อยากให้ลูกในท้องเกิดมาฉลาด หัวไว สมองดี ทำอย่างไร?
คุณพ่อคุณแม่ทุกคน ต่างก็ อยากให้ลูกในท้องเกิดมาฉลาด หัวไว สมองดี ด้วยกันทั้งนั้น ซึ่ง การกระตุ้นพัฒนาการทางสมองของลูก ตั้งแต่อยู่ในท้องของคุณแม่นั้น สามารถทำได้หลายวิธี เรามาดูกันว่ามีวิธีอะไรบ้าง
#1. ลูบหน้าท้อง
การลูบท้อง จะช่วยในการกระตุ้นระบบประสาทและสมองส่วนรับรู้ความรู้สึกของลูกน้อย ให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ในเวลาที่คุณแม่หรือคุณพ่อ ลูบ หรือสัมผัสทารกในครรภ์ผ่านทางหน้าท้องนั้น ผิวของทารกจะสัมผัสกับผนังด้านในของมดลูก โดยคุณแม่จะสังเกตได้ว่า ทารกในครรภ์จะมีการเคลื่อนไหวโต้ตอบ เช่น รู้สึกว่าลูกน้อยขยับตัวไปตามมือของคุณพ่อหรือคุณแม่ที่ลูบท้อง หรือรู้สึกเหมือนลูกเตะขาเพื่อตอบโต้ เหมือนกำลังเล่นอยู่กับคุณพ่อคุณแม่
การลูบหน้าท้อง เป็นการส่งผ่านความรู้สึกไปยังลูกในท้อง โดยคุณพ่อคุณแม่อาจจะลูบเป็นวงกลม จากบนลงล่างหรือจากล่างขึ้นบน บริเวณไหนก่อนก็ได้ ที่สำคัญ อย่าลืมใช้หัวใจและความรู้สึกส่งผ่านมือตอนที่ลูบไปด้วยนะครับ
#2. ส่องไฟที่หน้าท้อง
คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มส่องไฟที่หน้าท้อง เพื่อกระตุ้นสมองและการมองเห็นของลูกในครรภ์ได้ตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 7 เดือน เพราะในช่วงนี้ เป็นช่วงที่ทารกในครรภ์สามารถกะพริบตา เพื่อตอบสนองต่อแสงไฟได้แล้ว
การส่องไฟที่หน้าท้องจะทำให้เซลล์สมองและประสาทส่วนรับภาพและการมองเห็นมีพัฒนาการที่ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการมองเห็นหลังจากที่คลอดออกมาแล้ว แต่การส่องไฟฉายที่ท้อง ไม่จำเป็นต้องเล็งให้แสงเข้าตรงกับนัยน์ตาของลูก เพียงแค่ให้ลูกรู้ว่ามีแสงส่องเข้ามาก็น่าจะพอแล้วละครับ
สำหรับไฟฉายที่จะนำมาใช้สำหรับส่องท้องนั้น ควรเป็นแบบ 2 ท่อน 3 ท่อน หลอดธรรมดา ห้ามใช้แบบหลอดแรงสูงเด็ดขาด เพราะแสงที่จ้าเกินไปแทนที่จะเป็นผลดี แต่กลับจะทำให้เกิดอันตรายต่อจอประสาทตาของทารกได้นะครับ และหากใช้ไฟฉายส่องที่หน้าท้องแล้วทารกในครรภ์มีการตอบสนอง เช่น เตะ ถีบหน้าท้อง หรือ ลูกดิ้น นั่นก็หมายความว่าลูกน้อยสามารถรับรู้ได้และเกิดการตอบสนองนั่นเอง
#3. พูดกับลูกในท้อง
ทราบหรือไม่ครับว่าลูกในท้องนั้น สามารถได้ยินเสียงของคุณได้ เพราะฉะนั้น การคุยกับลูก จึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ในการเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูกน้อย การพูดคุยกับลูกในครรภ์บ่อยๆ จะช่วยให้ระบบประสาท และสมองส่วนที่ควบคุมการได้ยิน มีพัฒนาการที่ดี อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางสมองได้อีกด้วยครับ
คุณแม่ควรพูดกับลูกในท้องบ่อยๆ ด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล โดยอาจจะเรียกชื่อลูก หรือพูดประโยคเดิมซ้ำๆ อย่างเช่น “แม่รักหนูนะลูก” เพื่อให้ลูกคุ้นเคย แต่อย่าไปเล่าเรื่องที่คุณกำลังไม่สบายใจ เช่น ไม่มีเงินใช้หนี้ หรือ ส่งแชร์ไม่ทัน ให้ลูกฟังนะครับ เพราะแทนที่ลูกจะมีความสุข กลายเป็นว่าจะเครียดเสียตั้งแต่อยู่ในท้อง
#4. ฟังเพลง
ระบบประสาทการรับฟังของลูกในท้อง จะเริ่มทำงานตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 5 เดือน การใช้เสียงกระตุ้นจะทำให้เครือข่ายใยประสาทที่ทำงานเกี่ยวกับการได้ยินของลูก มีพัฒนาการดีขึ้น
คุณสามารถเปิดเพลงปกติที่คุณฟัง เพื่อให้ลูกฟังได้ ไม่ใช่แค่เพียงเพลงกล่อมเด็กหรือเพลงคลาสสิกเท่านั้นนะครับ
เวลาคุณแม่ฟังเพลง ควรจะเปิดเสียงให้ดังพอประมาณ และให้ห่างจากหน้าท้องประมาณ 1 ฟุต การเปิดเพลงให้ลูกฟัง จะทำให้คลื่นเสียงไปกระตุ้นให้ระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการได้ยิน มีการพัฒนาระบบการทำงานได้เร็วขึ้น เมื่อลูกคลอดออกมา จะทำให้เขามีความสามารถในการจัดลำดับความคิดในสมอง รู้สึกผ่อนคลาย และจดจำสิ่งต่างๆได้ดี นอกจากนี้ คุณยังสามารถร้องเพลงให้ลูกฟัง เพื่อให้ลูกคุ้นเคยกับเสียงคุณได้เช่นกันนะครับ
#5. คุณแม่ต้องอารมณ์ดีอยู่เสมอ
แน่นอนครับว่า คนอารมณ์ดี ย่อมมีความสุขกว่าคนอารมณ์ไม่ดีอยู่แล้ว จากการศึกษาทางการแพทย์พบว่า คุณแม่ที่อารมณ์ดีอยู่เสมอ จะทำให้ร่างกายมีการหลั่งสารแห่งความสุขที่เรียกว่า เอ็นดอร์ฟิน ( Endorphin ) ออกมา และส่งผ่านทางสายสะดือไปยังลูกในท้อง ทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี ทั้งทางด้านสมอง ( IQ ) และทางอารมณ์ ( EQ )
ในทางตรงกันข้าม หากแม่ท้องชอบมีอารมณ์หงุดหงิด โมโหง่าย ร่างกายก็จะหลั่งสารแห่งความเครียด ที่เรียกว่า อะดรีนาลีน ( Adrenaline ) ออกมา และส่งผ่านไปยังลูกในท้อง ซึ่งจะทำให้ลูกคลอดออกมาเป็นเด็กงอแง เลี้ยงยาก พัฒนาการช้า ดังนั้น ถ้าอยากให้ลูกฉลาด พัฒนาการดี แม่ท้องต้องไม่เครียดนะครับ
#6. เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม
ทราบหรือไม่ครับว่า เนื้อสมองของทารกในครรภ์นั้น มีองค์ประกอบเป็นไขมันโดยเฉพาะไขมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว เป็นองค์ประกอบถึงร้อยละ 60 ซึ่งกรดไขมันไม่อิ่มตัว ที่สำคัญต่อพัฒนาการสมองของทารกในครรภ์ก็คือ กรดไขมันที่มีชื่อว่า ดีเอชเอ ( DHA ) ซึ่งมีมากในเนื้อสัตว์ประเภทปลา โดยเฉพาะปลาทะเลและสาหร่ายทะเล แต่ควรเลือกทานปลาที่มีสารปรอทเจือปนน้อย เช่น แซลมอน ปลาดุก ส่วนปลาที่มีสารปรอทเจือปนเยอะและควรเลี่ยงนั้น ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง กระโทง ปลาอินทรีย์ เป็นต้น
กรดไขมันไม่อิ่มตัวอีกชนิด มีชื่อว่า เออาร์เอ ( ARA ) ซึ่งมีมากในอาหารจำพวกน้ำมันพืช เช่น น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันเม็ดทานตะวัน และน้ำมันข้าวโพด และนอกจากอาหารที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว แม่ท้องควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน เพื่อสุขภาพที่ดี และพัฒนาการรอบด้าน ของลูกน้อยในครรภ์นะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล