป้องกันการติดเชื้อโรคไทฟอยด์ได้อย่างไร?
โรคไทฟอยด์ในเด็กสามารถป้องกันได้โดยสอนลูกให้รู้จักการรักษาสุขอนามัย เช่น ล้างมือให้สะอาดก่อนทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ ขับถ่ายลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ทานอาหารที่ผ่านการปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาด ใช้ช้อนกลางเมื่อทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์ ป้องกันได้เฉพาะเชื้อ Salmonella typhi แต่ไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนนี้ในประเทศไทยแล้ว
เนื่องจากปัจจุบันพบโรคไทฟอยด์ในประเทศไทยน้อยมากๆเนื่องจากสุขอนามัยที่ดีขึ้น จึงแนะนำให้รับวัคซีนป้องกันโรคเฉพาะ นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อสูง เช่น อินเดีย บุคลากรที่ทำงานในห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับเชื้อโรคนี้โดยตรงและบุคคลที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันกับผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อเท่านั้น
สำหรับข่าวการระบาดในครั้งนี้ สรุปว่าเกิดจากการติดเชื้อในกลุ่ม Salmonella ที่ไม่ใช่ไทฟอยด์ วัคซีนจึงไม่มีประโยชน์ในการป้องกันค่ะ
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
ทุกเรื่องที่พ่อแม่ควรรู้ เมื่อลูกท้องเสีย
5 โรคติดต่อควรเฝ้าระวังในปี 2559